งานหนังสือ 2566 เริ่มแล้ว คาดรายได้กว่า 350 ล้าน คนเดิน 1.5 ล้านคน

งานหนังสือ 2566 สำนักพิมพ์มติชน

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 เริ่มแล้ว คาดรายได้กว่า 350 ล้านบาท คนเดินงาน 1.5 ล้านคน ตลอดวันจัดงาน 30 มี.ค.-9 เม.ย. นี้ ที่ ฮอลล์ 5-7 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

วันที่ 30 มีนาคม 2566 เริ่มต้นขึ้นแล้วสำหรับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 21 โดย BOOK☆WALKER ภายใต้แนวคิด “Bookfluencer : ผู้นำอ่าน” ผลักดันให้ใช้การ “นำอ่าน” เพื่อเป็นซอฟต์พาวเวอร์และสร้างสังคมการอ่านอย่างยั่งยืน ซึ่งหมายถึงนักอ่านทุกคนสามารถเป็นผู้นำอ่านที่ดีได้

นางสาวทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เผยว่า คนที่เป็นผู้นำการอ่านมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการอ่านในสังคมไทย ยกตัวอย่างเช่นบุคคลที่มีชื่อเสียงได้เลือกซื้อหรือพูดถึงหนังสือเล่มใด คนในสังคมก็จะตามอ่านกันจนเป็นกระแส เมื่อมีแรงกระตุ้นเกิดขึ้นในสังคมผู้คนก็พร้อมอ่านตาม ดังนั้น คนไทยไม่ได้อ่านหนังสือน้อยแต่อย่างใด

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่แล้วมีผู้เข้าชมงานตลอด 12 วัน กว่า 1.3 ล้านคน ครั้งนี้คาดว่าจะเติบโตราว 15% และมีจำนวนผู้เข้าชมงานตลอด 11 วัน กว่า 1.5 ล้านคน

สำหรับยอดขายก็ประมาณการไปในทิศทางเดียวกัน จากปีก่อนที่มียอดขาย 300 ล้านบาท งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 51 นี้คาดว่าจะมียอดขายที่ 350 ล้านบาท โดยเติบโต 15% จากปีก่อน

ทั้งนี้จากการตอบแบบสอบถามของผู้ร่วมงานจำนวน 3,000 คนในครั้งก่อน กว่า 70% มีการใช้จ่ายไม่เกิน 1,000 บาท และ 60% มีอายุไม่เกิน 28 ปี ซึ่งการใช้จ่ายก็ขึ้นกับช่วงวัยและรายได้

Advertisment

นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าคนที่มาเดินงานสัปดาห์หนังสือเป็นคนรุ่นใหม่โดยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเด็กมัธยม และลดหลั่นลงมาที่วัยมหาวิทยาลัย วัยเริ่มต้นทำงาน ตามลำดับ จากนั้นจึงกลับมาอ่านเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากแล้ว

โดยงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 51 นี้ มีสำนักพิมพ์เข้าร่วมกว่า 333 ราย จํานวนกว่า 905 บูท โดยสำนักพิมพ์คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 100% ที่เหลือเป็นบูทที่เกี่ยวกับส่วนงานราชการ และสมาคมที่เกี่ยวกับการอ่าน การเขียน และภาษา

Advertisment

ภายในงานแบ่งโซนจำหน่ายหนังสือทั้งหมด 7 หมวด ได้แก่ หนังสือเด็กและการศึกษา, หนังสือต่างประเทศ, หนังสือเก่า, หนังสือการ์ตูนและวัยรุ่น (Book Wonderland), หนังสือนิยายและวรรณกรรม, หนังสือนิยายวาย (Wonder Y) และหนังสือทั่วไป

พิเศษสำหรับปีนี้เพื่อตอบรับกระแสและอุตสาหกรรมวายในประเทศไทย จึงได้มีการเพิ่มโซนหนังสือนิยายวายแยกขึ้นมาอีก 1 ซอย เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนรักนิยายวายได้มารวมอยู่ด้วยกัน

นอกจากโซนหนังสือแล้วยังมีนิทรรศการ กิจกรรมแนะนำหนังสือใหม่ เวทีเสวนา ตลอดจนพบปะนักเขียนนักวาดทั้งจากไทยและต่างประเทศ โดย 3 วันแรก เปิดให้เดินถึงเที่ยงคืนเลยทีเดียว

สำนักพิมพ์มติชน บูท M49

ปีนี้สำนักพิมพ์มติชนผนึกกำลังกับไข่แมว “Matichon x ไข่แมว” ที่บูท M49 ในธีม “BOOKSELECTION” ถ่ายทอดเส้นสีแสบสันล้อไปกับการเมืองในช่วงเลือกตั้ง ผ่านงานศิลปะผสมอารมณ์ขันหยิกแกมหยอกที่ถูกออกแบบอยู่ภายในบูท ของพรีเมี่ยม และแพลตฟอร์มต่าง ๆ ของสำนักพิมพ์

ร่วมนำเสนอพลังของการอ่านกับการเมืองและประเด็นทางสังคมในหลากหลายแง่มุมไปกับ หนังสือของสำนักพิมพ์มติชน ไม่ว่าจะเป็น ประวัติศาสตร์ ราชวงศ์ รัฐสวัสดิการ การเมือง ไสยศาสตร์-ทุนนิยม เมืองในฝัน ผู้นำ ชนชั้น อำนาจ จิตวิทยา-แรงบันดาลใจ วรรณกรรม วิทยาศาสตร์ และสุขภาพ ตอบโจทย์ผู้อ่านทุกไลฟ์สไตล์อย่างรอบด้าน

พบกับสำนักพิมพ์มติชนได้ที่บูท M49 ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 21 ฮอลล์ 5-7 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค.-9 เม.ย. 66 วันที่ 30 มี.ค. เริ่มขายเวลา 17.00-24.00 น. และ 3 วันแรกเปิดถึง 24.00 น.

ทั้งนี้ยังเข้าร่วมกิจกรรมเสวนากับสำนักพิมพ์มติชนได้ โดยปีนี้เปิดถึง 4 เวทีด้วยกัน ดังนี้

“sundogs : Science Odyssey ปรากฏการณ์หนีตามวิทยาศาสตร์” โดย นําชัย ชีววิวรรธน์ และ ชยภัทร อาชีวระงับโรค ในวันที่ 31 มีนาคม 2566 เวลา 17.00-18.00 น.

“ภาพจริง-ภาพจำ เบื้องหลังอำนาจ เลิกทาสไท(ย)” โดย ญาณินี ไพทยวัฒน์ วันเสาร์ที่ 1 เมษายน 2566 เวลา 12.00-13.00 น.

“อ่านอินเดียในโลกบริติชราช” โดย สุภัตรา ภูมิประภาส และ สมฤทธิ์ ลือชัย วันเสาร์ที่ 8 เมษายน 2566 เวลา 12.00-13.00 น.

“เทวา มนตรา คาถา เกจิ : ไสยศาสตร์และทุนนิยมในโลกสมัยใหม่” โดย Peter Jackson วันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน 2566 เวลา 13.00-14.00 น.