“มั่นคง แก็ดเจ็ท” จากหูฟังตัวเดียวสู่ธุรกิจร้อยล้าน

หากคุณเข้ากูเกิลแล้วเสิร์ชคำว่า “หูฟัง” หรือ “ซื้อหูฟัง” เว็บไซต์แรกที่คุณจะเห็น (ยกเว้นโฆษณา) ก็คือ เว็บไซต์ munkonggadget.com ของมั่นคง แก็ดเจ็ท ร้านขายหูฟังเจ้าเดียวในไทยที่ขายหูฟังอย่างจริงจังและทำยอดขายมากถึงเดือนละ 10-20 ล้านบาท หรือปีละราว 200 ล้านบาท

ที่บอกว่า “ขายหูฟังอย่างจริงจัง” หมายถึง ขายหูฟังอย่างเดียวเป็นหลัก 80 เปอร์เซ็นต์ มีอย่างอื่นเสริมเล็กน้อย มีหูฟังให้เลือกหลายแบรนด์หลายระดับตั้งแต่ราคาหลักร้อยไปจนถึงหลักล้าน

ผู้ก่อตั้ง มั่นคง แก็ดเจ็ท คือ กมล พูนทรัพย์ หรือ “เฮียมั่นคง” บอกว่า ธุรกิจนี้เกิดขึ้นมาโดยไม่มีคู่แข่ง และจนถึงตอนนี้ ผ่านมาประมาณ 13 ปีก็ยังไม่มีคู่แข่ง

เฮียมั่นคงเล่าความเป็นมาการสร้างธุรกิจว่า เริ่มจากเป็นคนชอบฟังเพลงและอยากหาหูฟังดี ๆ มาใช้เอง แต่ในเมืองไทยยังหาที่ถูกใจไม่ได้ จึงสั่งซื้อจากต่างประเทศ พอเห็นว่าใช้ดี จึงไปเขียนรีวิวในพันทิป แล้วมีคนสนใจฝากสั่ง ต่อมาจึงสั่งเข้ามาขาย

“ไป ๆ มา ๆ คนสั่งเยอะ ก็เลยเอามาขาย เริ่มจากแบรนด์ Koss รุ่น KSC35 เป็นรุ่นแรกที่เอามาขาย และขายรุ่นเดียวอยู่ประมาณครึ่งปี ขายออนไลน์ได้เดือนละ 70-80 ตัว กำไรเดือนละ 3-4 หมื่นบาท หลังจากนั้น 6-7 เดือนจึงเปิดร้าน เพราะมีความจำเป็นต้องหาพื้นที่ขายเพื่อให้ลูกค้ามารับสินค้าได้ ตอนเริ่มแรกนัดรับของกันแล้วแต่สะดวก ออกแนวลักลอบ มันดูไม่ใช่ธุรกิจ ก็เลยเอาใหม่ เริ่มจากไปหาโลเกชั่นถูก ๆ ไปได้ที่พันทิปงามวงศ์วาน เดือนละหมื่นกว่าบาท”

จากความชอบส่วนตัวกับต้นทุนพันกว่าบาทที่นำไปซื้อหูฟังตัวเดียว ค่อย ๆ ขยายเติบโตขึ้นมา ตอนนี้ มั่นคง แก็ดเจ็ท มีร้าน 7 สาขาในศูนย์การค้าชั้นนำของประเทศ และกำลังจะมีสาขาที่ 8 ที่เซ็นทรัลเวิลด์ในปีหน้า

