13 มิถุนายน 2567 วันไหว้ครู เปิดที่มาและความสำคัญ พร้อมพิธีปฏิบัติ

ประวัติ ความสำคัญ ที่มาวันไหว้ครู

เปิดที่มาและความสำคัญ วันไหว้ครู 13 มิถุนายน 2567 พร้อมพิธีปฏิบัติ และความหมายคมงคลที่เป็นปริศนาสอนใจของดอกไม้ไหว้ครู

วันที่ 13 มิถุนายน 2567 เนื่องจากสถานศึกษาต่าง ๆ ได้ทำการเรียนการสอนในภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2567 ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยขณะนี้นักเรียนแต่ละระดับชั้นกำลังศึกษาบทเรียนของภาคการศึกษาใหม่ และในขณะเดียวกันก็กำลังจัดเตรียมงานสำคัญนั่นก็คือ “วันไหว้ครู”

ที่มาและความสำคัญ

ข้อมูลจาก ศิลปวัฒนธรรม รายงานว่า เดิมการไหว้ครูของสถานศึกษากระทำตอนเริ่มเข้าเรียนหนังสือวันแรก แต่การไหว้ครูเป็นแบบพิธีอย่างจริงจังคาดว่า เริ่มเมื่อมีการตั้งโรงเรียนขึ้นแล้ว และสันนิษฐานว่า คงจะเริ่มเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงผนวชและเสด็จจำพรรษา ณ วัดนิเวศน์ธรรมประวัติฯ สวดคำนมัสการ คุณานุคุณ ดังที่ทรงเล่าไว้ในหนังสือ “ประวัติอาจารย์” ดังนี้

“…มีการอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นที่โรงเรียนวัดนิเวศน์ฯ เมื่อปีข้าพเจ้าบวชแล้วจึงแพร่หลายไปถึงโรงเรียนทั้งปวง คือ ที่ให้นักเรียนสวดคำนมัสการคุณานุคุณ ข้าพเจ้าไปสังเกตเห็นว่า ในโรงเรียนยังขาดสอนคติธรรม แต่จะให้เทศน์ให้ เด็กฟังก็ไม่เข้าใจ เห็นว่าถ้าแต่งเป็นคำกลอนให้เด็กท่องสวดจะดีกว่า ข้าพเจ้าบอกความที่ปรารภไปยังพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ขอให้ท่านช่วยแต่งคํานมัสการส่งขึ้นไปให้

ท่านก็แต่งให้ตามประสงค์ เป็นคำนมัสการ 7 บท ขึ้นด้วยบทบาลีแล้วมีกาพย์กลอน เป็นภาษาไทยทุกบท 1 นมัสการพระพุทธเจ้าขึ้นต้นว่า ‘องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาม’ เป็นต้น

บท 1 นมัสการพระธรรมเจ้าบท 1 นมัสการพระสงฆ์เจ้าบท 1 สามบทนี้ให้เด็กสวดเมื่อเริ่มเรียนตอนเช้า มีคําบูชาคุณบิดามารดาบท 1 บูชาคุณครูบท 1 สําหรับให้สวดเมื่อเริ่มเรียนตอนบ่ายและมีคําบูชาพระคุณพระมหากษัตริย์บท 1 คำขอพรเทวตาบท 1 สําหรับใช้สวดเมื่อจะเลิกเรียน…..”

Advertisment

การสวดนมัสการคุณานุคุณนั้น ต่อมาได้เป็นคําสวดเนื่องในพิธีไหว้ครูตามโรงเรียนต่าง ๆ จนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันสถานศึกษามักจัดพิธีไหว้ครูขึ้นในวันพฤหัสบดีที่สองของเดือนมิถุนายน ซึ่งปี 2566 นี้ วันไหว้ครูตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน เพื่อแสดงความระลึกถึงบุญคุณของครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาการและแนวทางดำเนินชีวิตแก่นักเรียน อีกทั้งการไหว้ครูยังเป็นการแสดงตนว่าขอเป็นศิษย์ของครูโดยตรง

Advertisment

พิธีการวันไหว้ครู

โดยปกติแล้วสถานศึกษาจะจัดพิธีไหว้ครูในตอนเช้าหลังเคารพธงชาติเสร็จเรียบร้อยจึงเริ่มพิธี เมื่อประธานมาถึง ให้กราบทำความเคารพ จนกว่าคุณครูทุกท่านจะผ่านไปหมดทุกคน จากนั้นประธานจุดธูปเทียน นมัสการพระพุทธรูปที่แท่นหมู่บูชา แล้วเริ่มพิธีโดยการสวดมนต์ ตามด้วยเจิมหนังสือเพื่อความเป็นสิริมงคล หลังจากนั้นกล่าวคาถาไหว้ครู และวรรคแรกของคำไหว้ครู

