พิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล Passion to Success วิศวกรหญิงดีเด่น 2564

พิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล
กษมา ศิริกุล : เรื่อง
ธนศักดิ์ ธรรมบุตร : ภาพ

จะมีเด็กผู้หญิงสักกี่คนที่รู้ใจตัวเองตั้งแต่วัยเด็กว่า “ฉันอยากเป็นวิศวกร” และยังโชคดีที่มีโอกาสได้ทำงานตามฝัน

“พิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล” วิศวกรหญิงดีเด่นประจำปี 2564 เธอคือเด็กหญิงคนนั้น

“พิมพ์ใจ” หรือ “พี่หมู” เปิดใจกับ “ประชาชาติธุรกิจ” หลังจากรับรางวัลนี้ใหม่ ๆ หมาด ๆ จากสมาคมวิศวกรหญิงไทย เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2564 เนื่องในโอกาสวันวิศวกรหญิงนานาชาติ หรือ International Women in Engineering Day 2021 ในวัย 60 ปี (พร้อมกับอีก 2 ท่านคือ น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดีอีเอส และ น.ส.กมลวัทน์ สุขสุเมฆ ซีอีโอ บริษัท เอช แล็บ จำกัด)

หากถามคนในแวดวงธุรกิจ เธอถือว่าเป็นนักธุรกิจหญิงแถวหน้าของไทย ด้วยตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร บมจ. IRC ผู้ผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์ พ่วงกับอีก 20 ตำแหน่งในองค์กรต่าง ๆ รวมถึงในตำแหน่งรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

จุดเริ่มต้นการเข้าสู่วิชาชีพ “วิศวกร”

ย้อนไปในวัยเด็ก “แรงบันดาลใจ” การก้าวสู่อาชีพ “วิศวกรหญิง” หรือที่เรียกกันว่า “นายช่างหญิง” มาจากการเติบโตในครอบครัว “ลี้อิสสระนุกูล” ซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวกับชิ้นส่วนยานยนต์ แต่ในบรรดาพี่น้องไม่ได้มีใครเป็นวิศวกรสักคน

“วัยเด็กคุณปู่ทำโรงเรียนกนกอาชีวะศึกษา ซึ่งคุณแม่จะพาพี่ไปเล่น ที่นั่นช็อปที่ได้รับการสนับสนุนจากมิตซูบิชิ มีรถยนต์ผ่าซีกให้ดู เราจึงคุ้นเคย พอเข้ามาเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จึงเลือกเรียนสายวิทย์ ซึ่งถ้าไม่ไปเป็นหมอ ก็ต้องวิศวกร แต่ด้วยความที่คุณพ่อจะมอมแมมกลับบ้าน โดยเฉพาะเวลาที่ไปทำงานที่โรงงานยางไออาร์ซี สมัย 50 ปีที่แล้ว เรียกว่ายุค Industial 1.0 ที่ไทยเปลี่ยนจากยุคเกษตรสู่อุตสาหกรรมเริ่มมีเครื่องจักรกล ตอนนั้นในหัวคิดว่าจะเอาเทคโนโลยีมาใช้เก็บฝุ่น ทำโรงงาน IRC ให้สะอาดไปเลย” (หัวเราะ)

Passion ในอาชีพวิศวะ

สมัยก่อนการสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยถือว่ายากมาก มีให้เลือก 6 อันดับ เราเลือกแค่ 4 อันดับ เลือก “คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เป็นอันดับหนึ่ง รุ่นนั้นมีผู้หญิง 16 คน จากทั้งหมด 377 คน หลังจากสอบเข้าได้ก็ได้สอบคัดเลือกสาขาเอก คือ วิศวอุตสาหการ โดยทำคะแนนเข้าเป็นอันดับ 1 ของแผนก

เมื่อจบมาเรายืนยันเป้าหมายว่าอยากเป็นวิศวกรเหมือนเดิม

“เราชอบการเป็นวิศวะจริง ๆ สมัยเรียนหลับตาแล้วเห็นสูตรเลย ฝังอยู่ในหัวมาตั้งแต่เด็ก และความที่เป็นคนที่พัฒนาไม่หยุด พอมาทำบริษัทเราจึงต่อยอด IRC Asia Research ทำวิจัยและพัฒนา ต่อยอดธุรกิจ จากในอดีตจุดเริ่มต้นยอดขาย 700-800 ล้านบาท มาสู่หลักหมื่นล้านบาทในวันนี้”

