Bangkok Design Week 2024 คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี เศรษฐกิจสร้างสรรค์เปลี่ยนกรุงเทพฯ

ผู้เขียน : ชัชพงศ์ ชาวบ้านไร่

เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567 (Bangkok Design Week 2024) โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 27 มกราคม-4 กุมภาพันธ์ 2567 บนพื้นที่ 15 ย่านทั่วกรุงเทพฯ ภายใต้ธีม “Livable Scape คนยิ่งทํา เมืองยิ่งดี”

ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจที่สําคัญของ CEA คือ การสร้างย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative District) ให้เกิดขึ้นจริง CEA จึงจัดตั้งโครงการเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย หรือ “Thailand Creative District Network” (TCDN) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่ที่เอื้อต่อบรรยากาศสร้างสรรค์และการเริ่มต้นธุรกิจใหม่

ดร.ชาคริต พิชญางกูร
ดร.ชาคริต พิชญางกูร

ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือการหยิบของดีประจำย่าน มาต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เมื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลาย ๆ ย่านรวมกัน จะนำไปสู่การเกิดเมืองสร้างสรรค์ (Creative City) ทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นขยายตัว นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

TCDN จึงเป็นแพลตฟอร์มการพัฒนาเมืองให้ตอบโจทย์คนในท้องถิ่น และคนภายนอกไปพร้อมกัน ซึ่งไม่ได้มองเพียงแค่มิติการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สภาพแวดล้อม และการศึกษา นำมาสู่การจ้างงาน กระจายรายได้ การลงทุน ทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นมีความยั่งยืนมากขึ้น เช่น เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพมหานคร หรือ Bangkok Design Week

เมืองต้องน่าเที่ยวและน่าอยู่

จากการจัดอันดับ “เมืองน่าเที่ยว” ของหลายสํานัก กรุงเทพมหานครมักติดอันดับต้น ๆ เป็นเมืองที่ใครก็อยากมาเยือน เพราะมีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลาย อาหารอร่อย ค่าครองชีพสมเหตุสมผล และผู้คนเป็นมิตร

ในทางกลับกัน กรุงเทพฯอยู่ในอันดับรั้งท้ายของการเป็น “เมืองน่าอยู่” เพราะมีปัญหาหลากหลายในเชิงโครงสร้าง ทั้งความเหลื่อมล้ำ โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิต ปัญหาคุณภาพอากาศ การมีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะไม่เพียงพอ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของเมืองที่ขาดฐานรากทางวัฒนธรรม ล้วนเป็นความท้าทายที่ต้องเผชิญ

การเป็นเมืองน่าเที่ยวอย่างเดียวจึงไม่สามารถทําให้เมืองเข้มแข็งท่ามกลางความท้าทายในโลกยุคปัจจุบันได้ ความน่าอยู่จึงเป็นหัวใจสําคัญที่จะทําให้เมืองเดินไปพร้อมกับผู้คนได้อย่างสมดุลและยั่งยืน

Bangkok Design Week 2024

สำหรับเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพมหานคร 2567 หรือ Bangkok Design Week 2024 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 27 มกราคม-4 กุมภาพันธ์ 2567 ในพื้นที่ 15 ย่านทั่วกรุงเทพฯ ภายใต้ธีม “Livable Scape คนยิ่งทํา เมืองยิ่งดี” ตั้งแต่เวลา 11.00-22.00 น. ได้แก่ เจริญกรุง-ตลาดน้อย, พระนคร, ปากคลองตลาด, นางเลิ้ง, เยาวราช, หัวลำโพง, อารีย์-ประดิพัทธ์, บางโพ-เกียกกาย, วงเวียนใหญ่-ตลาดพลู, เกษตรฯ-บางบัว, พร้อมพงษ์, สยาม-ราชเทวี, บางกอกใหญ่-วังเดิม, พระโขนง-บางนา และบางมด

