การซื้อเสื้อผ้าเกินจำเป็น ส่วนหนึ่งของ “วัฒนธรรมทิ้งขว้าง” ที่กำลังทำลายโลก

“Throwaway Culture” หรือ “วัฒนธรรมทิ้งขว้าง” เป็นปัญหาที่มีอยู่ในสังคม ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่เป็นปัญหาระดับโลกมาอย่างยาวนาน มีสาเหตุมาจากสังคมบริโภคนิยม การบริโภคมากเกินไป ทำให้มีการผลิตมากเกินความจำเป็น เมื่อมีการผลิตมากเกินความจำเป็น ก็จะมีของ “เหลือทิ้ง” ทำให้มีขยะมากเกินกว่าที่จะกำจัดได้ ไม่แปลกใจที่เราจะเห็นข่าววาฬเกยตื้นที่มีขยะอยู่ในท้องกว่า 100 กิโลกรัม หรือกวางตายเพราะกินกางเกงในพลาสติกเข้าไป

เสื้อผ้าเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่น่ากังวล และมีส่วนอย่างมากในวัฒนธรรมทิ้งขว้างนี้ ซึ่งส่งผลต่อสภาพแวดล้อมและความต้องการเชื้อเพลิง ในขั้นตอนการผลิตเสื้อผ้าจะมีการปล่อยคาร์บอนเป็นปริมาณมหาศาล แต่ละปีอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสร้างมลพิษมากเป็นอันดับ 2 รองจากอุตสาหกรรมน้ำมัน และทำให้เกิดขยะมากกว่า 10 ล้านตัน/ปี อีกทั้งยังต้องใช้พลังงานอย่างมากเพื่อการกำจัด ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนโดยตรง

สำนักข่าวรอยเตอร์สได้สัมภาษณ์ แอนนา วินทัวร์ (Anna Wintour) เจ้าแม่แห่งวงการแฟชั่น หัวเรือใหญ่แห่งกองบรรณาธิการนิตยสารโว้ก (Vogue) เธอเรียกร้องให้มีการตระหนักถึงคุณค่าของเสื้อผ้าที่สวมใส่ ตระหนักถึงการนำเสื้อผ้ากลับมาใส่ซ้ำ หรือแม้กระทั่งการส่งต่อเสื้อผ้าให้คนรุ่นต่อไปใช้ เพื่อลดวัฒนธรรมการใช้สิ่งของอย่างทิ้งขว้าง

แอนนากล่าวว่า “เราทุกคนควรใส่ใจในงานฝีมือ ความคิดสร้างสรรค์ และลดแนวคิดสำหรับเสื้อผ้าที่ใช้แล้วทิ้ง

“ทั้งหมดนี้อยู่ที่ว่าเราจะสื่อสารกับผู้อ่านนิตยสารอย่างไร ให้พวกเขาไม่ใช้เสื้อผ้าอย่างทิ้งขว้าง ให้คุณค่าแก่เสื้อผ้า และการเลือกใส่เสื้อผ้าที่มีอยู่ แทนที่จะซื้อใหม่ตลอดเวลา หรือแม้กระทั่งส่งต่อไปยังคนรุ่นลูกรุ่นหลาน หรืออะไรก็ตามที่พอจะทำได้” หัวเรือใหญ่แห่งนิตยสารโว้กกล่าวเสริม

จากรายงานเมื่อปี ค.ศ. 2016 โดย บริษัทแมคคินซี แอนด์ คอมปานี (McKinsey & Company) บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการระบุว่า การผลิตเสื้อผ้าทั่วโลกได้เพิ่มทวีเป็นเท่าตัว นับจากปี ค.ศ. 2000 ถึงปี ค.ศ. 2014 และปริมาณการซื้อเสื้อผ้าต่อคนเพิ่มขึ้นถึง 60% ต่อปี

ตัดภาพมาที่ประเทศไทย มีผลการวิจัยจาก YouGov เมื่อปี ค.ศ. 2017 ระบุว่า ราว 1 ใน 5 หรือ 17% ของคนไทย ทิ้งเสื้อผ้าที่ไม่ต้องการแล้วลงถังขยะ

ผลเสียจากวัฒนธรรมการทิ้งขว้างในเสื้อผ้ายังมีมากกว่านั้น อ้างอิงข้อมูลจากสถาบันทรัพยากรโลก (World Resources Institute) เชื่อหรือไม่ว่า เสื้อที่ทำจากผ้าฝ้าย 1 ตัว ต้องใช้น้ำในการปลูกฝ้ายถึง 2,700 ลิตร ซึ่งปริมาณน้ำขนาดนี้เพียงพอให้คน 1 คน ใช้ได้ถึง 2 ปีครึ่ง

ยิ่งไปกว่านั้น ในหนึ่งปีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมสิ่งทอ คิดเป็น 10% ของคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งโลก มากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตเนื้อวัวถึง 50%

จะเห็นได้ว่าแค่เพียงเราซื้อเสื้อผ้าเพิ่มอีกเพียงตัวหนึ่งนั้น กลับส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่คิดไว้มาก อย่างไรก็ตาม เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดวัฒนธรรมทิ้งขว้างนี้ลงได้ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนมุมมองของเราเองที่มีต่อการใส่เสื้อผ้า การใส่เสื้อผ้าตัวเดิม เพื่อลดการซื้อเสื้อผ้าใหม่ที่ไม่จำเป็น การคัดแยกเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วที่ยังสภาพดีอยู่ เพื่อส่งต่อให้คนที่ต้องการผ่านทางมูลนิธิต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการซ่อมแซมและย้อมเสื้อผ้าตัวโปรดให้กลับมาสภาพดีอีกครั้ง