วิกฤต 3 ครั้งในประวัติศาสตร์ราชวงศ์วินด์เซอร์ ก่อนถึงวิกฤตแฮร์รี่-เมแกน

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

ปัญหารอยร้าวระหว่างราชวงศ์อังกฤษกับฝั่งเจ้าชายแฮร์รี่ ดยุกแห่งซัสเซ็กซ์ และพระชายา เมแกน ดัชเชสแห่งซัสเซ็กซ์ ปรากฏเป็นข่าวขึ้นมาทีไรก็เหมือนว่าจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ รอยแยกห่างออกมากจนยากจะประสาน ล่าสุดที่เป็นข่าวดังทั่วโลกคือกรณีที่เจ้าชายแฮร์รี่กับเมแกนให้สัมภาษณ์ในรายการทีวีของโอปราห์ วินฟรีย์

การให้สัมภาษณ์ครั้งนี้สั่นสะเทือนราชวงศ์อังกฤษมาก ๆ เมื่อเมแกนบอกว่าราชวงศ์อังกฤษเหยียดสีผิว และใจร้ายกับเธอมาก ฝั่งราชวงศ์แก้ไขสถานการณ์โดยออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อสิ่งที่เจ้าชายแฮร์รี่และเมแกนต้องเผชิญ และข้อความที่มีความหมายว่า ไม่เคยมีการเหยียดสีผิวโดยเจตนา แต่เคยมีการพูดถึงเรื่องนี้ภายในครอบครัวหรือไม่นั้น ในแถลงการณ์ไม่ได้ชี้แจงละเอียด แต่ระบุว่าจะหารือแก้ปัญหาภายในครอบครัว

ความเห็นต่อกรณีนี้แตกออกอย่างน้อย ๆ 2 ฝั่ง ทั้งฝั่งที่เห็นใจแฮร์รี่-เมแกน และฝั่งที่เห็นใจราชวงศ์ ซึ่งความจริงเท็จเป็นอย่างไร เราไม่อาจจะไปหาคำตอบและสรุปได้ในตอนนี้

อย่างไรก็ตาม ปัญหาหรืออาจจะเรียกว่าวิกฤตที่ราชวงศ์เผชิญอยู่ในตอนนี้ ทำให้นึกถึงวิกฤตครั้งก่อน ๆ ในประวัติศาสตร์ของราชวงศ์วินด์เซอร์ ซึ่งตลอดเวลา 104 ปีที่ผ่านมา ราชวงศ์นี้เจอวิกฤตมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็แก้ปัญหาหรือพยุงตัวเองผ่านวิกฤตมาได้ทุกครั้ง เคยเกิดอะไรกับพวกเขามาบ้าง “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” อยากชวนอ่านที่เราสรุปมาต่อไปนี้

พระเจ้าจอร์จที่ 5 – พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2

ราชวงศ์วินด์เซอร์ ราชวงศ์ที่เกิดจากวิกฤต

เมื่อพูดถึงวิกฤตในราชวงศ์วินด์เซอร์ เราจะพูดถึงแค่ในระยะเวลา 104 ปีที่ก่อตั้งราชวงศ์ขึ้นมาไม่ได้ แต่ต้องย้อนไปที่เรื่องราวก่อนหน้านั้น เพราะว่าแท้จริงแล้ว ราชวงศ์วินด์เซอร์นั้นถูกก่อตั้งขึ้นมาก็เพื่อให้ราชวงศ์ผ่านพ้นวิกฤต ดังนั้นการนับวิกฤตของราชวงศ์วินด์เซอร์ที่ต้องเจอ จึงต้องนับวิกฤตแรกตั้งแต่ก่อนจะมีการก่อตั้งราชวงศ์นี้ขึ้นมา

ราชวงศ์วินด์เซอร์ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1917 โดยพระเจ้าจอร์จที่ 5 ซึ่งเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 และเป็นหลานย่าของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย พระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่มากคนหนึ่งในประวัติศาสตร์อังกฤษ

ในยุคสมัยก่อน การเปลี่ยนราชวงศ์มักจะหมายถึงเปลี่ยนสายอำนาจไปเลยโดยสิ้นเชิง มีการปราบราชวงศ์เก่า แย่งชิงอำนาจมา และผู้ชิงอำนาจก็ก่อตั้งราชวงศ์ใหม่ แต่สำหรับราชวงศ์วินด์เซอร์ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ราชวงศ์วินด์เซอร์ไม่ได้เป็นราชวงศ์ใหม่ แต่เป็นทายาทสายตรงของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียผู้ยิ่งใหญ่ในยุคที่จักรวรรดิอังกฤษครองโลก

สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเป็นกษัตริย์ในราชวงศ์ฮันโนเวอร์ (House of Hanover) ซึ่งเป็นราชวงศ์เยอรมันที่ปกครองเกาะบริเตนใหญ่มาเป็นเวลาร้อยกว่าปีก่อนจะมาถึงรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย และนับเมื่อสิ้นรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียก็เป็นเวลากว่า 200 ปี 

สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงแต่งงานกับเจ้าชายอัลเบิร์ต แห่งราชวงศ์ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา (Saxe-Coburg and Gotha-ราชวงศ์ซึ่งครองรัฐหนึ่งในดินแดนเยอรมนีสมัยนั้น) 

ในรัชสมัยถัดมา พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 พระราชโอรสของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียกับเจ้าชายอัลเบิร์ต ต้องอยู่ในราชวงศ์ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทาของพระราชบิดา จึงถือว่าอังกฤษถูกปกครองโดยราชวงศ์ใหม่ แต่ยังเป็นทายาทสายตรงสายเดิมของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย 

ถัดมา เมื่อพระเจ้าจอร์จที่ 5 พระราชโอรสของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ขึ้นครองราชย์ในปี 1910 ราชวงศ์เชื้อสายอังกฤษที่ครองบัลลังก์อย่างยิ่งใหญ่มานานถูกท้าทายโดยยุคสมัย ความเปลี่ยนแปลง และสงคราม

การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองล้มล้างระบอบกษัตริย์ในประเทศต่าง ๆ ในยุโรป บวกกับกระแสสังคมในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ประชาชนอังกฤษเกลียดชังเยอรมัน เป็นวิกฤตที่ราชวงศ์อังกฤษเลือดเยอรมันต้องเผชิญ วิกฤตครั้งใหญ่นี้ถึงขั้นชี้เป็น-ชี้ตาย ตัดสินอนาคตของราชวงศ์ จึงเป็นเหตุผลให้พระเจ้าจอร์จที่ 5 ต้องหาทางให้ราชวงศ์อยู่รอด

ตามไทม์ไลน์ในปี 1917 สิ่งที่พระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงทำก่อนคือ การตัดใจไม่ช่วยเหลือญาติที่อาจจะนำภัยมาสู่ราชวงศ์ของพระองค์

ในสงครามโลกครั้งที่ 1 แม้ว่าอังกฤษกับรัสเซียอยู่ฝ่ายเดียวกัน แต่ประชาชนชาวอังกฤษก็เกลียดรัสเซียด้วย เนื่องจากเบื่อหน่ายสงครามเต็มที พระเจ้าจอร์จที่ 5 ก็ทรงทราบถึงกระแสนี้ จึงให้รัฐบาลอังกฤษปฏิเสธคำขอลี้ภัยของ (อดีต) พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 หลังจากการปฏิวัติในรัสเซีย ทำให้ครอบครัว (อดีต) พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ต้องอยู่ในรัสเซียต่อไป และถูกสังหารในที่สุด

พระเจ้าจอร์จที่ 5 และสมาชิกราชวงศ์เสด็จฯ เยี่ยมประชาชนในเหมืองแร่ (Photo by – / INTERCONTINENTALE / AFP)

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดของราชวงศ์นี้เกิดขึ้นในวันที่ 17 กรกฎาคม 1917 คือการเปลี่ยนชื่อราชวงศ์ แม้ว่าจะกรีดเลือดเยอรมันในตัวทิ้งไปไม่ได้ แต่พระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงคิดว่า การเปลี่ยนชื่อราชวงศ์จากชื่อเยอรมันให้เป็นชื่ออังกฤษน่าจะช่วยได้ พระองค์สรรหาชื่อราชวงศ์ใหม่ โดยมีราชเลขานุการและที่ปรึกษาเสนอชื่อต่าง ๆ รวมทั้งชื่อราชวงศ์ที่เคยปกครองอังกฤษมาก่อน อย่าง “ทิวดอร์” แต่ในที่สุดพระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงพอพระทัยชื่อ “วินด์เซอร์” มาจากชื่อพระราชวังวินด์เซอร์นั่นเอง

นอกจากนั้น พระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงเริ่มเสด็จออกเยี่ยมประชาชน ซึ่งก่อนหน้านั้นราชวงศ์ไม่เคยทำมาก่อน