Bangkok Design Week จะทําหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มทางความคิดและการสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ผ่านเมืองในคอนเซ็ปต์ที่ชวนทุกคนมาลงมือสร้าง “Livable Scape” ผ่านความสัมพันธ์ของพื้นที่ สภาพแวดล้อม และมุมมอง ที่จะทําให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่น่าอยู่กว่าที่เคย ใน 3 มิติสำคัญ คือ “Hard Matters” เมืองที่กายภาพดีเข้าถึงง่าย เชื่อมโยงผู้คน อยู่สบาย มีสุขภาพดี “Heart Matters” เมืองดีต่อใจ มีวัฒนธรรมแข็งแรง และ “Design Matters” เมืองที่ถูกออกแบบเป็นอย่างดี

“คำว่า Scape ไม่ใช่พื้นที่ธรรมดา แต่เป็นพื้นที่ที่มีแคแร็กเตอร์พิเศษ น่าอยู่ใน 3 มิติ ทั้งกายภาพ สุขภาพจิต และดีไซน์ การออกแบบจะเป็นตัวเชื่อมระหว่างกายภาพและความรู้สึก”

เทศกาลนี้เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักออกแบบ นักสร้างสรรค์ มาแสดงผลงาน เปิดรับทุกคน และพยายามดึงทุกคนเข้ามาเกี่ยวข้อง อยากเสนออะไร อยากขายอะไร อยากเจอใคร CEA จะเป็นตัวเชื่อมโยง ตอบโจทย์คนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้งหมด เอาโจทย์ทุกคนเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างแผนงาน ช่วยค่าใช้จ่ายและให้พื้นที่ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่พร้อม บางคนไอเดียดีแต่ไม่รู้จักตลาด

สำหรับย่านที่น่าสนใจในปีนี้ อาทิ ย่านเกษตร-บางบัว ที่ได้ผู้ขับเคลื่อนหลักอย่าง SC Asset เข้ามาร่วมสนับสนุนและย่านพระนคร ที่ได้ LPN มาเป็นหัวเรือใหญ่ และย่านเยาวราช ที่มีการจัดแสดงงานที่น่าสนใจจาก Hatari ผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามาร่วมในเทศกาล เป็นต้น

แก้ปัญหา-เพิ่มมูลค่า

การออกแบบเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่สามารถทำให้ย่านหรือเมืองมีการขับเคลื่อนที่ดีขึ้นได้ แก้ปัญหาทั้งในเชิงสังคมและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ การออกแบบไม่ใช่แค่ออกแบบผลิตภัณฑ์ แต่เป็นการออกแบบกระบวนการ ออกแบบบริการ เป็นการแก้ปัญหา เช่น ปัญหาทางเท้า ปัญหาป้ายจราจร ปัญหาขยะ ปัญหาผังเมือง หรือย่านที่มีโพเทนเชียลแต่เข้าถึงยาก จะสามารถออกแบบให้เข้าถึงง่ายได้หรือไม่ เป็นต้น

ส่วนด้านเศรษฐกิจมีการเปิดเวทีเสนอผลงาน โดย CEA เชิญผู้ประกอบการและนักธุรกิจมาพบกัน คุยกันเรื่องการซื้อขาย งานจึงมี 2 มิติ ทั้งสังคมและเศรษฐกิจ มีตลาดทั้ง B2C และ B2B

ไฮไลต์ของปีนี้คือการร่วมกับคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ด้านดนตรี นำโปรโมเตอร์จากต่างประเทศเข้ามา เป็นต้น เกิดการคุยกันในพาร์ตธุรกิจ เกิดการจ้างงาน เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นความต่อเนื่อง

“โจทย์หลักของ Bangkok Design Week คือการแก้ปัญหาความเป็นอยู่ของคนในเมือง และเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจของเมืองนั้น ๆ ด้วยการออกแบบและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ Bangkok Design Week จึงเป็น ‘แพลตฟอร์ม’ ไม่ใช่ ‘อีเวนต์’ ไม่ได้จัดเพียง 9 วันแล้วจบ แต่แพลตฟอร์มนี้ยังคงอยู่ เกิดการพบปะอยู่ตลอด มีกิจกรรมระหว่างปีไปเรื่อย ๆ จนถึงงานครั้งต่อไป”

