ขรรค์ชัย บุนปาน เน้นทุกคำ ย้ำในก้าวที่ 48 “ประชาชาติธุรกิจ” คือความภาคภูมิใจ

ขรรค์ชัย บุนปาน
ขรรค์ชัย บุนปาน
ผู้เขียน : พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร

48 ปีคือช่วงเวลาเกือบครึ่งศตวรรษ

คือลมหายใจในโมงยามกว่าครึ่งชีวิตของคนหนึ่งคน

“ประชาชาติธุรกิจ” คือหนังสือพิมพ์อันเป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ทั้งด้านการพิมพ์ของไทย และจิ๊กซอว์การเมือง เศรษฐกิจ สังคม อันมีเงื่อนปมที่ไม่อาจแยกออกจากกัน

นับแต่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ หรือ “พระองค์วรรณ” ประทานหัวหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” ซึ่งเกิดขึ้นหลังการอภิวัฒน์สยาม 2475 แก่นักหนังสือพิมพ์หนุ่ม นามว่า “ขรรค์ชัย บุนปาน” และคณะ

นับแต่นั้น คำว่า “ประชาชาติ” ก็ผงาดอีกครั้งเบื้องหน้าผู้อ่าน ผ่านเรื่องราวและไทม์ไลน์สลับซับซ้อน จาก “ประชาชาติรายสัปดาห์” ตามด้วย “ประชาชาติรายวัน” กระทั่ง “รวมประชาชาติรายวัน” และ “เข็มทิศธุรกิจ รายสัปดาห์” ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ด้านเศรษฐกิจฉบับแรก

มีพัฒนาการฝ่าฟันทั้งอุณหภูมิร้อนหนาว และพายุฝนฟ้าคะนองทางการเมือง ถึงขนาดโดนสั่งปิดในช่วง 6 ตุลา 2519 พร้อมเพื่อนสื่อผู้ร่วมชะตากรรมอีก 12 ฉบับ

ADVERTISMENT

ก่อนกลับมาในนาม “รวมประชาชาติธุรกิจ” และ “ประชาชาติธุรกิจ” ในวันนี้ ภายใต้เครือ “มติชน”

ทั้งฉบับกระดาษที่ยังมั่นคงบนแผงหนังสือ ทั้งเวอร์ชั่นออนไลน์ที่มีผู้ติดตามบนเฟซบุ๊กมากกว่า 1 ล้าน บน X เฉียด 3.5 แสน บนยูทูบและติ๊กต๊อกกว่า 1 แสน เกาะแน่น ๆ บนอันดับ 8 ของเว็บไซต์ในกลุ่ม “ข่าว-สื่อ”

ADVERTISMENT

29 พฤษภาคม 2567 คือย่างก้าวสู่ปีที่ 48 ของ “ประชาชาติธุรกิจ” ด้วยสโลแกน “เตือนคุณล่วงหน้า ทุกคำ ทุกข่าว”

จากพาดหัวบนหน้ากระดาษยุคโวย “ภาษีถอนขนห่าน” สู่ฟีดข่าวบนหน้าจอสมาร์ทโฟนยุคข้อถกเถียงปม “เงินดิจิทัล”

จากสำนักงานในตึกแถวเล็ก ๆ ย่านวัดราชบพิธ สู่ฐานที่มั่นบนชั้น 5 ของอาคาร 9 ชั้น ย่านประชาชื่น

“ประชาชาติธุรกิจ คือความภาคภูมิใจ”

“ขรรค์ชัย” นักหนังสือพิมพ์หนุ่มในอดีต ประธานบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน กล่าวอย่างชัดถ้อยชัดคำ เน้นย้ำถึงหัวหนังสือพิมพ์ฉบับ “บุกเบิก” ของเครือมติชนที่ยืนหยัดอย่างมั่นคงท่ามกลางบรรยากาศการเมืองไทย สภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์โลกที่ต้องจับตา

“เก่ง หรือไม่เก่ง ไม่รู้ แต่อยู่ได้”

“ขรรค์ชัย” เอ่ยทีเล่นทีจริง เมื่อถามถึงความอยู่รอดของหนังสือพิมพ์กระดาษที่ทุกฉบับใต้ร่มเงา “มติชน” ยังอยู่ครบ ทั้ง มติชน ข่าวสด รวมถึง ประชาชาติธุรกิจ อันเป็นหัวบุกเบิก