การ “รีแบรนด์” ราชวงศ์โดยพระเจ้าจอร์จที่ 5 ไม่เพียงแต่พาราชวงศ์นี้ผ่านพ้นวิกฤตมาได้ แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ราชวงศ์วินด์เซอร์ได้รับความนิยมจากประชาชนชาวอังกฤษอย่างมาก

 

คิงเอ็ดเวิร์ดที่ 8 สละบัลลังก์เพื่อแต่งงานกับหญิงต้องห้าม

พระเจ้าจอร์จที่ 5 มีพระราชโอรส 4 พระองค์ และพระราชธิดา 1 พระองค์ เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด (เจ้าชายเดวิด) โอรสองค์โตที่เป็นว่าที่กษัตริย์นั้นมีรูปงาม เฉลียวฉลาด มีคุณสมบัติหลายอย่างที่พร้อมสำหรับเป็นกษัตริย์ ขณะที่เจ้าชายอัลเบิร์ต โอรสองค์รองไม่มีคุณสมบัติที่เหมาะสม ทั้งเรื่องความเฉลียวฉลาด บุคลิกภาพ และสุขภาพทางกาย

ฟังดูก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร เมื่อรัชทายาทอันดับที่ 1 ก็มีความเพียบพร้อม และทรงงานในตำแหน่ง “เจ้าชายแห่งเวลส์” ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น เป็นที่พอพระทัยของพระบิดาอยู่แล้ว แต่เค้าลางปัญหาอยู่ตรงที่ว่า แม้ในวัย 40 ปีแล้ว เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดก็ยังไม่ได้แต่งงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ราชวงศ์กังวลหนักมาก

“หลังจากฉันตาย เขาคงทำให้ตัวเองย่อยยับภายใน 12 เดือน” คำกล่าวของพระเจ้าจอร์จที่ 5 ที่เผยความสิ้นหวังในช่วงบั้นปลายชีวิต

ขณะที่องค์รัชทายาทยังไม่แต่งงาน เจ้าชายอัลเบิร์ต โอรสองค์รองของกษัตริย์แต่งงานแล้ว และมีพระธิดา 2 คน คือ เจ้าหญิงเอลิซาเบธ กับเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต

วอลลิส ซิมป์สัน – อดีตคิงเอ็ดเวิร์ดที่ 8

หลังจากที่พระเจ้าจอร์จที่ 5 สวรรคตในเดือนมกราคมปี 1936 เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดก็สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระบิดา ทันทีที่พระองค์ขึ้นครองราชย์ วิกฤตของราชวงศ์ก็เกิดขึ้น เนื่องจากพระองค์ต้องการแต่งงานกับหญิงคนรักที่เริ่มความสัมพันธ์กันตั้งแต่ปี 1934

วอลลิส ซิมป์สัน คือชื่อของเธอ เธอเป็นชาวอเมริกันที่ผ่านการแต่งงานและหย่าร้างมาแล้ว 1 ครั้ง และในขณะที่ทั้งคู่คบหากันนั้น เธอก็ยังอยู่ในสถานะสมรสครั้งที่ 2 ยังไม่ได้หย่ากับสามี

กษัตริย์อังกฤษอยู่ในฐานะประมุขคริสตจักรแห่งอังกฤษด้วย ซึ่งตามตำแหน่งนี้ไม่สามารถแต่งงานกับผู้หญิงที่ผ่านการแต่งงานได้ และยังมีความไม่เหมาะสมอื่น ๆ ดังนั้นแน่นอนว่าราชวงศ์คัดค้านการแต่งงานอย่างหนัก แต่กษัตริย์องค์ใหม่ก็หาทางจะให้การแต่งงานเกิดขึ้นให้ได้

คิงเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ทรงเห็นว่าพระองค์ได้รับความนิยมจากประชาชนมาก จึงคิดว่าประชาชนจะอยู่ข้างพระองค์ แต่เมื่อเรื่องนี้เปิดเผย ผลออกมาปรากฏว่าไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง ประชาชนมีให้ 2 ทางคือ 1.สละราชบัลลังก์ 2.ล้มเลิกความคิดจะแต่งงานกับผู้หญิงคนนี้ ซึ่งไม่มีคุณสมบัติจะเป็นราชินี

