31 กรกฎาคม “วันผู้พิทักษ์ป่าโลก” (World Ranger Day) ปี 2566 กับธีม “30X30” ย้อนดูชีวิตที่เสี่ยงภัยและค่าตอบแทนของผู้พิทักษ์ป่าในประเทศไทย
“วันผู้พิทักษ์ป่าโลก” หรือ “World Ranger Day” ตรงกับวันที่ 31 กรกฎาคมของทุกปี เพื่อเป็นการรำลึกถึงเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ และเป็นการยกย่องเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าที่สามารถปกป้องทรัพยากรทางธรรมชาติตลอดจนมรดกทางวัฒนธรรมของโลกเอาไว้
วันผู้พิทักษ์ป่าโลกเกิดขึ้นในการประชุม World Congress Ranger ในปี 2549 ที่ประเทศสกอตแลนด์ โดย “สมาพันธ์ผู้พิทักษ์ป่าสากล” (International Ranger Federation หรือ IRF) ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการทำงานของผู้พิทักษ์ป่า ได้ลงมติให้วันที่ 31 กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันผู้พิทักษ์ป่าโลก โดยเริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในปี 2550 ซึ่งตรงกับวาระครบรอบ 15 ปีของการก่อตั้ง IRF เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2535
สำหรับธีมวันผู้พิทักษ์ป่าโลกปี 2566 คือ “30X30″ เพื่อให้สอดคล้องตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพปี 2565 (COP15) ที่กรอบความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลกได้รับการเห็นชอบจากบรรดาผู้นำของโลกและผู้มีอำนาจตัดสินใจ ว่า การปกป้องผืนดินและมหาสมุทรของโลกอย่างน้อยร้อยละ 30 จะต้องได้รับการอนุรักษ์และจัดการอย่างมีประสิทธิภาพภายในปี 2573 (2030)
เป้าหมายดังกล่าวจะไม่สามารถบรรลุผลได้หากขาดการสนับสนุนงบประมาณที่เพียงพอและขาดบุคลากรในพื้นที่ที่ได้รับการฝึกอบรม แนวหน้าของบุคลากรกลุ่มนี้ ได้แก่ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าและผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่คุ้มครอง ซึ่งรวมถึงบุคลากรของรัฐ ชนพื้นเมือง ชุมชน อาสาสมัคร และบุคลากรในพื้นที่ที่ได้รับการจัดการโดยเอกชน
ซึ่งมีหน้าที่ครอบคลุมทั้งการป้องกัน การอนุรักษ์ การตรวจสอบ บริการผู้มาเยือน การจัดการด้านอัคคีภัย การบังคับใช้กฎหมาย การศึกษา การสนับสนุนชุมชน และการควบคุมการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
ชีวิตเสี่ยงภัยและค่าตอบเเทน ผู้พิทักษ์ป่าในประเทศไทย
ปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในการคุ้มครอง ดูแล รักษาพื้นที่ป่าไม้และสัตว์ป่าทั่วประเทศ กว่า 20,000 คน ต่อเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า วนอุทยาน และพื้นที่อนุรักษ์อื่น ๆ รวมกว่า 73 ล้านไร่
ในแต่ละปีจะมีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต โดยปี 2565 ถึงปัจจุบัน (เดือนกรกฎาคม 2566) มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตรวม 24 คน แบ่งเป็นเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ 12 คน และบาดเจ็บ 12 คน
แม้จะเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงภัยต่อชีวิตสูงอยู่ตลอดเวลาทั้งการปะทะกับนายพรานล่าสัตว์ อุบัติเหตุขณะลาดตระเวน โดนสัตว์ทำร้าย ความขัดแย้งกับชาวบ้าน ตลอดจนถูกข่มขู่จากกลุ่มอิทธิพล แต่เงินเดือนที่ผู้พิทักษ์ป่าในประเทศไทยได้รับคือ 9,000 บาท
โดยเพิ่งถูกปรับขึ้นเป็น 11,000 บาท ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป หลังจากที่ไม่ได้มีการปรับขึ้นเงินเดือนผู้พิทักษ์ป่ามาตั้งแต่ เมษายน 2555 หรือกว่า 11 ปีที่แล้ว
สำหรับเจ้าหน้าที่ซึ่งเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ การปะทะต่อสู้ การออกตรวจปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือการลาดตระเวนในพื้นที่ป่า หรือถูกสัตว์ป่าทำร้าย จะมีอัตรการจ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 500,000 บาท
ส่วนการเสียชีวิตเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในกรณีอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาจะมีเงินช่วยเหลือในอัตราไม่เกิน 400,000 บาท
กรณีบาดเจ็บถึงแก่ทุพพลภาพหรือพิการ จะจ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 300,000 บาท บาดเจ็บสาหัสจากการปฏิบัติหน้าที่ที่มีความเสี่ยงภัยจะจ่ายเงินช่วยเหลือเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 150,000 บาท และการบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่จะจ่ายเงินช่วยเหลือเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาท
ซึ่งเป็นประกาศกรมอุทยานแห่งชาติฯ ฉบับใหม่ เพื่อเป็นสวัสดิการและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน โดยมีผลบังคับใช้ไปเมื่อตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา
ข้อมูลจาก
- International Ranger Federation
- สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
- กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
- มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
เรื่องที่เกี่ยวข้อง