ไทยเบฟชวนชมงานศิลปะ จากการประกวดศิลปกรรมช้างเผือก ในธีมรักโลก

รางวัลช้างเผือก
รางวัลช้างเผือก

ไทยเบฟประกาศผลการประกวด “ศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 12” ในหัวข้อ “รักโลก” เงินรางวัลรวมกว่า 4.35 ล้านบาท พร้อมเตรียมจัดแสดงผลงานจากผู้ชนะและรางวัลต่าง ๆ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร วันที่ 1 มิ.ย.-20 ก.ค.นี้

วันที่ 24 พฤษภาคม 2566 บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จัดนิทรรศการและการประกวด “ศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 12” ภายใต้หัวข้อ “รักโลก” เงินรางวัลรวมทั้งสิ้นกว่า 4,350,000 บาท โดยมีผู้ร่วมส่งผลงานทั้งหมด 270 คน จำนวนผลงานรวม 327 ชิ้น และผ่านการคัดเลือกทั้งหมด 57 ชิ้น

โดยผลงานจากนิทรรศการศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 12 จะถูกนำไปจัดแสดง ณ ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 1 มิ.ย.-20 ก.ค. 66 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธานเปิดงานแสดง และพระราชทานรางวัล ในวันที่ 10 ก.ค.นี้

ล่าสุดคณะกรรมการตัดสิน 9 ท่าน ประกอบด้วย  นายฐาปน สิริวัฒนภักดี, ศาสตราจารย์เกียรติคุณพิษณุ ศุภนิมิตร, ศาสตราจารย์เกียรติคุณถาวร โกอุดมวิทย์, ศาสตราจารย์ ดร. อภินันท์ โปษยานนท์, นายนิติกร กรัยวิเชียร, รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยยศ อิษฎ์วรพันธุ์, นายกิตติภรณ์ ชาลีจันทร์, นายวศินบุรี สุพานิช วรภาชน์ และคุณลำพู กันเสนาะ ได้ตัดสินให้ผลงานที่ได้รับรางวัลช้างเผือก ได้แก่ “หนึ่งเดียวกัน” โดย คุณจรัญ พานอ่อนตา รับเงินรางวัล 1,000,000 บาท

ศิลปกรรมช้างเผือก
ฐาปน สิริวัฒนภักดี

นายนิติกร กรัยวิเชียร ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การดำเนินการประกวดศิลปกรรมช้างเผือก เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2554 จากความตั้งใจอันดีของไทยเบฟ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฟ้นหาศิลปินไทยรุ่นใหม่ที่มีทักษะความสามารถทางศิลปะอันโดดเด่น ในการสร้างสรรค์ศิลปะแบบเหมือนจริง (Realistic) และศิลปะรูปลักษณ์ (Figurative Art) โดยยึดถือความเหมือนจริงเป็นแก่นสำคัญเพื่อให้ผลงานศิลปะเหล่านี้เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่สำคัญในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านศิลปะร่วมสมัยให้ขยายไปสู่การรับรู้ของสังคมในวงกว้าง

การประกวดศิลปกรรมช้างเผือกจัดต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปี และในปี 2566 นับเป็นครั้งที่ 12 ภายใต้หัวข้อ “รักโลก” เพื่อให้ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้แสดงฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ โดยตีความจากโจทย์ที่กำหนดให้ ซึ่งศิลปินที่เข้าร่วมประกวดแต่ละคน ต่างก็สร้างสรรค์ผลงานที่น่าสนใจในรูปแบบและแนวทางที่แตกต่างได้อย่างน่าประทับใจ และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

ศิลปกรรมช้างเผือก

ศาสตราจารย์เกียรติคุณพิษณุกล่าวว่า หัวข้อ รักโลก อาจไม่ยากเกินไปสำหรับศิลปินที่จะใช้จินตนาการ ทำให้ส่งผลงานเข้ามาเป็นจำนวนมากถึง 327 ชิ้น เกณฑ์การตัดสินคือ หลักจึงเป็นเรื่องของความคิด ส่วนทักษะคือสิ่งที่สนับสนุนความคิด

