อุปถัมภ์ค้ำใคร กับการเลือกตั้งประชาธิปไตยที่ก้าวถอยหลัง

เรื่อง : ปนัดดา ฤทธิมัต

อีเวนต์หนังสือ “SUMMER BOOK FEST 2022” สำนักพิมพ์มติชนแนะนำหนังสือเล่มใหม่ 2 ปก หนึ่งในนั้นคือ “อุปถัมภ์ค้ำใคร : การเลือกตั้งไทยกับประชาธิปไตยก้าวถอยหลัง” โดย เวียงรัฐ เนติโพธิ์ ที่ได้มาร่วมพูดคุยบนเวทีเสวนาของสำนักพิมพ์มติชน เมื่อวันพุธที่ 4 พฤษภาคม 2565 ถึงคำถามต่อการปกครองของไทย ที่เหตุใดการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาจึงไม่อาจนำไปสู่ประชาธิปไตย ?

เวียงรัฐ เนติโพธิ์ กล่าวว่า มี 2 เหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลกระทบต่ออุดมการณ์และความเชื่อทางวิชาการของตน ได้แก่ เหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 ที่มีการบุก Capitol Hill ที่สหรัฐอเมริกา ด้วยความที่ตัวเองเติบโตมาในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 จึงรู้สึกว่าโตมากับความเชื่อที่ว่า ประชาธิปไตยคือคุณค่าทางสังคมที่ดีที่สุด หรือคุณค่าทางสังคมที่เราจะต้องปกป้องหวงแหน และทำให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ การบุก Capitol Hill เป็นทั้งสัญลักษณ์ ความรุนแรง การบ่อนทำลายความรู้สึกและความเชื่อที่ว่า สถาบันทางการเมืองแบบประชาธิปไตยมั่นคงเข้มแข็ง และสหรัฐอเมริกาคือต้นแบบ กับอีกเหตุการณ์หนึ่งคือ รัสเซียบุกยูเครน

สำหรับเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อชีวิตเรามากที่สุดคือ การรัฐประหารปี 2557 ในประเทศไทย ที่ยังคงส่งผลกระทบมาจนถึงปัจจุบัน ไม่นึกไม่ฝันว่าเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 แล้ว เราจะเผชิญกับการถอยหลัง และความฝันในวัยเด็กที่คิดว่าสักวันหนึ่งประชาธิปไตยจะงอกงาม กลับกลายเป็นถดถอย

ประวัติศาสตร์ของมนุษย์คือประวัติศาสตร์ของสงคราม เพราะประเทศที่มีอำนาจมากกว่า ย่อมต้องการให้ประเทศอื่น ๆ มาอยู่ภายใต้อำนาจตัวเอง ฉะนั้นพัฒนาการทางอารยธรรมของการจัดการการปกครองหรือการเมือง ก็คือพัฒนาการของการทำสงคราม แต่โลกในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 เป็นโลกที่ฝันถึงสันติภาพ เสรีภาพ ภราดรภาพ และพยายามที่จะบอกว่าคุณค่าประชาธิปไตยคือ คุณค่าที่ต้องรักษาและปกป้องไว้ ซึ่งเราต่างก็ได้เห็นการเติบโตของประชาธิปไตยในประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทยด้วย ทั้งการเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการประชาธิปไตยมากขึ้น

การเมืองต้องเป็นเรื่องของคนดี-ศีลธรรม

ย้อนกลับไปในสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มีวาทกรรมหนึ่งที่บอกว่า การเมืองต้องเป็นเรื่องของคนดีและศีลธรรม นักการเมืองเท่ากับการคอร์รัปชั่น ส่วนข้าราชการดี มีคุณธรรม นี่คือสิ่งที่ทำให้การรัฐประหารครั้งล่าสุดย้อนกลับไปดึงความเชื่อแบบนั้นกลับมา แม้จะไม่สำเร็จ แต่ก็มีเรื่องการเมืองแบบมโนโกหก โดยใช้เฟกนิวส์มาหล่อเลี้ยง

ขณะเดียวกัน การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่กำลังจะมาถึงนี้ รวมถึงการออกมาเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าประชาชนตื่นตัวอย่างมาก

“หนังสือเล่มนี้ไม่ได้มีอะไรใหม่ แต่คือการพิสูจน์ คือการใช้กรอบในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์มาอธิบายใหม่ โดยที่ระบอบ คสช.ช่วยยืนยันกรอบนั้นได้ชัดเจนขึ้น เพราะเรื่องเล่าหลักที่มีการปรากฏตัวของเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพล มาพร้อมกับการเลือกตั้งที่ต่อเนื่องในช่วงปลายปี 1980 ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 เราเห็นบทบาทของเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพล และความรุนแรงชัดเจน จึงทำให้นักวิชาการจำนวนหนึ่งเชื่อว่า การเลือกตั้งทำให้บทบาทของเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลเข้มแข็งขึ้น และเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลเข้ามาอยู่ในวงการการเมืองได้เพราะการเลือกตั้ง นี่คือเรื่องเล่าหลักในเรื่องนี้ แต่งานชิ้นนี้กำลังชี้ให้เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องมีนักการเมืองเลย ไม่จำเป็นต้องมีการเลือกตั้งเลย บทบาทเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลที่มีควบคู่กับระบบราชการต่างหากที่น่าจับตามอง และระบอบ คสช.พาย้อนกลับไปในตอนนั้น” เวียงรัฐกล่าว

หนังสือเล่มนี้จะพาผู้อ่านนำแว่นขยายไปดูสายสัมพันธ์ระหว่างผู้อุปถัมภ์กับผู้รับการอุปถัมภ์ บางครั้งเราพูดกันว่าผู้มีอิทธิพลมีมานานแล้ว หรือบ้านใหญ่ก็ชนะการเลือกตั้งเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือสายสัมพันธ์ซึ่งมีรายละเอียดที่จะต้องเข้าไปคุยกับคนในพื้นที่

“สิทธิของเราเท่ากันเพราะกฎหมายกำหนดว่าเราเป็นพลเมือง เรามีสิทธิในการโหวตหนึ่งเสียงเท่ากัน แต่หากคนที่มีเงินและชื่อเสียงมากกว่ามาขอร้องให้เราทำอะไรที่ไม่อยาก แล้วเราต้องทำ นี่ก็ถือว่าเป็นความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ ฉะนั้นในระบอบประชาธิปไตยที่สิทธิของคนเท่ากัน ไม่ควรจะมีความสัมพันธ์ที่ใครคนใดคนหนึ่งมีอำนาจมากกว่าอีกคนหนึ่ง หรือมีทรัพยากรทางอำนาจเข้าถึงมากกว่าอีกคนหนึ่ง”

การอุปถัมภ์ที่ตกต่ำที่สุด คือการใช้ความรุนแรง

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งก็อาจจะมีการอุปถัมภ์เช่นกัน ตัวอย่างเช่น นักการเมืองหาเสียงด้วยการบอกกับประชาชนว่า หากชนะการเลือกตั้งแล้วจะนำงบประมาณมาทำเขื่อนกั้นน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ ซึ่งเมื่อนักการเมืองคนดังกล่าวชนะการเลือกตั้ง จึงได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน แต่ 2 ปีต่อมา เขื่อนดังกล่าวได้รับความเสียหาย ทำให้มองว่ามีการทุจริต เพราะสร้างเขื่อนไม่ได้คุณภาพ ดังนั้นเลือกตั้งครั้งหน้าจะไม่เลือกนักการเมืองคนเดิม ขณะเดียวกันบางยุคสมัยที่มีการข่มขู่ประชาชนให้ไปเลือกตั้ง หากไม่ได้จำนวนตามที่กำหนด ประชาชนจะได้รับความเดือดร้อน ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบ quality ของ 2 กรณีข้างต้น มองว่าการสร้างเขื่อนที่ไม่ได้คุณภาพยังดีกว่าการข่มขู่ เพราะการข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการใช้เงินซื้อเสียง คือรูปแบบของการอุปถัมภ์ที่ตกต่ำที่สุด

การเลือกตั้งคือความหวัง

สำหรับการเมืองหลังรัฐธรรมนูญปี 2540 แม้ไม่ใช่การเมืองที่สมบูรณ์แบบ แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเดินไปข้างหน้า ด้วยเหตุผล 2 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.การกระจายอำนาจที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยกินได้ หรือเกิดความเข้าใจว่าการให้บริการภาครัฐเป็นสิทธิ ไม่ใช่เรื่องของการเมตตาโดยรัฐ

และ 2.รัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้มีพรรคการเมืองที่เข้มแข็งนำไปสู่การสร้างสถาบันการเมืองที่เข้มแข็ง เพราะฉะนั้นการต่อสู้นอกเวทีทางการเมือง หรือนอกสนามเลือกตั้งจึงไม่คุ้มค่า ถ้าใช้ความรุนแรงเพื่อให้ได้อำนาจมา สักวันหนึ่งก็จะถูกการใช้ความรุนแรงช่วงชิงอำนาจคืน ในขณะที่การเลือกตั้งคือการได้รับความนิยม เพราะใช้งบประมาณภาครัฐมาทำให้ประชาชนมีความสุข แล้วทำให้มีการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่น่าสนใจ

สำหรับการทำลายประชาธิปไตยของไทย นอกจากการยุบสภา ตัดการเลือกตั้ง รวบอำนาจ ครม.มาจากการแต่งตั้ง และการให้ ส.ว.เข้ามามีอำนาจแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเมืองโดยตรงคือ ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองกับประชาชน พรรคการเมืองกับนักการเมือง นักการเมืองกับประชาชน

สายสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นตัวบ่งบอกสถาบันทางการเมือง และดีกรีของความเป็นประชาธิปไตย

ขณะเดียวกัน เมื่อมีการยุบสภา และไม่มีการเลือกตั้ง สิ่งสำคัญที่ยังเหลืออยู่เกี่ยวกับสถาบันการเมืองคือสายสัมพันธ์กับนักการเมือง ซึ่งก็ถูกทำลายลงด้วยการไม่ให้นักการเมืองเข้ามามีบทบาทในเวลาต่อมา โดยยื้อเวลาการเลือกตั้งออกไป แล้วให้ระบบราชการเข้ามามีอำนาจในการตัดสินใจในท้องถิ่นต่าง ๆ แทน ส่งผลให้พรรคการเมืองอ่อนแอตามไปด้วย


“ดังนั้น ความหวังของประชาธิปไตยคือ การเลือกตั้ง และการที่คนรุ่นใหม่ออกมาแสดงออกทางการเมือง ขอทุกคนอย่าเพิ่งท้อถอยกับคุณค่าประชาธิปไตย เพราะเราเพิ่งเริ่มต้น” เวียงรัฐกล่าว