สมาชิกราชวงศ์ในรัชสมัยพระเจ้าจอร์จที่ 6

ในที่สุด กษัตริย์หนุ่มก็เลือกความรัก ทรงสละราชบัลลังก์เพื่อจะแต่งงานและใช้ชีวิตกับผู้หญิงที่ตนเองรัก ส่งผลให้เจ้าชายอัลเบิร์ต ดยุกแห่งยอร์ก รัชทายาทลำดับที่ 2 ต้องขึ้นเป็นกษัตริย์ทันที พระองค์ทรงเลือกชื่อ พระเจ้าจอร์จที่ 6 ต่อจากพระราชบิดา

วิกฤตครั้งนี้เปลี่ยนชีวิตครอบครัว “ยอร์ก” ไปตลอดกาล จากสมาชิกราชวงศ์ที่ต้องการใช้ชีวิตในชนบทอย่างสงบสุข ต้องมารับภาระที่ (คิดว่า) เกินกำลังเหลือเกิน เป็นเหตุให้ครอบครัวนี้ โดยเฉพาะพระราชินีเอลิซาเบธ พระบรมราชชนนี ไม่อาจยกโทษให้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 กับวอลลิส ซิมป์สัน ได้เลยตลอดเวลาหลายสิบปี หรือจนถึงบั้นปลายชีวิตเลยก็ว่าได้

ไม่เพียงเท่านั้น อดีตคิงเอ็ดเวิร์ดยังทำให้ราชวงศ์ปวดหัว เพราะพระองค์สานสัมพันธ์กับพรรคนาซี พระองค์และชายาทรงเดินทางไปเยือนเยอรมนีและได้รับการต้อนรับอย่างดีจากพรรคนาซี นั่นก็ยิ่งทำให้พระเจ้าจอร์จที่ 6 และราชวงศ์มองเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดเป็นตัวสร้างปัญหามากขึ้นอีก

 

เจ้าหญิงไดอาน่า ความขัดแย้งครั้งใหญ่ของราชวงศ์

ควีนเอลิซาเบธที่ 2 พระราชธิดาองค์โตของพระเจ้าจอร์จที่ 6 ทรงครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาเมื่อปี 1952 ในเจเนอเรชั่นของพระองค์เองก็มีปัญหาให้แก้อยู่ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ยังไม่ถึงขั้นจะนับว่าเป็นวิกฤต

วิกฤตจริง ๆ ของราชวงศ์วินด์เซอร์เกิดขึ้นอีกครั้งในทศวรรษ 1980 เมื่อเจ้าฟ้าชายชาร์ลส เจ้าชายแห่งเวลส์แต่งงาน

เนื่องจากปมเรื่องพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 เป็นแผลที่ฝังใจครอบครัวของพระราชินีเป็นอย่างมาก เจ้าฟ้าชายชาร์ลสจึงเติบโตมาด้วยความกดดันอย่างสูง ทรงถูกปลูกฝังให้รับผิดชอบต่อหน้าที่เหนือความรู้สึกส่วนตัวเสมอ

สมาชิกราชวงศ์ร่วมงานแต่งเจ้าฟ้าชายชาร์ลสกับเจ้าหญิงไดอาน่า

เจ้าชายแห่งเวลส์พยายามมากพอสมควร แต่ก็ไม่สำเร็จ ในวัยหนุ่มพระองค์รักผู้หญิงคนหนึ่งมาก ๆ เธอคนนั้นชื่อ คามิลล่า โรสแมรี่ ชานด์ (คามิลลา ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นคนที่ไม่ผ่าน qualified จึงจำต้องเลิกรากันไป เจ้าฟ้าชายชาร์ลสทุกข์ตรมกับรักที่เป็นไปไม่ได้ ขณะเดียวกันก็เสาะหาผู้หญิงที่คู่ควรจนได้เจอกับ ไดอาน่า สเปนเซอร์ สาวแรกรุ่นจากตระกูลชนชั้นสูง มีฐานะและมีความใกล้ชิดกับราชวงศ์

เมื่อเจอคนที่ราชวงศ์พอใจ เจ้าฟ้าชายชาร์ลสจึงถูกเร่งรัดให้แต่งงานกับไดอาน่า โดยที่ทั้งสองคนยังไม่ได้ศึกษารู้จักกันดี งานอภิเษกสมรสที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นในวันที่ 29 กรกฎาคม 1981 ท่ามกลางความสนใจของคนในหลายประเทศทั่วโลก

เมื่อเจ้าหญิงไดอาน่าเข้ามาเป็นสมาชิกราชวงศ์ เธอทำสิ่งที่ตรงข้ามกับที่ราชวงศ์คาดหวัง เธอแหวกกฎแทบทุกข้อ เธอทำหลายสิ่งที่ราชวงศ์ไม่เคยทำกัน แต่ขณะเดียวกัน เธอก็ทำให้ภาพลักษณ์ของราชวงศ์ดูร่วมสมัย ทำให้ราชวงศ์ได้รับความนิยมขึ้น แต่ความนิยมนั้นก็พุ่งตรงไปที่ตัวเธอ ชนิดที่เรียกว่าเป็น “ดาวเด่น” อยู่คนเดียว

เจ้าฟ้าชายชาร์ลส กับเจ้าหญิงไดอาน่า

ด้านชีวิตคู่ของเจ้าฟ้าชายชาร์ลสกับเจ้าหญิงไดอาน่ามีช่วงที่สวยงามชวนฝันดั่งเทพนิยายอยู่ไม่นาน ชีวิตจริงของมนุษย์เดินดินก็ปรากฏ เจ้าฟ้าชายชาร์ลสไม่สามารถตัดใจจากคนรักของพระองค์ได้ ยังคงติดต่อกันตลอด เมื่อเจ้าหญิงไดอาน่ารู้ความจริง ชีวิตคู่ก็เริ่มแย่ลง ๆ

การมีเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี่ก็ไม่สามารถเป็นโซ่ทองคล้องใจได้ตลอดไป เจ้าฟ้าชายชาร์ลสมักจะไปใช้เวลาส่วนตัวกับคามิลล่า ส่วนฝั่งเจ้าหญิงไดอาน่าเมื่อไม่ได้รับความรักจากสามีก็ไปหาความรักจากชายอื่น นำไปสู่การประกาศแยกกันอยู่ในปี 1992 และหย่ากันในปี 1996

ราชวงศ์อังกฤษกับเจ้าหญิงไดอาน่าต่อสู้กันอยู่นานหลายปี ไม่รู้ว่าเรื่องราวจะจบอย่างไรหากไม่เกิดโศกนาฏกรรมขึ้น

ปี 1997 เจ้าหญิงไดอาน่าสิ้นพระชนม์จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ในประเทศฝรั่งเศส ขณะกำลังหนีการไล่ล่าของปาปารัซซี่ ประชาชนทั้งชาวอังกฤษและชาวต่างชาติที่รักเจ้าหญิงไดอาน่าต่างร่ำไห้ ร่วมวางดอกไม้แสดงความอาลัย

งานศพเจ้าหญิงไดอาน่า (Photo by ADAM BUTLER / POOL / AFP)

ราชวงศ์อังกฤษถูกจับตามองว่าจะมีท่าทีอย่างไรต่อการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงซึ่งมีคะแนนนิยมมากกว่า พระราชินีที่ปกติแล้วจะไม่แสดงสีหน้าและความรู้สึกใด ๆ ต่อหน้าสาธารณชน แสดงความรู้สึกเป็นครั้งแรกในเหตุการณ์นี้ พระราชินีและสมาชิกราชวงศ์เสด็จมาวางดอกไม้แสดงความเสียใจท่ามกลางประชาชนและมวลมหาดอกไม้ พระราชินีกล่าวแสดงความเสียใจออกทางโทรทัศน์ และในพิธีศพที่มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ พระราชินีก้มพระเศียรเมื่อขบวนพระศพเจ้าหญิงไดอาน่าเคลื่อนผ่าน

การแสดงออกเหล่านี้ช่วยให้ภาพลักษณ์ของราชวงศ์ดีขึ้นมากในสายตาประชาชนที่รักเจ้าหญิงไดอาน่า จะด้วยคำปรึกษาจากใครบ้างก็ตาม บรรดาผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับราชวงศ์มองว่าครั้งนี้ราชวงศ์ โดยเฉพาะสมเด็จพระราชินีทำได้ดี

เมื่อมองย้อนไปยังช่วงวิกฤตนี้ นักเขียน-นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับราชวงศ์อังกฤษแสดง
ความเห็นว่า เจ้าฟ้าชายชาร์ลสเลือกคนได้ผิดพลาดที่สุด นี่เป็นความขัดแย้งที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของราชวงศ์ การที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลสพยายามทำสิ่งที่ถูกต้องโดยแต่งงานกับไดอาน่าที่คิดว่าเหมาะสมแล้ว กลับทำให้เกิดหายนะเร็วขึ้น และหลายคนเห็นตรงกันว่า นี่เป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดของราชวงศ์วินด์เซอร์นับตั้งแต่การสละราชบัลลังก์ของคิงเอ็ดเวิร์ดที่ 8

 

อ้างอิง : สารคดี The Royal House of Windsor