รางวัลช้างเผือกในครั้งนี้เป็นผลงานที่ดีที่สุด กรรมการให้คะแนนเป็นเอกฉันท์เพราะงานของผู้ชนะบอกความคิดเรื่องของโลกได้อย่างชัดเจน ว่าโลกนี้มีความหลากหลาย ซึ่งทุกสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ประกอบด้วยมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องทุกอย่าง งานจึงใช้คนจำนวนมาก ๆ มารวมตัวกันเป็นรูปทรงต่าง ๆ เป็นจุดหนึ่งที่น่าสนใจมากที่สุดในผลงานที่เราคัดเลือก

รางวัลช้างเผือกเราต้องการสไตล์ “Figurative” และ “Realistic” ซึ่งใช้ฝีมืออย่างเดียวไม่พอ ต้องมีความคิดด้วย เพราะฉะนั้น คนที่ได้รางวัลช้างเผือก และรางวัลอื่น ๆ ทุกคนมีแนวความคิดเป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ ศาสตราจารย์เกียรติคุณพิษณุกล่าว

ศิลปกรรมช้างเผือก

ศาสตราจารย์เกียรติคุณถาวรกล่าวว่า ในฐานะศิลปินและกรรมการตัดสิน โครงการนี้ถือเป็นโครงการที่น่ายกย่อง จากดำริของนายฐาปนที่ต้องการสนับสนุนศิลปินที่ทำงานในลักษณะเสมือนจริง ซึ่งเป็นการสนับสนุนทั้งทักษะในเชิงฝีมือ และเชิงความคิด นิทรรศการศิลปกรรมช้างเผือกจึงสำคัญในวงการศิลปะ โดยเฉพาะกับศิลปินรุ่นใหม่ที่มีความหลากหลายและมีความสามารถ

หัวข้อ “รักโลก” เป็นหัวข้อที่ค่อนข้างอิสระ ทำให้ศิลปินส่งผลงานมาเป็นจำนวนมาก ในเรื่องเกณฑ์การตัดสิน เราดูในเชิงความคิด ความสอดคล้องกับหัวข้อที่เรากำหนด และทักษะฝีมือการนำเสนอ

ผลงานที่ได้รับรางวัลช้างเผือกในปีนี้โดดเด่นมาตั้งแต่รอบแรก เมื่อได้เห็นงานจริงเรารู้สึกประทับใจ ศิลปินสามารถใช้ตัว Figure มาสอดประสานร้อยเรียงให้เป็นเรื่องราว สะท้อนให้เห็นสภาวะของโลกไปสู่มิติตามจินตนาการ ตามวัตถุประสงค์

รางวัลศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 12

  • รางวัลช้างเผือก ได้แก่ “หนึ่งเดียวกัน”  โดย คุณจรัญ พานอ่อนตา รับเงินรางวัล 1,000,000 บาท
  • รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ “ลูกรักโลก” โดย คุณบุญมี แสงขำ รับเงินรางวัล 500,000 บาท
  • รางวัลคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี (รางวัลพิเศษ) ได้แก่ “โลกคือความหลากหลาย” โดย คุณสุรพันธ์ ขวัญแสนสุข รับเงินรางวัล 400,000 บาท
  • รางวัล CEO AWARD ได้แก่ “ด้วยมือเรา” โดย นางสาวนารา วิบูลย์สันติพงศ์ รับเงินรางวัล 250,000 บาท
  • รางวัลรองชนะเลิศ 5 รางวัล รางวัลละ 200,000 บาท ประกอบด้วย คุณพิพัฒน์ จันทร์ทิพย์, คุณเพชราพร โสภาพ, คุณลดากร พวงบุบผา, คุณวีระพงศ์ แสนสมพร และคุณอนันต์ยศ จันทร์นวล
  • รางวัลชมเชย 12 รางวัล รางวัลละ 100,000 บาท
รางวัลช้างเผือก
รางวัลช้างเผือก ผลงานหนึ่งเดียวกัน-คุณจรัญ พานอ่อนตา
ศิลปกรรมช้างเผือก
รางวัลชนะเลิศ ผลงานลูกรักโลก-คุณบุญมี แสงขำ
ศิลปกรรมช้างเผือก
รางวัลคุณหญิงวรรณา ผลงานโลกคือความหลากหลาย-คุณสุรพันธ์ ขวัญแสนสุข
ศิลปกรรมช้างเผือก
รางวัล CEO Award ผลงานด้วยมือเรา-นางสาวนารา วิบูลย์สันติพงศ์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง