ในหลวง-พระราชินี ทรงวางศิลาฤกษ์ แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.9

เมื่อเวลา 16.34 น. วันที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2564 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา

ไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ เขตดุสิต กรุงเทพฯ โอกาสนี้ เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี โดยเสด็จด้วย

ครั้นเสด็จฯ ถึงอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ เสด็จเข้าพลับพลาพิธี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงกราบ แล้วประทับพระราชอาสน์ ทรงศีล เมื่อสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ถวายศีล จบ

เสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปยังมณฑลพิธีวางศิลาฤกษ์ฯ เสด็จฯไปยังโต๊ะเครื่องบวงสรวงสังเวย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดเทียนทอง เทียนเงิน และธูป ที่โต๊ะเครื่องบวงสรวงสังเวย แล้วทรงจุดธูปหางปักที่เครื่องสังเวย

จากนั้นทรงตั้งพระราชสัตยาธิษฐานถวายเครื่องราชสักการะ ทรงโปรยข้าวตอก ดอกไม้ ที่โต๊ะเครื่องบวงสรวงสังเวย ทรงคม ทรงพระดำเนินไปยังแท่นวางศิลาฤกษ์ฯ ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมแผ่นอิฐทอง นาก เงิน และแผ่นศิลาฤกษ์แล้ว ทรงวางแผ่นอิฐทอง นาก เงิน และแผ่นศิลาฤกษ์ ลงในหลุมศิลาฤกษ์ ก่อนเสด็จเข้าพลับพลาพิธี

พระบรมรูป ร.9 ขนาด 3 เท่าของพระองค์จริง

พระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ถือเป็นหัวใจและศูนย์กลางของสวนแห่งใหม่ โดยพระบรมรูปรัชกาลที่ 9 มีความสูง 5.19 เมตร ซึ่งมีขนาดเป็น 3 เท่าของพระองค์จริง ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์มีความสูง 18.7 เมตร จากระดับถนนศรีอยุธยา ตั้งอยู่ในลานรูปไข่ มีพื้นที่ 2,173 ตารางเมตร บนเนินสูง 7 เมตร โอบล้อมด้วยสวนป่าผสม แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 9 ตั้งอยู่บนผังแปดเหลี่ยม ตามคติพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปลูกต้นรวงผึ้งเป็นปฐมฤกษ์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงปลูกต้นคำมอกหลวง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงปลูกต้นโมกหลวง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงปลูกต้นรัตนพฤกษ์ และเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี ปลูกต้นสุพรรณิการ์

แล้วเสด็จฯ ไปประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จฯ ไปยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง ในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พุทธศักราช 2564

ปลื้มปีติได้ชมพระบารมี ร่วมปลูกต้นไม้ 104 ต้น

ในการเสด็จฯ ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 9 มีประชาชนจำนวนมากมารอเฝ้าฯ รับเสด็จภายในบริเวณพื้นที่อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ และตลอดสองฝั่งถนนที่เสด็จพระราชดำเนินผ่าน

เหล่าราษฎรต่างพร้อมใจเปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ ทรงพระเจริญ ทรงพระเจริญ” ทั้งปลื้มปีติที่ได้ชมพระบารมี ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงโบกพระหัตถ์และแย้มสรวลให้แก่ประชาชนที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จ

ซึ่งภายในอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ได้จัดพื้นที่ให้พสกนิกรเฝ้าฯ รับเสด็จ จำนวน 6,300 คน กระจายตามเส้นทางเสด็จฯ โดยพสกนิกรหลังจากตรวจ ATK ไม่พบเชื้อโควิด-19 ได้ทยอยเดินทางเข้าพื้นที่ภายในเพื่อร่วมพิธีตั้งแต่ช่วงเช้า พร้อมจับจองที่นั่งริมเส้นทางเสด็จฯ และด้านข้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ โดยมีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกจัดบริการอาหารและน้ำดื่มตลอดวัน

ภายหลังเสด็จฯ ออกจากอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ข้าราชการและประชาชนร่วมกันปลูกต้นไม้ จำนวน 104 ต้น ภายในบริเวณอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ อาทิ ขนุนพันธุ์ไพศาลทักษิณ, จันทน์กะพ้อ, จำปีสิรินธร, ตะเคียนทอง, ชิงชัน, บัวสวรรค์, ปีบทอง, มะฮอกกานี, ต้นยางนา, ราชพฤกษ์, ลำดวน, ศรีตรัง, กระพี้จั่น, แก้วเจ้าจอม, ขี้เหล็กบ้าน, ประดู่ป่า, โมกมัน, สะเดา, ชงโค, ตะกู, ตะแบกนา, ลีลาวดี, สมอไทย, สมอพิเภก, สะเดาช้าง, เสลาใบ, หว้า, อินทนิลน้ำ และอินทรชิต

น้ำคือชีวิตจากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที

สำหรับนิทรรศการอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ได้เปิดให้ประชาชนเข้าชมจนถึงวันที่ 6 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อ “สวนแห่งความสุขและความยั่งยืน” ซึ่งแบ่งการจัดแสดงเป็น 12 ส่วน ดังนี้

1.วีดิทัศน์โครงการ 2.แนวคิดการออกแบบพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ 3.น้ำคือชีวิตจากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ (แก้มลิง) 4.แนวคิดการบริหารจัดการน้ำ 5.แนวคิดการออกแบบพรรณไม้ในโครงการ 6.ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัด 77 จังหวัด

7.เส้นทางการสัญจรในโครงการ (จักรยาน/วิ่ง/เดิน) 8.ทัศนียภาพในโครงการ 9.ผังแม่บทโครงการ 10.นันทนาการและสนามกีฬา 11.ภาพในอดีตและโครงการที่กำลังเกิดขึ้น และ 12.วีดิทัศน์แสดงความคืบหน้าโครงการ

นับเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ที่จะแล้วเสร็จในปี 2567 บนพื้นที่ 297 ไร่ จากราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (Royal Turf Club of Thailand under the Royal Patronage) หรือสนามม้านางเลิ้งเดิมที่เช่าที่ดินสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

และเปิดทำการมานานถึง 102 ปี (สิ้นสุดสัญญาเช่าปี 2562) โดยพัฒนาเพื่อประชาชนได้ใช้พักผ่อน ภายในโครงการมีลานออกกำลังกาย ลานกิจกรรม ท่ามกลางพื้นที่สีเขียวทุกโซน พร้อมอาคารจอดรถใต้ดิน 3 ชั้น รองรับรถยนต์ 700 คัน รวมถึงร้านค้าของชุมชนนางเลิ้ง

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณฯ ของในหลวง รัชกาลที่ 10 กับโครงการก่อสร้างอันเป็นสัญลักษณ์แห่งความผูกพันของคนไทย ที่จะได้น้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ต่อไปไม่เสื่อมคลาย ดั่งพระราชปณิธาน “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”