
Colorful คลองบางลำพู ผู้ว่าฯ ชัชชาติ นำทีมทาสีอาคาร ปรับโฉมภูมิทัศน์ เพิ่มความสดใสให้กับย่านเมืองเก่า
วันที่ 17 มกราคม 2567 กรุงเทพมหานคร ผนึกกำลังภาครัฐ ประชาชน และเอกชน นำโดยกลุ่มสมาคมการค้าธุรกิจในแม่น้ำเจ้าพระยา, บริษัท เบเยอร์ จำกัด, สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร, สำนักงานเขตพระนคร ตลอดจนเจ้าของอาคารและผู้ประกอบการในพื้นที่ ทาสีอาคาร ปรับปรุงภูมิทัศน์คลองบางลำพู
โดย “นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำทีมเปิดกิจกรรม “Colorful คลองบางลำพู” ณ บริเวณสะพานนรรัตน์สถาน ริมคลองบางลำพู เขตพระนคร เมื่อวันที่ 16 มกราคม ที่ผ่านมา
นายชัชชาติ กล่าวว่า Colorful คลองบางลำพูเป็น เป็นโครงการต่อเนื่องในการฟื้นฟูเมืองเก่าเริ่มตั้งแต่ คลองผดุงกรุงเกษม คลองโอ่งอ่าง คลองบางลำพู และคลองคูเมืองเดิม ซึ่งเป็นจุดที่เป็นอัตลักษณ์ของเมือง

หากสัญจรผ่านไปมาก็จะเห็นว่าตึกมีสภาพสีเก่าและเจ้าของอาคารไม่ใช่เจ้าของเดียวกัน จึงขอความร่วมมือจากภาคเอกชน กลุ่มสมาคมการค้าธุรกิจในแม่น้ำเจ้าพระยา และอื่น ๆ มาร่วมมือกันเพื่อช่วยทำให้เมืองดูใหม่และสดใสขึ้น
นับตั้งแต่ได้มีการดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองบางลำพูเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา เป็นการปรับปรุงฟื้นฟูกายภาพพื้นที่ริมสองฝั่งคลองบางลำพูเป็นหลัก ซึ่งยังไม่ได้เป็นการปรับปรุงภูมิทัศน์เมืองโดยรอบทั้งหมด
จึงเกิดแนวคิดที่จะปรับปรุงอาคารตลอด 2 ฝั่งคลองย่านบางลำพูขึ้น ซึ่งเป็นอาคารที่มีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์ หากได้รับการทำความสะอาด และทาสีใหม่ จะทำให้ภูมิทัศน์เมืองบริเวณโดยรอบพื้นที่และบริเวณคลองบางลำพูมีชีวิตชีวามากขึ้น ให้สมกับเป็น “Colorful” ประกอบกับกรุงเทพมหานครจะจัดงาน Colorful Bangkok ในพื้นที่คลองบางลำพูด้วย
โดยมีอาจารย์ประจำคณะมัณฑนศิลป์ ภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มาช่วยออกแบบสีให้เนื่องจากพื้นที่ตรงคลองบางลำพูต้องเป็นไปตามรูปแบบของกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์ ดังนั้นสีของตึกที่ทาจึงเป็นโทนสีครีม
ด้าน “ดร.ไพโรจน์ พิทยเมธี” อาจารย์ประจำคณะมัณฑนศิลป์ กล่าวว่า ได้เลือกเฉดสีที่เป็นสีเนื้อ สีนวล สีนวลจันทร์ สีขาวผ่อง สลับทาในแต่ละอาคาร ในส่วนกรอบหน้าต่างจะทาสีชาดหรือสีท้องสิงห์เพื่อเพิ่มความสนุกเข้าไป เมื่อดำเนินการทาสีเรียบร้อยแล้วคิดว่าจะเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและเพิ่มความสวยงามให้กับคลองบางลำพู
สำหรับพื้นที่ที่จะดำเนินการทาสี ประกอบด้วย อาคารริมคลองบางลำพู ตั้งแต่ช่วงระหว่างแยกสะพานอุษาสวัสดิ์–แยกสะพานนรรัตน์สถาน เป็นระยะทาง 200 เมตร มีอาคารเข้าร่วมโครงการ จำนวน 29 อาคาร ซึ่งเป็นอาคารเก่าแก่ที่มีรูปแบบและสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์
พื้นที่บริเวณนี้ยังเป็นพื้นที่ในเขตเกาะรัตนโกสินทร์ ส่วนหนึ่งจึงอยู่ในพื้นที่ประกาศกฎกระทรวง ที่กำหนดสีอาคารและหลังคา ทีมงานสถาปนิกผู้ออกแบบสีอาคาร จึงต้องคำนึงถึงอัตลัษณ์ของพื้นที่ เลือกสีที่สะท้อนอัตลักษณ์ โดยได้รับการสนับสนุนจาก สีเบเยอร์ เนื่องจากภาครัฐไม่สามารถนำงบประมาณไปทาสีอาคารเอกชนได้