“การเรียนวิศวะ ด้วยความชอบ เหมือนเป็นเงาแบ็กเราถึงทุกวันนี้ แม้กระทั่งหลักคิดก็เป็นระบบ ทำให้มีความมั่นใจในการลงทุนอาร์แอนด์ดีไปก่อนคนอื่นมา 30 ปี เป็นจุดแข็งต่อยอดเรากลายเป็นอย่างทุกวันนี้ เป็นการสร้างฐานให้ธุรกิจ พี่ขอสนับสนุนให้บริษัทต่าง ๆ ลงทุนด้านนี้ถ้ามีโอกาสทำได้ โดยเฉพาะในยุคนี้ จะช่วยให้เราสามารถฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปได้”

บทบาทวิศวกรเพื่อสังคม

อีกด้านหนึ่งในฐานะรองประธาน ส.อ.ท. ต้องขอบคุณ “คุณสุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธาน ส.อ.ท. ที่มอบหมายงานที่ถนัดมาให้ ทำให้มีความสนุกกับการงาน โดยเฉพาะงานที่ท้าทายมากอย่าง “โครงการเมดอินไทยแลนด์”

“ประธาน ส.อ.ท.โยนโจทย์มาว่าต้องการให้คนรู้ว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยดีขนาดไหน ของบางอย่างขายไปสู่ตลาดโลกแล้วคนไทยยังไม่รู้เลยว่าคนไทยทำ เราจึงวางตำแหน่งว่าต้องโฟกัสไปที่การทำตลาดภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้บริโภค และตลาดส่งออก ตอนนี้สามารถผลักดันเข้าสู่ตลาดภาครัฐได้แล้ว สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยให้เข้มแข็ง และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้หลายแสนล้าน”

ภารกิจรัดตัวต้องบาลานซ์

แม้ในแต่ละวันบทบาททั้งในบริษัทและงานองค์กรต่าง ๆ รัดตัวแทบจะหมดเวลา แต่ “พี่หมู” ต้องแบ่งเวลาให้ชัดเจน เพราะมักจะถูกคนรอบกายล้อเล่นอยู่เรื่อยว่า “ชีวิตจริงคือทำงาน งานอดิเรกคือทำงาน” โดยที่ก็ไม่รู้ตัว

“ที่บ้านทั้งสามีและลูกก็สนุกกับการทำงานเช่นกัน ลูกชาย อายุ 31 ปี ช่วยที่บริษัท IRC ในฐานะผู้จัดการทั่วไป ส่วนลูกสาว 29 ปี เป็นเด็กเรียน จบด้านแลนด์สเคปอาร์คิเทคเจอร์ หรือภูมิสถาปัตย์ ทำงานในบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง สไตล์เราเป็นนายช่างหญิงก็เลยสอนลูกลุย ๆ แต่เราแบ่งเวลาเพื่อชัตดาวน์ คือ เวลากินข้าวของครอบครัวเย็นวันเสาร์หรืออาทิตย์ และหลังเลิกงาน 5 โมงครึ่งจะมาคุยกัน และมักจะใช้เวลาจัดบ้าน และอีกอันที่เป็น a must คือ ต้องไปหาคุณแม่ อายุ 86 ปีแล้ว ท่านเป็นอัลไซเมอร์ เราต้องไปดูแลท่าน”

หลักคิดในการทำงาน

แน่นอนว่าในการทำงานต้องเจอปัญหา แต่หลักคิดในการทำงานเราคือ ต้องถามตัวเองก่อนว่า งานที่เราทำนั้นเป็นสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อโลกหรือไม่ ถ้าสิ่งนั้นดี สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อโลก เราตัดสินใจทำอย่างเต็มที่ เพื่อให้ทุกคนได้รับสิ่งดี ๆ ซึ่งเวลาที่การทำงานเกิดปัญหา สิ่งสำคัญต้องมีการวางแผนและจัดการ ใช้สติวิเคราะห์และแก้ไข มุ่งมั่นผ่านไปให้ได้

และที่สำคัญเราต้องอ่อนน้อม มีความเข้าใจคน ก็จะทำให้มีคนเมตตา

“เคยมีครั้งหนึ่งหลังจากที่จบจากอเมริกา เราเป็นคนเปรี้ยวๆ มีเพื่อนคนหนึ่งส่งหนังสือธรรมะชื่อพุทธวิธีพิชิตความโกรธ เขียนโดย พระอาจารย์นิวัตน์มาให้ เราก็ตกใจแต่ก็อ่าน และรู้ว่าสิ่งที่เราเรียนมาอยู่ในเล่มนั้นหมด หลังจากนั้นก็อ่านและเก็บเกี่ยวสิ่งเหล่านี้มาเรื่อยๆ”

อีกมุมของนายช่างหญิง คือ “นักดื่ม”

แม้จะศึกษาเรื่องธรรมะ แต่อีกมุมนายช่างหญิงพิมพ์ใจ ก็เป็น “นักดื่ม” ตัวยงเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะเครื่องดื่มตระกูลไวน์

“ที่ว่านักดื่มมากสุดก็ประมาณ 3 คน 4 ขวด ความเป็นนักดื่มนี้พี่ว่าเป็นยีนที่คุณพ่อให้มา ดื่มเท่าไรก็ไม่เมา ในร่างกายอวัยวะทุกอย่าง ตับปกติ เหมือนทำบุญมาดี เรามีห้องไวน์เล็ก ๆ คาพาซิตี้ 400 ขวด แต่ตอนนี้มีประมาณ 700 ขวด ก่อนโควิดแก๊งเพื่อนก็นัดกันสัปดาห์ละครั้ง เพราะที่บ้านไม่มีใครดื่มเลย” (หัวเราะ)

เลือกไวน์ดีหรือไวน์แพง

“ถามว่าไวน์ที่ดีคือไวน์ที่แพงไหม สำหรับพี่ไวน์ที่ดีคือไวน์ที่ถึงมือก่อนเหมือนวัคซีน (ยิ้ม) โดยทั่วไปสาวน้อยจะเอ็นจอยกับไวน์ที่หอมเหมือนดอกไม้ หรือเบอร์กันดีสีแดงอ่อน ๆ ใส ๆ เปรี้ยวนิด มีหวานปลาย ๆ แต่มีไวน์อีกแบบที่มีสีแดงเข้ม กลิ่นเข้มเหมือนกลิ่นดินที่พี่ดมแล้วรู้สึกว่าหอม (หัวเราะ) จิบเข้าไปจะรู้สึกว่าเข้ม ที่ดื่มประจำ คือ Bordeaux Cabernet Sauvignon เช่น Chateau Cap de Faugeres”

สำหรับพี่หมูความรื่นรมย์ในการดื่มไวน์เป็นสิ่งที่ง่ายมาก แค่มีที่เปิดกับแก้วไวน์ก็จบแล้ว แต่สิ่งสำคัญต้องเปิดให้ไวน์หายใจ 3-4 ชม. แช่ไว้ เพราะไม่ว่าจะเป็นไวน์สาวน้อยเบอร์กันดี หรือไวน์คนแก่ มันคือ “สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่เกิดจากน้ำผลไม้อัดอยู่ในขวดไม่มีออกซิเจน พอเราเปิดขวด ออกซิเจนไหลลงไป สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ก็ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง”

เอ็นจอยการทำงานอีก 5 ปี

สุดท้ายถามถึงแพลนชีวิตทำงานหลังวัย 60 พี่หมูวางแผนจะปล่อยประสบการณ์ทำงานอีก 5 ปี และ 65 ปี จะเริ่ม “ชิล” แล้ว

“เราทำงานโครงการเพิ่มอาชีพเพื่อชีวิตที่สถานบำบัดหญิงที่คลอง 5 ตั้งแต่ปี 2555-2556 กับกรมราชทัณฑ์ มีอยู่วันหนึ่งเราเข้าไปตรงนั้น เราเห็นเด็กผู้หญิงอายุไล่ ๆ กับลูกเรา เข้ามาจากปัญหาเรื่องยาเสพติด บ้านแตกแยกแล้วไม่รู้จะไปไหนก็โดดเรียนไปขายยา เรานึกถึงลูก ตอนนั้นลูกเราอายุ 20 ปีกำลังจะไปเรียนเมืองนอกแล้วเด็กคนนี้จะไปไหน แล้วแม่เขาจะคิดอย่างไร


นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่เราคิดว่าจะช่วยอะไรได้บ้าง จึงเริ่มจัดทำหลักสูตรสอนเค้า เพื่อมีโอกาสเรียนรู้ มีศักยภาพการทำงาน สามารถไปสมัครงานดี ๆ หรือจะไปทำธุรกิจตัวเอง เราทำให้เขารู้ว่าชีวิตเขามีความหมาย พี่คิดว่าพอเกิน 65 ปี จะไปสานต่องานนี้”