เมื่อกล่าวคำไหว้ครูเสร็จแล้ว ให้ว่าคาถาไหว้ครูตอนท้าย ตัวแทนนักเรียนกล่าวคำปฏิญาณตน ให้ตัวแทนของแต่ละห้องนำพานที่จัดเตรียมไว้ไปให้คุณครูแต่ละท่าน ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นครูประจำชั้นหรือครูที่ปรึกษาของห้องเรียน

การจัดพานไหว้ครู

สำหรับพานดอกไม้ไหว้ครู จะประกอบไปด้วย หญ้าแพรก คอกมะเขือ ดอกเข็ม และข้าวตอก จัดให้สวยงามตามสมควร โดยดอกไม้ที่มาทำพานล้วนมีความหมายมงคล และเป็นปริศนาสอนใจ ดังนี้

1.หญ้าแพรก เป็นสัญลักษณ์แห่งการอดทน คือ ทนต่อแดด ทนต่อการเหยียบย่ำ เป็นบทเรียนสอนให้ศิษย์เอาอย่าง ให้มีความอดทนในการเรียน ให้อดทนต่อความยากลําบากไม่ท้อถอย

นอกจากนั้น หญ้าแพรกยังหมายถึง ความงอกงามแตกกอแตกใบได้ง่าย มีลักษณะราบเรียบไปตามพื้นดิน เสมือนปัญญางอกงาม และมีจิตใจสุภาพอ่อนน้อม ครูอาจารย์จะดุด่าเฆี่ยนตี (แบบครูสมัยโบราณ) ก็อดทนได้ด้วยความเคารพ

2.ดอกมะเขือ เป็นสัญลักษณ์แห่งความเคารพนอบน้อมและกตัญญูกตเวที อันเนื่องมาจากดอกมะเขือทุกดอกจะมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากดอกไม้ทั่วไปอยู่อย่างหนึ่ง คือ จะชูกลีบดอกลงเบื้องล่าง จะไม่ชูกลีบดอกขึ้นเบื้องบนเหมือนดอกไม้อื่น ๆ คล้ายกับจะบอกว่า ตัวข้านี้เกิดมาจากดินและจากปุ๋ยอันสกปรก แต่ตัวข้าไม่ลืมดิน ไม่ลืมปุ๋ย นับเป็นบทเรียนที่ศิษย์ควรถือเป็นแบบอย่าง ไม่ควรลืมอุปการคุณของครูอาจารย์ ควรเคารพนบนอบและกตัญญูกตเวทีต่อครูอาจารย์ตลอดไป

3.ดอกเข็ม เป็นสัญลักษณ์แห่งการมีปัญญาแหลมคม เป็นความเชื่อถือแต่เดิมที่นิยมใช้กันทั่ว ๆ ไปนั้น ไม่ได้กําหนดไว้ในแบบพิธีไหว้ครู เนื่องจากในบางท้องที่หาดอกเข็มได้ยากมาก ดังนั้น เพื่อความสะดวกจึงสุดแท้แต่ท้องถิ่นนั้น ๆ ถ้าหากมีจะใช้ดอกเข็มด้วยก็ได้

4.ข้าวตอก เนื่องจากข้าวตอกเกิดจากข้าวเปลือกที่คั่วด้วยไฟอ่อน ๆ ให้ร้อนเสมอกันจนถึงจุดหนึ่งที่เนื้อข้างในขยายออก จนดันเปลือกให้แยกออกจากกัน ได้ข้าวสีขาวที่ขยายเม็ดออกบาน

ซึ่งสามารถนำไปประกอบพิธีกรรม หรือทำขนมต่าง ๆ ได้ ดังนั้น ข้าวตอกจึงเป็นสัญลักษณ์ของความมีระเบียบวินัย หากใครสามารถทำตามกฎระเบียบ เอาชนะความซุกซนและความเกียจคร้านของตัวเองได้ ก็จะเหมือนข้าวตอกสีขาวที่ถูกคั่วออกจากข้าวเปลือก

ทั้งนี้ ปัจจุบันสถานศึกษาต่าง ๆ ได้จัดการประกวดพานไหว้ครู โดยอาจแบ่งรางวัลเป็น 2 ประเภท คือ ความสวยงาม และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งในแต่ละปีนักเรียนก็ได้ออกแบบพานไหว้ครูอย่างน่าประทับใจ สะท้อนให้เห็นถึงจินตนาการของเด็กรุ่นใหม่ ที่แฝงไปด้วยแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงาน