ประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในต่างแดนที่มวลชนได้รับชัยชนะ

Photo AFP
ศิรินภา นรินทร์ : เรื่อง

การชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองในประเทศไทย ดำเนินมาตั้งแต่ต้นปี และหยุดไปหลังมีการระบาดของโควิด-19 ก่อนจะกลับมาร้อนระอุขึ้นอีกครั้งในช่วงเดือนกรกฎาคม นอกจากการชุมนุมในกรุงเทพมหานคร ยังมีการจัดชุมนุมในหลาย ๆ จังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

เวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมได้ยกระดับการชุมนุมและพยายามหลายวิถีทาง แต่ฝั่งรัฐบาลยังไม่ตอบรับข้อเรียกร้อง ขณะเดียวกัน ฝั่งผู้ชุมนุมก็สู้อย่างไม่ท้อถอย การต่อสู้ครั้งนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป ประชาชนจะได้รับชัยชนะหรือไม่ นี่ยังคงเป็นคำถาม

จากการเฝ้ามองสถานการณ์ในประเทศเราเอง ชวนให้มองออกไปยังประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกว่า มีการชุมนุมประท้วงของประชาชนครั้งไหนบ้างที่ประชาชนได้รับชัยชนะ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” จึงอยากชวนศึกษาประวัติศาสตร์การชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองในต่างประเทศที่ผู้ชุมนุมได้รับชัยชนะ มาดูกันว่าประเทศอื่น ๆ เขามีการเรียกร้องอะไรบ้าง อะไรคือเหตุผลที่ประชาชนลุกฮือขึ้นมาต่อสู้ และการต่อสู้ในครั้งนั้นจบลงอย่างไร

ชิลี : เริ่มจากการประท้วงขึ้นค่าโดยสาร

6 ตุลาคม 2019 กลุ่มนักเรียนมัธยมในกรุงซานติอาโก ของประเทศชิลี ออกมาประท้วงต่อต้านการขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้า นำไปสู่การเรียกร้องความเท่าเทียมในสังคม เงินบำนาญจากรัฐ รวมถึงเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาตั้งแต่สมัยเผด็จการออกุสโต ปิโนเชต์ในปี 1980

การประท้วงทวีความรุนแรงขึ้น มีการบุกเผาสถานีรถไฟฟ้าหลายแห่ง รัฐบาลจึงต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าทำการปราบจลาจลที่เกิดขึ้น ประธานาธิบดี เซบาสเตียน ปิเญรา ประกาศจะปฏิรูปประเทศพร้อมทำตามข้อเรียกร้องของประชาชนในการขึ้นค่าแรง เพิ่มเงินบำนาญจากทางภาครัฐ รวมถึงลดค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ แต่ไม่เป็นผลเพราะประชาชนต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ เหตุการณ์บานปลายขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ 2 หมื่นนายเข้ามาสลายการชุมนุมโดยการยิงแก๊สน้ำตาจนมีผู้เสียชีวิต 19 ราย

การชุมนุมยืดเยื้อและเริ่มกระจายไปทั่วประเทศกระทั่งในวันที่ 19 ธันวาคม 2019 รัฐสภาผ่านมติให้มีการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ และมีการลงประชามติไปเมื่อ 26 เมษายน 2020 ที่ผ่านมา ซึ่งผลปรากฏว่าคะแนนเห็นชอบให้มีการร่างรัฐธรรมนูญชนะอย่างถล่มทลาย

เกาหลีใต้ : ความบอบช้ำอันยาวนานกว่าจะเป็นประชาธิปไตย

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เกาหลีใต้ปกครองตัวเองในระบอบประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 1948 แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งพยายามสืบทอดอำนาจ มีการทำรัฐประหารบ่อยครั้ง ทำให้เกาหลีใต้อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการนานถึง 39 ปี

ประชาชนชาวเกาหลีใต้พยายามต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการเรื่อยมา ในยุคแรกเป็นการต่อต้านรัฐบาลของ นายรี ซึงมัน ประธานาธิบดีคนแรกของเกาหลีใต้ ก่อนถูกประชาชนประท้วงขับไล่ออกนอกประเทศในปี 1960 แต่ประเทศก็ยังไม่ทันได้เป็นประชาธิปไตย นายพลปาร์ก จุงฮี ได้ทำรัฐประหารรัฐบาลของ นายชาง เหมียน เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 1961 และเขียนรัฐธรรมนูญยูชินว่าด้วยการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ไม่จำกัดวาระ

หลังเหตุการณ์การลอบสังหารนายพลปาร์ก จุงฮี ในปี 1979 ประชาชนยังไม่ทันได้มีโอกาสเลือกตั้ง นายพลชอน ดูฮวาน และ นายพลโน แทอู ก็ทำรัฐประหาร พร้อมกับเลือกนายพลชอน ดูฮวาน เป็นประธานาธิบดี

เกาหลีใต้อยู่ในวัฏจักรการทำรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า ประชาชนเริ่มต่อต้านระบอบยูชินและความไม่ชอบธรรมในการบริหารประเทศ กระทั่งในวันที่ 18 พฤษภาคม 1980 นักศึกษาและประชาชนในเมืองกวางจูได้ออกมาชุมนุมประท้วง การชุมนุมลุกลามไปตามเมืองใหญ่ ๆ ทั่วประเทศ รัฐบาลประกาศกฎอัยการศึก มีการเข้าล้อมปราบผู้ชุมนุม ยิ่งสร้างแรงโกรธให้ประชาชนออกมารวมตัวกันมากขึ้น

การล้อมปราบกินระยะเวลามาจนถึงวันที่ 10 เจ้าหน้าที่เริ่มใช้กระสุนจริงกับผู้ชุมนุม แล้วเข้ายึดกวางจูได้สำเร็จในวันที่ 27 พฤษภาคม 1980 มีประชาชนเสียชีวิตเกือบ 200 คน บาดเจ็บกว่า 1,000 คน บ้างก็ว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำเกินความเป็นจริง เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นการนองเลือดที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลีใต้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ชอน ดูฮวาน ยอมลงจากอำนาจ

ตลอดยุคของนายพลชอน ดูฮวาน มีการเคลื่อนไหวต่อต้านอยู่ตลอด จนถึงวันที่ 9 มิถุนายน 1987 เกิดการปราบปรามผู้ชุมนุมอีกครั้งในมหาวิทยาลัยยอนเซ ทำให้ประชาชนทั่วประเทศหลายล้านคนลุกฮือออกมาเรียกร้องความยุติธรรมและให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ชอน ดูฮวาน ทนแรงกดดันไม่ไหวต้องลาออกก่อนหมดวาระ นายพลโน แทอู จึงประกาศในวันที่ 29 มิถุนายน 1987 ว่ายอมรับข้อเรียกร้องพร้อมแก้ไขรัฐธรรมนูญและพาประเทศสู่ประชาธิปไตย

หลังจากประเทศเริ่มเป็นประชาธิปไตย มีคำตัดสินเมื่อปี 1996 ให้ชอน ดูฮวาน ได้รับโทษประหารชีวิต แต่ต่อมาลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต ส่วนนายพลโน แทอู ถูกตัดสินจำคุก 22 ปี และได้ลดโทษลงเหลือจำคุก 17 ปี

Photo AFP

ฟิลิปปินส์ : การปฏิวัติเอ็ดซา โค่นตระกูลมาร์กอส

ฟิลิปปินส์อยู่ภายใต้การนำของ นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ประธานาธิบดี คนที่ 10 ของประเทศเป็นเวลานาน 21 ปี (ค.ศ. 1965-1986) ก่อนที่ประชาชนจะออกมาประท้วงและเกิด “การปฏิวัติเอ็ดซา” หรือ “การปฏิวัติสีเหลือง” ซึ่งเรียกชื่อตามที่ประชาชนใส่เสื้อสีเหลืองออกมาประท้วง

ขณะที่นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สมัยที่ 2 ฟิลิปปินส์เผชิญปัญหาเศรษฐกิจยังคงฝืดเคือง พบการทุจริตจำนวนมาก หนี้สาธารณะพุ่งสูงขึ้น กอปรกับเกิดการขยายอิทธิพลของแนวคิดคอมมิวนิสต์ ทำให้มาร์กอสประกาศกฎอัยการศึกในปี ค.ศ. 1972 เพื่อรักษาความสงบภายในประเทศ ในระยะเวลา 9 ปีที่ฟิลิปปินส์อยู่ภายใต้กฎอัยการศึก มาร์กอสได้ปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมวลชน และใช้อำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง

ในช่วงแรกของการประกาศใช้กฎอัยการศึก ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย แม้พบการทุจริต การใช้อำนาจเกินกว่าเหตุกับประชาชน แต่เพราะเศรษฐกิจกำลังเติบโต จึงทำให้นายมาร์กอสอยู่ในตำแหน่งได้อีกนาน

จนกระทั่งปี 1986 นางคอราซอน อาคิโน ภริยาของ นายเบนิญโญ อาคิโน ผู้นำฝ่ายค้านที่ถูกลอบสังหารเมื่อ 3 ปีก่อนหน้านั้นได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่นายมาร์กอสก็ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนน 53.62% ท่ามกลางข้อครหาเกี่ยวกับการโกงการเลือกตั้ง อีกทั้งเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง จึงเป็นชนวนเหตุให้ประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาล

การประท้วงในครั้งนั้นมีประชาชนนับหมื่นรวมทั้งทหารที่แปรพักตร์มาเข้าร่วมการชุมนุมกับประชาชนที่ถนนเอ็ดซา ในกรุงมะนิลา แม้จะมีความพยายามสลายการชุมนุมหลายครั้งแต่ก็ไม่เป็นผล วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1986 เกิดการปะทะกันระหว่างทหารของรัฐบาลและทหารที่แปรพักตร์ทำให้มีผู้เสียชีวิต ในวันเดียวกันประชาชนนับล้านสวมเสื้อสีเหลืองซึ่งเป็นสีสำหรับการเลือกตั้งออกมาเดินประท้วงขับไล่ประธานาธิบดี ซึ่งการชุมนุมในครั้งนี้ถูกจารึกไว้ว่าเป็น People Power หรือ The Philippine Revolution of 1986

จากเหตุการณ์นั้นนายมาร์กอสตัดสินใจลี้ภัยทางการเมืองไปยังสหรัฐอเมริกา ก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา หลังจากนั้น รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 25 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันหยุดราชการ และได้สร้างอนุสาวรีย์ไว้ที่ถนนเอ็ดซา เพื่อรำลึกถึงพลังการต่อสู้ของมวลชน

Photo AFP

อินโดนีเซีย : โศกนาฏกรรม 12 พฤษภาคม 1998

หลังจากรวมหมู่เกาะน้อยใหญ่ต่อสู้ประกาศเอกราชจากการเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ได้ในปี 1945 นายซูการ์โน ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของอินโดนีเซียมาเป็นเวลานานถึง 22 ปี ก่อนจะโดน นายพลซูฮาร์โต ผู้เป็นลูกน้องยึดอำนาจและแต่งตั้งตัวเองเป็นประธานาธิบดี คนที่ 2 ในปี 1967

ตลอดการดำรงตำแหน่งของนายพลซูฮาร์โต ประเทศอินโดนีเซียมีการพัฒนาในหลาย ๆ ด้าน แต่ขณะเดียวกันก็พบการทุจริตในระบบราชการ การเอื้อผลประโยชน์แก่พรรคพวก นายทุนใหญ่ จนระบบเศรษฐกิจถูกผูกขาด อีกทั้งยังมีการปราบปราม จับกุม และสังหารผู้ที่ต่อต้านรัฐบาล

วิกฤตต้มยำกุ้งในไทยเมื่อปี 1997 ส่งผลกระทบไปยังประเทศในเอเชีย รวมทั้งอินโดนีเซีย เกิดปัญหาการว่างงาน เศรษฐกิจย่ำแย่ แม้จะมีการเลือกตั้งใหม่ แต่พรรคของนายพลซูฮาร์โตก็ยังคงครองเสียงส่วนใหญ่ในสภา ปัญหาปากท้องของประชาชนไม่ได้รับการแก้ไข เป็นเชื้อเพลิงที่ทำให้ประชาชนเริ่มลุกขึ้นมาต่อต้าน

การชุมนุมประท้วงเริ่มตั้งแต่ต้นปี 1998 โดยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยตรีศักติ ในกรุงจาการ์ตา ก่อนจะเดินขบวนประท้วงมุ่งหน้าสู่รัฐสภาในวันที่ 12 พฤษภาคม 1998 ระหว่างนั้นมีมือปืนซุ่มยิงนักศึกษา ทำให้มีผู้เสียชีวิต
4 ราย แต่ทางการไม่สามารถจับตัวผู้กระทำผิดได้ ส่งผลให้ประชาชนก่อจลาจลเผาบ้านเผาเมือง มีประชาชนเสียชีวิตกว่า 1,000 คน

นายพลซูฮาร์โตพยายามจะแก้ไขสถานการณ์ แต่ก็ไม่สามารถต้านทานพลังของประชาชนได้ ในที่สุดเขาก็ประกาศลาออกในวันที่ 21 พฤษภาคม 1998 สิ้นสุดการครองอำนาจมาอย่างยาวนานถึง 31 ปี หลังหมดอำนาจหลายฝ่ายได้พยายามดำเนินคดีเกี่ยวกับการทุจริตของนายพลซูฮาร์โต แต่ด้วยปัญหาสุขภาพของเขาจึงมีการยุติการดำเนินคดีในปี 2000 และต่อมาเขาถึงแก่อสัญกรรมในปี 2008

Photo AFP

ฝรั่งเศส : ปฏิวัติระบบการศึกษา

ฝรั่งเศสเข้าสู่ยุคสาธารณรัฐที่ 5 ในปี ค.ศ. 1958 มีประธานาธิบดีคนแรกหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ คือ นายพลชาร์ลส เดอ โกล ทหารผู้มีบทบาทสำคัญในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นผู้ที่ทำให้เศรษฐกิจของฝรั่งเศสเจริญรุ่งเรืองอย่างมากในช่วงที่บริหารประเทศ

ขณะที่ นายพลเดอ โกล ดำรงตำแหน่ง แม้ว่าประเทศจะเจริญรุ่งเรือง ภาคอุตสาหกรรมเติบโตอย่างมาก แต่ด้วยความเจริญที่ไม่สมดุลกับระบบการศึกษาที่ล้าหลัง การขยายโรงเรียนมหาวิทยาลัยไปยังเมืองต่าง ๆ เพื่อมารองรับจำนวนผู้เรียนที่เพิ่มขึ้นทำได้ล่าช้า ส่งผลให้นักศึกษารวมตัวกันประท้วงเพื่อเรียกร้องให้มีการปรับปรุงระบบการศึกษา

การเคลื่อนไหวของนักศึกษาเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 1968 โดยนัดรวมตัวกันที่มหาวิทยาลัยปารีส วิทยาเขตนองแตร์ การชุมนุมยืดเยื้อมาจนถึงเดือนพฤษภาคม มีการสั่งปิดมหาวิทยาลัยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาปราบจลาจล จึงเกิดการปะทะกันระหว่างนักศึกษากับเจ้าหน้าที่ มีนักศึกษากว่าร้อยคนถูกจับและถูกดำเนินคดี

เหตุการณ์ปิดมหาวิทยาลัยส่งผลให้กลุ่มสหภาพนักเรียน นักศึกษาในฝรั่งเศสออกมาประท้วง พร้อมประกาศ 3 ข้อเรียกร้อง คือ 1.ยกเลิกคดีที่นักศึกษาโดนจับ 2.ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจออกจากพื้นที่มหาวิทยาลัย 3.ให้เปิดมหาวิทยาลัยตามปกติ ซึ่งทางรัฐบาลได้ตอบรับข้อเสนอดังกล่าว จึงทำให้ผู้ชุมนุมบางส่วนได้กลับบ้านไป แต่ภายในคืนนั้นกลับมีการโจมตีจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้ประชาชนหลายคนได้รับบาดเจ็บ

ข่าวการปราบปรามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้เช้าวันรุ่งขึ้นสหภาพแรงงานประกาศนัดหยุดงานทั่วประเทศ และออกไปประท้วงต่อเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นในกรุงปารีส มีนักเรียน นักศึกษา และประชาชนเข้าร่วมกว่า 8 แสนคน และทั่วประเทศมีผู้เข้าร่วมรวมกว่า 9 ล้านคน ซึ่งถือเป็นการชุมนุมประท้วงที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส

ในปลายเดือนพฤษภาคม ทางรัฐบาลเสนอให้มีการปฏิรูปมหาวิทยาลัย และปรับปรุงระบบเศรษฐกิจ ทำให้สถานการณ์คลี่คลายลง ท้ายที่สุดนายพลเดอ โกล ยังคงปฏิเสธการลาออก แต่ให้มีการจัดการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 23 มิถุนายนปีเดียวกัน ภายหลังการเลือกตั้งได้นายฌอร์ฌ ปงปีดู ซึ่งมาจากพรรคของนายพลเดอ โกล เป็นประธานาธิบดีคนต่อมา