การจัดเทศกาล Bangkok Design Week ตลอดทั้ง 6 ปีที่ผ่านมา สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมเป็นมูลค่าสูงถึง 1.9 พันล้านบาท จำนวนผู้เข้าชมกว่า 2.1 ล้านคน

เชื่อว่าปีนี้จะเป็นอีกปีที่ประสบความสำเร็จ ช่วยยกระดับเศรษฐกิจและสร้างต้นแบบการพัฒนาเมือง โดย CEA คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศมากกว่า 300,000 คน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 350 ล้านบาท ตลอดการจัดเทศกาล

ยิ่งลดคาร์บอน เมืองยิ่งดี

นอกจากงาน Bangkok Design Week จะเป็นการนำเสนอเรื่องการออกแบบมาช่วยแก้ปัญหาของสังคม ชุมชน เศรษฐกิจให้ดีขึ้นแล้ว ปีนี้ยังมีความพิเศษกว่าปีที่ผ่านมา กับแคมเปญพิเศษ “ยิ่งลด (คาร์บอน) เมืองยิ่งดี”

โดย CEA ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อยอดแอพพลิเคชัน CFID (CARBON FOOTPRINT IN DAILY LIFE) ชวนผู้มาร่วมงาน BKKDW 2024 ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยทำให้เมืองดีขึ้น ด้วยการสะสมคะแนนการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) จากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน

ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งเดิน วิ่ง ปั่น และการใช้รถสาธารณะต่าง ๆ รวมถึงการทิ้งขยะ ซึ่งคะแนนจากการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์จะเปลี่ยนเป็น point ที่สามารถนำมาแลกกาชาปอง หรือของที่ระลึกที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษที่จัดทำกายในงาน

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ 1 ล้านล้านบาท

ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA กล่าวว่า เมื่อพูดถึงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หมายถึงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 15 สาขาที่ถูกกำหนดโดยประเทศไทย ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ยูเนสโกเองก็ให้ความสำคัญ เนื่องจากอุตสาหกรรมสร้างสรรค์หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะส่งเสริมต่อเศรษฐกิจโลก

ตลอดหลายปีที่ผ่านมาประเทศต่าง ๆ ได้นำเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ผ่านการต่อยอดสร้างสรรค์ทุนทางวัฒนธรรมให้ทันสมัย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและความแตกต่างให้แก่สินค้าและบริการ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างซอฟต์พาวเวอร์เพื่อใช้ส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีนานาชาติ ดึงดูดการท่องเที่ยวและส่งเสริมการส่งออก

ประเทศไทยมีมรดกและทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลายและสามารถแข่งขันได้ ที่ผ่านมามีการนำทุนทางสังคมและวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจผ่าน 15 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยในปี 2564 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยมีมูลค่าประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 6.81% ของ GDP ประเทศ และในปี 2565 มีจำนวนแรงงานสร้างสรรค์สูงถึง 963,549 ราย

แม้ว่าปี 2565-2566 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญความท้าทายจากราคาน้ำมันและสงคราม แต่การดำเนินนโยบายเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยเริ่มฟื้นตัว ทั้งจากกิจกรรมของภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภายในประเทศ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น

นอกจากมูลค่าของเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะไม่น้อยแล้ว อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ยังมีต้นน้ำมาจาก “ต้นทุนวัฒนธรรม” ของประเทศนั้น ๆ มาจากมรดกทางวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย ไทยมีมรดกทางวัฒนธรรมเยอะมาก นำงานคราฟต์มาใส่ความคิดสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงมากขึ้น

“ไทยเหมาะมากและจะต้องผลักดันเรื่องนี้ ไทยเป็น Cultural Based Country ถ้ามองเป็นการแข่งขัน เราเก่งเรื่องนี้ ต้องทำเรื่องนี้ให้ดี ถึงเป็นที่มาว่าทำไมรัฐบาลถึงผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ เพราะอุตสาหกรรมทั้งหมดมาจากต้นทุนทางวัฒนธรรมซึ่งเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ”