สาว สาว สาว เล่าความทรงจำ เกิร์ลกรุ๊ปกลุ่มแรกกับวิถีอินดี้ในยุคที่ยังไม่มีคำว่า “อินดี้”

สัมภาษณ์พิเศษ
รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

ก๊อก ก๊อก ก๊อก เปิดประตู เปิดออกดูว่าใครมา… เสียงเคาะประตูครั้งนี้น่าจะดึงภาพในอดีตหวนกลับมาได้ไม่น้อย เมื่อคนที่คุณผู้อ่านเปิดประตู เปิดหน้าหนังสือพิมพ์ เปิดหน้าเว็บมาเจอในครั้งนี้คือ สาว สาว สาว เกิร์ลกรุ๊ปกลุ่มแรกของเมืองไทย เจ้าของเพลงดังที่ขึ้นต้นมานี่เอง

ห่างหายจากชื่อสาว สาว สาว ไปนานถึง 34 ปี จากอัลบั้มสุดท้ายเมื่อปี 2533 ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่สมาชิก สาว สาว สาว ซึ่งประกอบด้วย แอม-เสาวลักษณ์ ลีละบุตร, แหม่ม-พัชริดา วัฒนา และ ปุ้ม-อรวรรณ เย็นพูนสุข กลับมารวมตัวกันเพื่อแสดงคอนเสิร์ต “สาว สาว สาว” ตามคำเรียกร้อง ในวันที่ 23-25 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งคนที่ทำให้คอนเสิร์ตนี้เกิดขึ้นได้ก็คือ พี่ฉอด-สายทิพย์ มนตรีกุล แห่งเอ-ไทม์ ที่สนิทสนมกันเป็นการส่วนตัวกับทั้ง 3 สาว

ก่อนจะไปถึงวันแสดงคอนเสิร์ต เราได้ชวน สาว สาว สาว มานั่งพูดคุย หลัก ๆ เป็นการขอให้พี่ ๆ เขาเล่าถึงเรื่องราวความทรงจำในยุคสาว สาว สาว ครองเมือง และสร้างปรากฏการณ์มากมาย เรียกว่าเป็น “ไอดอล” ตัวจริงของวัยรุ่นในยุคนั้น ซึ่งเป็นยุคที่ยังไม่มีใครเรียกนักร้องว่า “ไอดอล” อย่างทุกวันนี้

“มันเป็นเวลานานมาก ความทรงจำมันเยอะมาก ให้เล่าเรื่องอะไรคะ ต้องเลือกมาเลย” สาว สาว สาว ตอบเมื่อถูกขอให้เล่าความทรงจำ ก่อนที่เราจะเลือกเรื่อง ความทรงจำกับแฟนเพลง

“กับแฟนเพลงต้องบอกว่า เราโตมาด้วยกัน เห็นรายละเอียดความเปลี่ยนแปลงทุกอย่างตั้งแต่อัลบั้มชุดแรก ตั้งแต่ยังใหม่ ยังสนุก ยังเฟรชด้วยกัน จนกระทั่งอัลบั้มหลังเริ่มโตขึ้น เป็นผู้ใหญ่ขึ้น ก็มีที่น่ารัก ๆ ที่สมัยก่อนเขาส่งจดหมายมา มันไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีโซเชียลมีเดียอย่างทุกวันนี้ จะติดต่อกันก็ต้องส่งจดหมายหากัน หรือเอาตัวมาให้ดูจนจำหน้ากันได้ ต้องรอจนเราไปเล่นคอนเสิร์ต ซึ่งสมัยนั้นคอนเสิร์ตเก็บตังค์แทบจะไม่มีเลย มีแต่ฟรีคอนเสิร์ต อย่างเช่น โลกดนตรี เขาต้องรอว่าเมื่อไหร่สามคนนี้จะไปออกโลกดนตรี เขาถึงจะได้เจอเรา” แหม่มกับปุ้มช่วยกันเล่า

“ความสนุกในการทำงานยุคนั้นคือ เมื่อไม่มีความสะดวกก็ต้องใช้ความพยายาม เช่น เรื่องเสื้อผ้า เราต้องไปนั่งหาแบบหาผ้า กว่าจะตัดเป็นชุด มันไม่มีดีไซเนอร์ ถ้าเป็นเรื่องออกแบบท่าเต้น การร้องเพลง เราก็ต้องหาต้นแบบมาดู ต้องสั่งซื้อวิดีโอต่างประเทศแล้วเอามาเปิด มาแกะ มันไม่มีเรฟเฟอเรนซ์ ไม่มียูทูบให้กดฟังเพลง เราก็ต้องหาฟังของเราเองว่า เราชอบฟังเพลงแบบไหน มันก็เป็นเรื่องสนุกที่เกิดขึ้นในแต่ละหัวข้อ” แหม่มเปิดความทรงจำอีกเรื่องหนึ่งขึ้นมา

“ทำงานกันเองเลย ค่ายปล่อยเหมือนกันนะคะ” เราพูดออกไปแบบคนต่างยุคที่มองไม่เห็นภาพวงการเพลงยุคนั้น

“ไม่ใช่ค่ะ สมัยนั้นค่ายไม่ได้เป็นค่าย เขาไม่มีทีมงาน ไม่มีแผนกอะไร บริษัทก็หานักร้องที่คิดว่ามีความสามารถอยู่แล้วมาทำ ตัวนักร้องอยากทำอะไร ก็คิดก็ทำมา ค่ายไม่ได้ปล่อย มันก็ดีที่สุดในยุคนั้นแล้ว” สาว สาว สาว ตอบ

ก็เหมือนอินดี้ในยุคนี้…

“ใช่ ๆ ประมาณนั้น อินดี๊อินดี้เลยแหละ เพราะทำเองหมดเลย มันไม่รู้ว่าอะไรคือสูตร บางอันก็ผิด บางอันก็ถูก บางทีก็น่าเกลียด มันไม่มีวงแบบเดียวกันให้ดูเป็นตัวอย่าง ข้ามจากเราไปก็เป็นผู้ใหญ่ รุ่นเพื่อนแม่ไปเลย ถ้าผู้หญิงก็รุ่นน้า ถ้าผู้ชายก็วงแกรนด์เอ็กซ์ แม็คอินทอช นักร้องดัง ๆ ช่วงนั้น คือ นักร้องที่เล่นกลางคืน นายทุนไปเห็นนักร้อง เห็นวงเล่นในไนต์คลับ ก็จะชวนมาออกแผ่นกัน”

แล้วเกิร์ลกรุ๊ปกลุ่มแรกของไทยก็เล่าถึงการทำงานอย่างสนุกสนานว่า ในยุคนั้นไม่มีเทคโนโลยีช่วยในการทำงาน

“สมัยนู้นกับสมัยนี้ต่างกันเยอะมาก เทคนิค เทคโนโลยี มันยังไม่มี สมัยนั้นใช้เทปรีลม้วนใหญ่ ๆ เวลาอัดเสียง เราไม่สามารถเจาะตรงไหนได้เลย ถ้าผิดก็ร้องใหม่ตั้งแต่ต้น ไม่สามารถอีดิตอะไรได้ในขณะร้องอย่างทุกวันนี้ ไม่มีใครมาร้องไกด์ให้ด้วย สมัยนี้นักร้องหลายคนยังมีคนร้องไกด์ให้ก่อน หรือมีการเรียนมาก่อนจะมาอัด แต่สมัยพวกเราลุยเลย อินดี้สมัยเราคือไม่มีตัวช่วย ไม่มีซัพพอร์ต แต่อินดี้สมัยนี้ ถ้าเขามีความคิดสร้างสรรค์ มีคอมพ์ตัวคนเดียว เขาก็ทำได้แล้ว”

“คอนเสิร์ตก็เหมือนกัน เทคโนโลยีมันยังไม่เจริญ เสียงสังเคราะห์ยังไม่มี ก็มีแค่ไมค์กับลำโพง อย่างมากคือคุณภาพของไมค์กับลำโพง ไม่มีเอียร์มอนิเตอร์ ฮ่า ๆ ๆ มอนิเตอร์ยังไม่มีเลย ต้องวัดกันบนเวทีว่าใครจะรอด ขึ้นไปฟาดกันบนนั้นเลย” ทั้งสามช่วยกันเล่า

“แต่มันเป็นเรื่องวิวัฒนาการ เดี๋ยวจะคิดว่าสมัยก่อนต้องเก่งกว่าสมัยนี้ ไม่ใช่นะ เพียงแต่สมัยก่อนต้องดิ้นรน ต้องทำทุกอย่าง ต้องทำซ้ำ ๆ ๆ ๆ มันใช้เวลาในการเก่ง” แหม่มเสริม

การทำเพลง 10 อัลบั้มในเวลาเกือบ 10 ปี ถามว่ามีความอึดอัดหรือเบื่อไหม ปุ้มตอบว่า มี ตามประสาคนทำงานมาระยะยาว ในอัลบั้มหลัง ๆ ทั้งสามคนรู้สึกว่าตัวเองโตขึ้น แต่แฟนเพลงยังติดภาพสาว สาว สาว ที่ยังเป็นเด็กน่ารักสดใส ขณะที่ตัวพวกเธอเริ่มอึดอัดว่า ตัวเองโตขึ้นแล้ว ถ้าทำอะไรเหมือนเดิมมันจะยังน่าดูอยู่ไหม อยากให้เพลงและภาพลักษณ์โตตามความเป็นจริง

“แต่ก็ไม่ถึงขั้นฝืนใจทำ เราก็พยายามบิดให้มันมาเจอกันตรงกลาง คือ คงสิ่งที่คนดูคุ้นกับเราไว้ด้วย แล้วก็ผสมผสานไอเดีย วัยวุฒิที่เราเริ่มโตขึ้น บอกเลยว่า เริ่มแรกที่เราทำสาว สาว สาว เราไม่เคยคิดว่ามันจะ 10 อัลบั้ม เราคิดว่าเราจะได้ทำอะไรสนุก ๆ แป๊บเดียว ขำ ๆ ช่วงปิดเทอม ไม่มีใครเคยคิดมาก่อนว่าจะทำอาชีพนักร้องยาวมาถึง 10 ปี

มันคือแบบ… อ้าว มันยังได้อยู่เหรอ เขาตามไปเข้าห้องอัดอีกแล้ว อ้าวเหรอ มีอีกชุดเหรอ ไปเรื่อย ๆ สักพักเริ่มมีการมองหน้ากัน เฮ้ย เราเริ่มเบื่อแล้วนะ มันจะไปถึงตรงไหนวะ

ทุกคนเริ่มโต เริ่มมีบุคลิกของตัวเองที่ชัดเจนขึ้น มันก็เป็นธรรมดาที่… ไม่ไหวแล้วว่ะ ครั้นจะหน่อมแน้มชีวิตเราก็ไม่หน่อมแน้มแล้ว ครั้นจะโตเกินเพลง คนดูก็ยังอยากเห็นความน่ารักอยู่ แต่เราไม่น่ารักแล้วไง” แอมเล่า

“มันเป็นความอิ่มตัวมากกว่า อย่าเรียกว่าอึดอัดเลย คือไม่ได้อึดอัดกับการทำงาน มันคือเรื่องความเปลี่ยนแปลงของเรากับงาน ก็เหมือนกับย้ายที่ทำงานไปทำอะไรอย่างอื่นบ้าง” แหม่มเสริมต่อส่วนเรื่องความเหน็ดเหนื่อยทางกายนั้น สาว สาว สาวบอกว่า ไม่มี ด้วยความเป็นเด็กยังไม่รู้จักความเหนื่อย และด้วยความที่รับงานกันเพียงเดือนละ 3 งานเท่านั้น เพราะสมัยนั้นงานไม่เยอะ ไม่มีอีเวนต์อย่างทุกวันนี้ และครอบครัวของทุกคนตั้งกติกากันไว้ว่า ห้ามเสียการเรียน

“ต้องบอกว่าสังคมตอนนั้นกับตอนนี้ไม่เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าพ่อแม่จะอยากให้ลูกเป็นศิลปินอย่างตอนนี้นะคะ” แอมบอก ส่งต่อไปอีกประเด็นหนึ่ง

“ความเชื่อสมัยนั้น คำว่า “เต้นกินรำกิน” ยังอยู่” ปุ้มกล่าวต่อ

“ไม่มีใครอยากให้ลูกเป็นศิลปิน แต่เราเหมือนเป็นคนพลิก เพราะเราไม่ใช่นักร้องอาชีพ เราเป็นนักเรียน พอเราออกมาแล้วมันดัง ผู้ใหญ่ก็ไม่ได้รังเกียจ เพราะเขาเห็นว่าเด็กสามคนนี้มันยังเป็นนักเรียน ยังเรียนหนังสือ พี่แอมสอบเอนทรานซ์ติด เราเติบโตขึ้น ผู้ใหญ่ไม่ได้รู้สึกรังเกียจนักร้องสามคนนี้ มันก็เลยทำให้วัยรุ่นยุคนั้นมีไอดอล ซึ่งตอนนั้นเขาก็ยังไม่เรียกว่าไอดอลนะ ก็เรียกว่าเป็นแฟนเพลงธรรมดา มันก็เลยค่อย ๆ โตมาด้วยกันกับความเปลี่ยนแปลงของความเข้าใจของคนในประเทศว่า นักร้องไม่ได้เป็นอาชีพที่น่ารังเกียจ หรือไม่ได้เต้นกินรำกินเสมอไป มันก็ค่อย ๆ มีศิลปินคนอื่นเกิดขึ้นมา” แหม่มเล่าฉายภาพให้ชัดขึ้น

พอถามถึงเพลงที่ชอบที่สุด ปุ้มบอกว่า ตอบยาก แต่ถ้าอัลบั้มที่ชอบที่สุดสำหรับเธอ คือ “แมกไม้และสายธาร” เพราะชอบเสียงอะคูสติก คลีน ๆ ส่วนแหม่มบอกว่า ชอบอัลบั้มภาษาอังกฤษ “Because I Love You” เพราะนี่คือตัวตนของทั้งสามคน คือฟังเพลงฝรั่งมาตั้งแต่เด็ก และทุกเพลงที่เลือกมาร้องคือเพลงที่ชอบอยู่แล้ว ต่างจากเพลงไทยที่ต้องร้องโดยที่ไม่รู้ว่าเมโลดี้จะเป็นยังไง

“มีความแปลกอย่างหนึ่ง เพิ่งมาสังเกตตอนที่จะทำคอนเสิร์ตนี้ ต้องทำการบ้าน ก็เปิดยูทูบดูคอนเสิร์ตเก่า ๆ มันมีความมหัศจรรย์เกิดขึ้น คือ เฮ้ย ! ตอนนั้นคนน่ารักจริง ๆ เขามาดูเราจริง ๆ เราเอาเพลงอะไรไม่รู้ที่เขาไม่รู้จักเลยมาร้อง มาเต้นในคอนเสิร์ต คนก็มาดู สมัยนี้ถ้าทำคอนเสิร์ต เราต้องคิดว่าเพลงนี้ไม่เอา

คนไม่รู้จัก เดี๋ยวมันไม่เวิร์ก ต้องเลือกเพลงฮิต แต่สมัยนั้นไม่ได้แคร์ เพราะเขามาดูสามคนนี้จริง ๆ อยากร้องเพลงอะไรก็ร้อง เพราะเขามาดูสามคนนี้แสดง เขามาดูที่ตัวเรา เป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่ง ก็เพิ่งย้อนนึก” แอมเล่าอีกส่วนหนึ่งในความทรงจำขึ้นมา

ถามถึงคอนเสิร์ตที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีก 2 เดือนข้างหน้า สามสาวบอกว่า แฟน ๆ จะได้ฟังเพลงฮิตครบถ้วนแน่นอน ส่วนเรื่องการร้อง การเต้น และการแต่งตัว พวกเธอบอกว่า คงไม่ถึงขนาดย้อนอดีตกลับไปแต่งตัวแบบเดิม ร้องด้วยวิธีการแบบเดิม แต่จะร้องเพลงนั้นในความรู้สึกแบบปัจจุบัน การแต่งตัวจะยังมีความเป็นสาว สาว สาว อยู่บ้าง แต่ไม่ถึงขั้นก๊อบปี้ชุดตอนนั้นมาใส่

“ตัวตนของเราที่แฟน ๆ รู้จัก คือ เราเป็นพี่น้อง เราเป็นนักร้องอาชีพ ปัจจุบันพวกเราแต่งตัวแบบนี้ มันก็ยังมีสไตล์สาว สาว สาว อยู่ นั่นแหละคือสิ่งที่แฟนเพลงอยากเห็นเราในวันนี้ แต่เราน่ะอยากเห็นเขาในวันนู้น เขาคงอยากสนุกกับการแต่งตัว ซึ่งก็เอาเลย เราอยากเห็น ส่วนเราคงมิกซ์แอนด์แมตช์”

ผ่านมา 3 ทศวรรษ กับทุกอย่างที่พัฒนาขึ้น ทั้งทักษะการร้อง เทคโนโลยี เครื่องไม้เครื่องมือ รวมถึงอายุ ! สาว สาว สาว พูดถึงคอนเสิร์ตที่กำลังจะเกิดขึ้นว่า สิ่งที่น่าตื่นเต้นสำหรับพวกเธอเอง คือ ความเป็นสาว สาว สาว ในโปรดักชั่นใหม่ ในสเกลใหญ่ กับความสมบูรณ์ขององค์ประกอบต่าง ๆ ในยุคปัจจุบัน

…ไปดูกันว่า คอนเสิร์ตโลกดนตรีกลางแดดเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว กับคอนเสิร์ตในฮอล แสงสีเสียงจัดเต็ม จะให้ความรู้สึกเหมือนหรือต่างกันมากน้อยแค่ไหน อย่างไร แต่ที่แน่ ๆ คอนเสิร์ตนี้…ไม่ใช่ฝันไป