“ผมอาจจะโชคดีนิดหนึ่ง ตอนที่ผมโดดลงมาทำ ตลาดมันดันไม่มีหูฟังขาย ยุคนั้นเป็นตลาดไอที คอมพ์ประกอบกำลังเฟื่องฟู ผมเริ่มจากอีเมล์คุยกับต่างประเทศเอง ผมไม่ได้ภาษาอังกฤษเลย ก็ไปซื้อดิกชันนารี สอ เสถบุตร มาเปิดดู แล้วค่อย ๆ ทำไป ตอนจะเปิดร้านก็ไม่มีปัญญาจ้างคน จึงชวนคุณเบียสมาทำงานด้วยกัน (กลายเป็นคู่หู เฮียมั่น-มิสเตอร์เบียส มาจนถึงทุกวันนี้) ผมดูออนไลน์เป็นหลัก ส่วนคุณเบียสขายของหน้าร้าน

เราเริ่มต้นจากเกือบศูนย์ ลงทุนเริ่มแรกจากหูฟังตัวเดียว พอเปิดร้านได้ 5-6 เดือน มีคนมาถามว่ามีแบรนด์นั้นไหม มีแบรนด์นี้ไหม เราก็ไปหาซื้อ ไปสั่งจากบริษัทใหญ่จากต่างประเทศ ต่อมาหลังจากที่ผมเปิดร้านได้ 2-3 ปี มีดิสทริบิวเตอร์ในไทยเกิดขึ้นมา บางแบรนด์ที่มันใหญ่เกินกว่าที่เราทำได้ เราก็ซื้อจากดิสทริบิวเตอร์ในไทย”

ก่อนจะมาเปิดร้านขายหูฟัง เขาทำธุรกิจรับซิลค์สกรีน แต่เมื่อร้านขายหูฟังไปได้ดี จึงค่อย ๆ เฟดกิจการและเลิกมาทำร้านขายหูฟังอย่างเดียว

ฟังดูเหมือนง่ายราบเรียบไปหมด แต่อุปสรรคก็มี เพียงแต่เขาไม่ได้มองว่ามันยาก

“ผมไม่เคยมองว่ามันยาก ผมมองว่าทำไป แก้ไป เรียนรู้ไป ผมมองว่ามันสนุกด้วยซ้ำ แรก ๆ ก็เจอหลายอย่างที่ต้องแก้ ตั้งแต่จะสั่งสินค้ายังไงถึงจะเอาเข้ามาได้จำนวนมาก ไม่แพง จะส่งให้ถึงมือลูกค้ายังไงให้รวดเร็ว ทำยังไงลูกค้าถึงจะเชื่อ ถึงจะโอนเงินให้เรา เมื่อ 10 กว่าปีก่อนเรื่องพวกนี้เป็นอุปสรรคทั้งนั้น สมัยก่อนมีแค่เว็บไซต์ ใครจะซื้ออะไรก็โอนเงิน แล้วคุณโอนให้ใคร สินค้าที่ผมขายมันราคาประมาณ 2-4 พัน คนจะโอนเงินระดับนี้ไม่ใช่ง่ายนะ กว่าจะทำฝ่าฟันให้คนเชื่อถือได้มันใช้เวลาอยู่พอสมควร วิธีที่ดีที่สุดคือทำให้ลูกค้าเขาบอกกันไปปากต่อปาก หลัง ๆ ก็ดีขึ้น ตอนแรก ๆ ทุกธุรกิจออนไลน์เจออย่างนี้หมด”


“ผมไม่ได้จบอะไรมา ผมจบ มศ.3 ประกาศนียบัตรผมยังไม่ได้ไปเอาเลย”
เขาบอก ถึงแม้ไม่จบปริญญาหลักสูตรบริหารมาจากไหน แต่ทำไปทำมาธุรกิจก็โตขึ้นเรื่อย ๆ เฮียมั่นคงแชร์หลักการบริหารธุรกิจว่า

“ใช้สัญชาตญาณมั้ง ผมไม่เชื่อเรื่องคนเรียนมาแล้วจะทำได้ดีกว่าคนที่ไม่ได้เรียนมา ผมเชื่อว่าคนที่ขวนขวายและใฝ่รู้น่ะทำได้ดีกว่า ผมว่าในโลกนี้หลักการมันคล้าย ๆ กัน คุณจะบริหารให้พนักงานอยู่กับคุณ คุณก็ต้องมีเป้าหมายที่ดี มีผลตอบแทนที่ดีให้เขา นั่นคือการบริหารแบบเบสิก เราไม่ต้องไปคิดหรอกว่า มันคือการบริหาร เพราะว่าของพวกนี้มันอยู่รอบตัวเรา”

หากจะเลือกสิ่งที่เป็นคีย์ซักเซสของมั่นคง แก็ดเจ็ท คงเป็นเรื่องความเป็นสเปเชียลลิสต์ในด้านหูฟังที่ไม่มีใครเทียบ ในเว็บไซต์มีแนะนำรีวิวหูฟังทุกตัวในร้าน มีเว็บบอร์ดให้ลูกค้าเข้ามาถาม แล้วมีพนักงานผู้เชี่ยวชาญคอยตอบ ยังไม่รวมถึงช่องทางใหม่อย่างเฟซบุ๊กแฟนเพจที่มีผู้ติดตาม 2.6 แสนคน

“ผมว่าการโฟกัสเป็นข้อดี ลูกค้าจะรู้สึกว่าเราเป็นสเปเชียลลิสต์มากกว่า นี่คือเหตุผลที่ผมไม่ได้ขายอย่างอื่น ผมมุ่งไปทางเดียวเลย ซึ่งร้านลักษณะอย่างผมมีไม่มาก ที่เราแข่งคือแข่งกับตัวเอง จะทำยังไงให้ลูกค้ารู้สึกอยากได้ อยากซื้อ อยากมาลองที่ร้าน โดยการทำการตลาดในดิจิทัล ทำคลิปแนะนำรีวิวหูฟังไปไม่รู้กี่ร้อยคลิปแล้ว อย่างที่ผมบอก สเปเชียลลิสต์จะต้องรู้สินค้าและถ่ายทอดให้กับคนอื่นได้ เขาถึงจะเชื่อมั่นว่าเรารู้และขายได้”

อีกข้อคือการมีเซอร์วิสไมนด์ที่ดี “สินค้าทุกตัวในร้านสามารถลองได้ ยิ่งแพงยิ่งต้องให้ลูกค้าลอง”

เฮียมั่นคงให้ข้อมูลทางธุรกิจว่า ธุรกิจโตขึ้นทุกปี ยอดขายจากเดือนละไม่กี่หมื่นบาท เพิ่มเป็นเดือนละหลายแสนบาท จนเพิ่มเป็นเดือนละล้านกว่าบาท สองล้าน สามล้าน จนขยับไปเรื่อย ๆ จนถึงเดือนละ 10 กว่า-20 ล้านบาท

ตอนนี้เฮียมั่นคงคิดการใหญ่ มีแพลนอยากพาบริษัทเข้าตลาดหุ้นภายใน 3 ปี เพื่อระดมทุนขยายธุรกิจ ตอนนี้กำลังปรับเปลี่ยนหลายอย่างในบริษัทให้เป็นระบบระเบียบ โดยการหานักการตลาด นักบริหารมืออาชีพเข้ามา


“ยังไม่รู้เลยว่าจะเข้าได้ไหม ผมตั้งเป้าไว้ 3 ปี เป็นการขีดเส้นไว้ว่าเราจะไปตรงนั้น แต่ผมมั่นใจว่าผมไปได้ เพราะผมทำสิ่งที่คนคาดไม่ถึงมาตลอด อาจจะมีเรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจ ถีบให้เราทำมันให้ได้อย่างการขายหูฟัง คนก็มองว่าตลาดประเทศไทยทำไม่ได้ แต่ผมก็ทำได้มาจนถึงป่านนี้”

นั่นคือคำพูดของคนที่เชื่อในความเป็นไปได้ เคยผ่านความเป็นไปได้มาแล้ว และยังเหลือความเป็นไปได้-ความเป็นไปไม่ได้ใหม่ ๆ ท้าทายอยู่ข้างหน้า