“ปล่อยให้เป็นอะไรไปไม่ได้ ถ้าเป็นอะไร เราเป็นดีกว่า มันเป็นของเราน่ะ เราได้รับประทานมาจากพระองค์วรรณ วันนี้ก็ดีใจที่ยังอยู่โดยไม่ระคายเคืองในเรื่องไม่ดี” ท่านประธานย้ำชัดถึงความผูกพันในประวัติศาสตร์ชีวิตของตัวเอง ที่กลายเป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์สิ่งพิมพ์ไทย

แม้เป็นสื่อเก่าแก่ แต่ยืนยันว่าต้องก้าวให้ทันโลก แอ็กทีฟแบบคนหนุ่มสาว พร้อมกันนั้น ต้องไม่หลงลืมจิตวิญญาณที่มองประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ

ขอย้อนไปให้ฉายหนังซ้ำ คิดอย่างไรจึงตัดสินใจไปขอหัวหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” จากพระองค์วรรณ ที่ถูกปิดไปเมื่อ พ.ศ. 2488 ?

ตอนนั้น หัวหนังสือพิมพ์มันหายาก มันแพง เลยคุยกันว่าไปกราบขอพระองค์วรรณดีไหม ท่านเป็นครูบาอาจารย์ เป็นคนมีทุกอย่างครบ เป็นรองนายกฯ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รู้จักท่านแต่ในนาม ไม่เคยพบหรือรู้จักเป็นการส่วนตัว ติดต่อกันไปเองทางโทรศัพท์ เบอร์หาง่าย วังอยู่ซอยสายน้ำผึ้ง สุขุมวิท 20 ท่านก็บอกว่า ให้ไปพบวันนั้นวันนี้

ตอนนั้น “นายขรรค์ชัย” แนะนำตัวอย่างไร

ก็บอกว่า ชื่อนี้ ๆๆๆ ตอนนั้นจะไปกับ อาจารย์ป๋อง (พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร) แต่สุดท้ายไม่ได้มา เลยไปคนเดียว เข้าเฝ้า 9 โมง 10 โมง นั่งรถเมล์สาย 25 จากท่าช้าง ตอนนั้นบ้านอยู่บางขุนเทียน ต้องตื่นตี 5 นั่งสาย 43 ไปสนามหลวงก่อน

ตอนที่ทรงตกลงให้เข้าเฝ้า รู้อยู่แล้วไหมว่าจะประทานให้

ไม่รู้อะไรเลย (หัวเราะ)

นาทีพบพระองค์วรรณ ความรู้สึกของเด็กหนุ่มจากฝั่งธนฯ คนบางขุนเทียน เป็นอย่างไร

ถึงกับเข่าทรุด ตกใจ นั่งกับพื้น (หัวเราะ) เพราะเราเด็กศิลปากรเก่า ไม่ค่อยอะไรมาก นุ่งกางเกงยีนส์ ขาด ๆ หน่อย เสื้อเชิ้ตสีขาว พับแขน เจอพระองค์วรรณแต่งตัวมารับ ท่านเรียบร้อยมาก แบบคนมีเกียรติ รองเท้ายังผูกเชือกเลย ท่านคุยแบบครูกับลูกศิษย์ เตรียมเงินขวัญถุงไว้ให้ เป็นแบงก์ 100 ใหม่ ๆ นับเป็นใบ ๆ 9 ใบ แล้วประทานให้เลย เป็นขวัญถุง

ธนบัตรขวัญถุงทั้ง 9 ใบ ยังอยู่ไหม

ไม่อยู่ เพราะเอาเข้าธนาคาร วันรุ่งขึ้นก็ใช้แล้ว (หัวเราะ)

ถือเป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ชีวิตและจุดเริ่มต้นของประชาชาติธุรกิจและมติชน ยังจำได้ไหม ท่านตรัสอะไรด้วยบ้าง

ท่านเล่าความเป็นมาว่า ประชาชาติเกิดขึ้นเพราะอะไร มีคำขวัญ บำเพ็ญกรณีย์ ไมตรีจิต วิทยาคม อุดมสันติสุข

ทรงให้คำแนะนำ ขอให้เป็นหนังสือพิมพ์ที่ดี และอวยพรให้อยู่ได้

เรียนจบ “โบราณคดี” แต่ไม่เข้ากรมศิลป์ หันมาทำหนังสือพิมพ์การเมือง แล้วยังเปิดตลาดหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจอีก ตอนนั้นคิดอะไรอยู่

คิดว่ามันมีแนวโน้มที่จะทำหนังสือพิมพ์ธุรกิจอยู่แล้ว เพราะจริง ๆ แล้ว การเมือง สังคม เศรษฐกิจ ล้วนเป็นเนื้อหาของหนังสือพิมพ์ทั้งหมด เศรษฐกิจคือเรื่องสำคัญ มันเกี่ยวกับปากท้อง เกี่ยวกับประชาชน คนไทยไม่ควรอดตายเพราะความขาดแคลน ที่จะอดตายก็เพราะบริหารจัดการไม่เป็น

หนังสือพิมพ์ด้านธุรกิจจะเป็นทางรอดอีกตัวหนึ่ง เพราะนอกจากการเมือง สังคมแล้ว เศรษฐกิจก็สำคัญมาก เวลาบ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ปกติ ก็จะเจริญเป็นปกติ การเมืองนิ่ง ทำให้บ้านเมืองเจริญได้ ทุกคนจะลืม แต่ความจริงมันสำคัญมาก ถ้าของขึ้นราคาโดยไม่บอกกล่าว แต่ขึ้นโดยมีเงิน ไม่เป็นไร ถ้าขึ้นตอนไม่มีเงิน คนก็เดือดร้อน

สิ่งพิมพ์กระดาษวันนี้อยู่ไม่ง่าย

อยู่ไม่ได้เลย (หัวเราะ) เหมือนที่หลักศาสนาพุทธสอนเรื่องอนิจจัง ทุกสิ่งมีความเปลี่ยนแปรอยู่ตลอดเวลา แต่จิตวิญญาณสื่อต้องมั่นคงอยู่ในหลักการของความซื่อสัตย์ สุจริตโดยวิชาชีพ ต้องยืนอยู่ข้างคนส่วนใหญ่

เราต้องปรับเปลี่ยนตามเหตุการณ์ ไม่รุกออนไลน์ อยู่ไม่ได้ ฉบับกระดาษยังอยู่ได้ทุกวันนี้ ถือว่าเก่งจะตายอยู่แล้ว

เอาใหม่ ๆ ตอบว่า เราเก่งหรือไม่เก่ง ไม่รู้ แต่อยู่ได้ (หัวเราะ)

ย้ำอีกครั้ง ประชาชาติธุรกิจ ก็ยังอยู่ได้

โอ๊ยยยย ปล่อยเป็นอะไรไปไม่ได้ ถ้าเป็นอะไร เราเป็นดีกว่า มันเป็นของเราน่ะ เราได้รับประทานมา

วันนี้ก็ดีใจที่ยังอยู่โดยไม่ระคายเคืองในเรื่องไม่ดี ระหว่างที่พระองค์วรรณทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ ท่านคงเอาใจใส่ตลอด

ตอนนั้นยังคิดเลยว่า ทำไมถึงได้มา ยัง งง ๆ อยู่ งง แบบ ปลื้มปีติ

ขอยกย่องพระองค์วรรณ ว่าท่านเป็นปูชนียบุคคลของพวกเรา ของวงการหนังสือพิมพ์ ความรู้เป็น เอกอุ ทั้งภาษาไทย ทั้งศัพท์บัญญัติ ทั้งผลงานแปล ดีทั้งหมดเลย ท่านเป็นครู เรามีแต่เจริญรอยตามท่านได้แค่หางแถวเท่านั้นเอง

ทุกวันนี้ ตื่นเช้ามาก็ยังอ่าน ประชาชาติธุรกิจ ? มีข้อแนะนำในส่วนของเนื้อหาอย่างไรบ้าง

อ่าน ๆๆ ข้อแนะนำคือ อย่าทอดทิ้งการสัมภาษณ์บุคคล ต่าง ๆ ทั้งในด้านธุรกิจ และแง่มุมของชีวิต แม้กระทั่งเรื่องส่วนตัวในสิ่งที่เป็นสาระ

อย่าทิ้งเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของชีวิตคน เพราะเป็นสิ่งที่มีคุณค่า มีความหมาย

สิ่งที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จมาได้ เพื่อเป็นตัวอย่างให้คนอื่นได้เรียนรู้

ไม่ว่าอย่างไร “คน” ยังเป็นตัวประกอบสำคัญ

เฉียด 50 ปีไม่เคยปล่อยมือจากหมึกพิมพ์และหน้ากระดาษของประชาชาติธุรกิจเลย มองพัฒนาการอย่างไร ชอบอ่านคอนเทนต์ใดเป็นพิเศษ

เหตุการณ์ทั่วไป เพราะอ่านทีไรก็ใจแป้วทุกที รู้สึกว่าสถานการณ์ทรุดลงเรื่อย ๆ หมายถึงประเทศ (หัวเราะ)

ทราบว่าในอดีต เขียนเองมาก มีกี่นามปากกา

เยอะจนจำไม่ได้ จำเป็น ก็ต้องเขียน

ตอนยุค 6 ตุลา ที่ “ถูกสั่งปิด” โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ตอนนั้นเตรียมตัวมาก่อนไหม ว่าโดนแน่

ไม่ได้เตรียมตัว แต่เตรียมใจ ว่าเป็นปรากฏการณ์ปกติของประเทศที่ยังล้าหลัง ด้อยพัฒนา เป็นเรื่องเลอะเทอะ ไม่น่านิยม แต่ก็พร้อมเผชิญ และเผชิญมาโดยตลอด หนังสือพิมพ์ ต้องยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับอำนาจรัฐอยู่แล้ว

เมื่อเตรียมใจ แต่ไม่เตรียมตัว ในเชิงธุรกิจกระทบแค่ไหน

กระทบทุกอย่าง เราถูกกดขี่โดยอำนาจรัฐขณะนั้น โดนปิดกั้นแม้กระทั่งสั่งห้ามไม่ให้ลงโฆษณา ทั้งราชการ ทั้งเอกชน แล้วแต่เขาจะสั่งได้ แค่นั้นเราก็ทรุดแล้ว ถูกไหมเล่า อยู่ดี ๆ สะดุด เหมือนตกหลุมอากาศ

ในฐานะหนึ่งในคนส่วนใหญ่ของประเทศและผู้อ่านประชาชาติธุรกิจ มองเศรษฐกิจไทยวันนี้อย่างไร

คนส่วนใหญ่ยังลำบาก รู้สึกเลยว่าของแพง ต้องเก็บหอมรอมริบ ประหยัด ไม่ฟุ้งเฟ้อ

ล่าสุดซื้ออะไรบ้าง ถึงรู้สึกว่าแพง

ไม่ซื้ออะไรอยู่แล้ว (หัวเราะ) หมดวัย หมดสมัย

พรุ่งนี้ของประชาชาติธุรกิจ แนวทางที่อยากเห็น คืออะไร

ยังคงต้องพยายามทำความเข้าใจโลก ตีแผ่ และถ่ายทอดข้อมูลความรู้ให้ชัดเจน รวดเร็ว ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดทุกวันนี้ยิ่งใหญ่ มากมาย มโหฬาร

ต้องซื่อสัตย์ สุจริต ต่อวิชาชีพ และทำงานแบบหนุ่มสาว ที่มีความคล่องตัวอยู่ตลอดเวลา

การทำหนังสือพิมพ์ อย่างน้อยจิตวิญญาณต้องเป็นหนังสือพิมพ์ ต้องเป็นตัวแทนเสียงส่วนใหญ่ของคนทั้งประเทศในแต่ละยุคสมัย

หนึ่ง อยากให้ทุกคนรักการอ่านหมด

สอง ต้องจับกลุ่มพูดจากันจริงจังในการครองชีวิตส่วนตัว และส่วนรวมให้อยู่บนความสุจริตเปิดเผย ตรงไปตรงมา แล้วจะอยู่รอด

จึงจะเคลียร์ความมั่งมี หรือไม่มีออกไป ไม่อย่างนั้นเคลียร์ลำบาก ความเหลื่อมล้ำเยอะ สันดานมนุษย์และสัตว์มีความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ บางทีอยู่แบบยุคหิน เปิดเผยกว่า (หัวเราะ)

คำแนะนำถึง “นักข่าวเศรษฐกิจ” รุ่นใหม่ในสถานการณ์เช่นนี้

ก็ยังคงต้องนำเสนอข้อเท็จจริง “นักข่าว” ต้องรักและศรัทธาในหนังสือ ติดตาม ค้นคว้า ต้องเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลกซึ่งมีอยู่ตลอดเวลา ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จึงจะอยู่ได้

มองความสำเร็จของประชาชาติธุรกิจซึ่งได้รับการยอมรับจากสังคมและแวดวงเศรษฐกิจตลอดช่วงเวลาเกือบ 5 ทศวรรษอย่างไร

อย่าไปคิดว่าที่ทำมา สำเร็จแล้ว ยังต้องทำต่อไป มุ่งหน้าต่อไป และไม่ต้องห่วงอนาคตซึ่งจะเป็นของคนรุ่นต่อไป

ความสำเร็จ ให้คนอื่นตัดสิน