บรรทัดทอง Food Destination ใหม่ ร้านอาหารผุดเพียบหลังยุคโควิด

บรรทัดทอง Food Destination

ถนนบรรทัดทอง Food Destination แห่งใหม่ ร้านอาหารผุดเพียบหลังยุคโควิด บรรยากาศแหล่งร้านกีฬาและอะไหล่รถยนต์ในอดีตเริ่มเลือนลาง

วันที่ 12 พฤษภาคม 2566 “ประชาชาติธุรกิจ” ลงพื้นที่สำรวจบรรยากาศร้านอาหารย่าน “บรรทัดทอง” พบร้านอาหารเปิดใหม่เพิ่มเป็นจำนวนมาก กลายเป็นถนนอีกหนึ่งเส้นที่มีความคึกคักขึ้นมาหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็น “Food Destination” จุดหมายปลายทางของนักกินแห่งใหม่สำหรับผู้คนทุกเพศทุกวัยที่ดั้นด้นมารอต่อคิวร้านดัง

นายวุฒิพงศ์ เตชะวินิจอุดม หนึ่งในผู้ประกอบการร้าน Fishmonger บรรทัดทอง เผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ถนนบรรทัดทองเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วงเวลาที่ตนเติบโตมา สมัยก่อนบรรทัดทองจะขายอะไหล่รถยนต์และเสื้อผ้ากีฬา เนื่องจากอยู่ใกล้กับ “สนามศุภชลาศัย” สนามกีฬาแห่งชาติ ช่วงแยกเจริญผลจะเป็นร้านสายกีฬา ทั้งเสื้อผ้าและอุปกรณ์ต่าง ๆ ถัดไปทางถนนพระราม 4 จะเป็นร้านอะไหล่รถยนต์ทั้งหมด แต่ในปัจจุบันเหลือไม่ถึง 10% แล้วจากของเดิม

บรรทัดทองเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดหลังสถานการ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อไม่กี่ปีก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาร้านอาหารที่เปิดใหม่จำนวนมาก อาจเป็นเพราะการมาของ “STADIUM ONE” สปอร์ต คอมมูนิตี้ แลนด์มาร์กใหม่ที่เปิดตัวไปเมื่อปี 2561 ซึ่งมีร้านอาหารดัง ๆ มากมาย เช่น “โจ๊กสามย่าน” และ “ติดมันส์” เป็นต้น จากนั้นร้านอาหารต่าง ๆ จึงเริ่มกระจายไปยังพื้นที่โดยรอบ และเริ่มทยอยมาเปิดกันในย่านนี้

อีกประการที่ทำให้ย่านบรรทัดทองบูมขึ้นมา ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเมื่อ “ลิซ่า Blackpink” มากิน “น้ำเต้าหู้เจ๊วรรณ” ที่ซอยจุฬา 22 เมื่อปี 2563 ร้านเจ๊วรรณที่ค่อนข้างดังอยู่แล้วยิ่งเป็นกระแสมากขึ้นไปอีก แฟนคลับแห่ตามกันไปกินเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นก็เป็นการจุดระเบิดบรรทัดทองให้อยู่ในกระแสเรื่อยมา

“คือจริง ๆ ตอนนั้นเป็นช่วงที่บรรทัดทองกำลังจะบูมเรื่องร้านอาหารบ้างแล้ว แต่พอลิซ่ามาก็เลยยิ่งมากขึ้น”

แม้อาหารในย่านบรรทัดทองจะมีราคาไม่ถูกนัก แต่ก็ไม่ได้แพงขนาดที่เข้าไม่ถึง ที่สำคัญวัยรุ่นและนิสิตนักศึกษาในย่านนี้มีกำลังซื้อสูงพอสมควร และยังมีความพยายามในการดั้นด้นหาของกินทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน แม้จะมีที่จอดรถน้อยก็ไม่ใช่ปัญหา

สำหรับผู้ประกอบการ ราคาค่าเช่าตึก 1 คูหา เฉพาะชั้นล่างเพื่อเปิดร้าน ในซอยตกประมาณ 1 หมื่นบาทต่อเดือน แต่ถ้าติดถนนประมาณ 3 หมื่นบาท และอาจมากกว่านั้นในพื้นที่ที่บูม ตั้งแต่แยกเจริญผลไปทางถนนพระราม 4 นายวุฒิพงศ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม วัฏจักรร้านอาหารไม่ค่อยยาว บางร้านมาแบบวูบวาบแล้วก็ยกเลิกกิจการไป นายวุฒิพงศ์แสดงความคิดเห็นว่า เป็นเรื่องของคุณภาพที่ห้ามตก ต้องพยายามรักษาและพัฒนาอยู่เรื่อย ๆ ไม่ใช่ว่าเริ่มขายดีแล้วลดคุณภาพ ลดปริมาณอาหารลง ถ้าทำเช่นนั้นยังไงความนิยมก็ต้องตกในที่สุด นอกจากนี้ ยังต้องมีแคแร็กเตอร์ที่ชัดเจน เนื่องจากร้านอาหารวันนี้ไม่ได้มีเพื่อกินข้าวเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นพื้นที่ของไลฟ์สไตล์และสถานที่ถ่ายรูปด้วย เป็นต้น

บรรทัดทองวันนี้ “หนึ่ง นม นัว” คนแน่น

บรรยากาศของผู้คนและร้านอาหารในย่านบรรทัดทองวันนี้ยังคงเป็นไปอย่างคึกคัก ยิ่งเย็นลงผู้คนยิ่งเริ่มมากขึ้น ที่กำลังเป็นกระแสในช่วงนี้คือ “หนึ่ง นม นัว” ร้านขนมปังชื่อดังจากเมืองภูเก็ต หลังเปิดสาขาแรกที่ถนนปฏิพัทธ์ จังหวัดภูเก็ต เมื่อปี 2565 ก็ขยับขยายมาเปิดสาขาในกรุงเทพฯ ที่ถนนบรรทัดทองในเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา

บรรยากาศร้าน หนึ่ง นม นัว เป็นไปอย่างคึกคัก แม้แดดจะยังไม่หมดแต่ทั้งผู้ใหญ่วัยทำงาน วัยรุ่น และนิสิตนักศึกษาต่างยืนรอหน้าร้านเพื่อกดคิวผ่านแอปพลิเคชั่น QUEQ ก่อนที่ร้านจะเปิดรับคิวแรกตั้งแต่เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป และยิ่งเย็นลงผู้คนก็ยิ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ

ถัดมาไม่ไกล เยื้อง ๆ กันที่ฝั่งตรงข้ามเป็นร้าน “เจ๊โอว” ข้าวต้มและมาม่าระดับตำนานดีกรี มิชลิน ไกด์ ที่ไม่ว่าวันไหนคิวรอเข้าร้านก็แน่นขนัด แถวยาวเหยียดก่อนที่ร้านจะเปิดในเวลา 16.30 เสียอีก นอกจากนี้ ยังมีร้านหม่าล่าหม้อไฟอีกหลายร้านที่ผู้คนก็ต่อคิวแน่นตั้งแต่ช่วงเย็นเช่นกัน