เปิด 12 ประเทศแหล่งปุ๋ยยูเรีย 3 ปีซ้อนเข้าไทย ไร้เงายูเครน-รัสเซีย

ปุ๋ย

มนัญญา สั่งคุมเข้มคุณภาพปุ๋ยยูเรียนำเข้า ป้องกันปุ๋ยด้อยคุณภาพขายเกษตรกร อธิบดีกรมวิชาการเกษตรขานรับนโยบายนำเจ้าหน้าที่ลงเรือตรวจติดตามการนำเข้าปุ๋ยยูเรียจากเรือใหญ่ และการขนถ่ายปุ๋ยยูเรีย เชื่อแนวโน้มราคาปุ๋ยอาจลดลงหลังนำเข้าเพิ่ม เผย 12 อันดับนำเข้าปุ๋ยยูเรีย 3 ปีซาอุติดโผนำเข้ามากสุด ไร้เงา ยูเครน-รัสเซีย

วันที่ 4 กันยายน 2565 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ตรวจเข้มคุณภาพปุ๋ยยูเรียนำเข้า (สูตร 46-0-0) เพื่อให้เกษตรกรของไทยได้ใช้ปุ๋ยคุณภาพที่ดี และคุณสมบัติถูกต้องตามที่สำแดง และเป็นการป้องกันการปลอมปนของปุ๋ยด้อยคุณภาพ

ทั้งนี้ คาดว่าจากนี้ไปราคาปุ๋ยน่าจะมีโอกาสลดลง เนื่องจากปริมาณปุ๋ยยูเรียที่ภาคเอกชนขอนำเข้าเริ่มมีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยตั้งแต่มกราคม-กรกฎาคม 2565 มีการนำเข้าแล้ว 1.25 ล้านตัน จาก ปี 2564 มีการนำเข้าทั้งปี 1.96 ล้านตัน ปี 2563 นำเข้า 2.1 ล้านตัน ปริมาณเกือบเท่ากับการนำเข้าในช่วงภาวะปกติก่อนที่จะเกิดสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย ที่ถูกระบุว่าเป็นเหตุทำให้ปุ๋ยมีราคาแพงเพราะเป็นประเทศที่ส่งออกปุ๋ยรายสำคัญ

“ทั้งนี้ปุ๋ยยูเรียที่นำเข้าย้อนหลังปี 2563 – กรกฎาคม 2565 พบว่า 12 อันดับที่ไทยนำเข้านั้นไม่มีชื่อของประเทศยูเครนและรัสเซีย โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศซาอุดิอาระเบีย การตาร์ และมาเลเซีย ซึ่ง 3 ประเทศนี้ไทยนำเข้ารวมกว่า 80% ดังนั้น ราคาปุ๋ยที่แพงขึ้นอ้างเหตุจากสงครามน่าจะขัดแย้งกับข้อเท็จจริง ซึ่งกำลังให้กรมวิชาการเกษตรไปช่วยดูว่าจะทำอย่างไรให้ปุ๋ยมีราคาลดลง เพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ เพราะหากเกษตรอยู่ไม่ได้ ไม่มีเงินซื้อ ธุรกิจต่อเนื่องก็เดือดร้อนเช่นกัน จึงหวังว่าจะเกิดความร่วมมือช่วยเหลือกันทุกฝ่าย”

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า วันที่ 4 กันยายน 2565 ได้ลงเรือตรวจติดตามการนำเข้าปุ๋ยยูเรีย พร้อมด้วย พลเรือโท วศิน บุญเนือง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองทัพเรือ ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช หัวหน้าด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง หัวหน้าด่านตรวจพืชลาดกระบัง และหัวหน้าด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพ พร้อมทั้งผู้แทนสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง

โดยตรวจติดตามการนำเข้าปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 จากเรือใหญ่ และการขนถ่ายปุ๋ยยูเรีย รวมถึงสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่นข้าว และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ในบริเวณทะเลรอบเกาะสีชัง และท่าเรือเอกชน เขตพื้นที่ชายฝั่ง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยเฉพาะมาตรการเฝ้าระวัง ติดตามและควบคุมการนำเข้าปุ๋ยเคมีในลักษณะการนำเข้าแบบเทกอง (bulk) เพื่อป้องกันการนำเข้าปุ๋ยที่ไม่มีคุณภาพตาม พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ. 2518

พร้อมกับสร้างความมั่นใจถึงมาตรการในการควบคุมการนำเข้าปุ๋ยยูเรียจากต่างประเทศของกรมวิชาการเกษตรที่จะมีมาตรการและแนวทางการปฏิบัติในการควบคุมการนำเข้าจากแหล่งผลิตต้นทางจากต่างประเทศ และกำหนดให้เอกชนที่ขอนำเข้าต้องมีการขึ้นทะเบียนขอเป็นผู้นำเข้า มีการขึ้นทะเบียนผู้ผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้าในประเทศรวมถึงการขอนำเข้า

“รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ท่านนมัญญาได้กำชับด้วยว่าให้ประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการตรวจสอบเพื่อป้องกันการนำเข้าปุ๋ยด้อยคุณภาพมาขายในประเทศ โดยกรมวิชาการเกษตรจะมีการตรวจสอบคุณภาพปุ๋ยยูเรียเป็นรายชิปเมนต์ทั่วประเทศก่อนจะมีการตรวจปล่อยออกสู่ตลาด รวมถึงมีกระบวนการติดตามตรวจสอบโดยได้กำชับให้สารวัตรเกษตร และสารวัตรเกษตรอาสาทั่วประเทศเฝ้าระวังไม่ให้มีปุ๋ยด้อยคุณภาพวางจำหน่ายในตลาด

เนื่องจากปุ๋ยยูเรียมีความสำคัญในระบบการผลิตทางการเกษตร หากปุ๋ยด้อยคุณภาพก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนเกษตรกร พร้อมนี้ได้เน้นย้ำนโยบายการป้องกันการลักลอบสวมสิทธิ์สินค้าเกษตรอื่น ๆ เพื่อรักษาคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรไทย” ด้วยอธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว

ทั้งนี้ การนำเข้าปุ๋ยยูเรียของไทยนั้น ปี 2563 มีการนำเข้า 2.1 ล้านตัน ปี 2564 มีการนำเข้า 1.96 ล้านตัน และปี 2565 (มกราคม-กรกฎาคม) มีการนำเข้าแล้วประมาณ 1.25 ล้านตัน สำหรับในช่วงเดือนสิงหาคมมีการขอนำเข้าปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 ผ่านช่องทางทะเลบริเวณ เกาะสีชัง และได้แจ้งขออนุญาตนำเข้ากับกรมวิชาการเกษตร และผ่านพิธีการศุลกากร จำนวน 74,109.83 ตัน

โดยแหล่งผลิตปุ๋ยยูเรียที่สำคัญและประเทศไทยนำเข้าใน 3 ปีที่ผ่านมา อันดับ 1-12 คือ

1.ซาอุดิอาระเบีย ปี 2563 นำเข้า 1.01 ล้านตัน ปี 2564 นำเข้า 8.2 แสนตัน ปี 2565 (ม.ค.-ก.ค.) นำเข้า 5.9 แสนตัน

2.กาตาร์ ปี 2563 นำเข้า 5.4 แสนตัน ปี 2564 นำเข้า 3.2 แสนตัน และครึ่งปี 2565 นำเข้า 2.5 แสนตัน

3.มาเลเซีย ปี 2563 นำเข้า 3.2 แสนตัน ปี 2564 นำเข้า 3.2 แสนตัน และครึ่งปี 2565 นำเข้า 2.1 แสนตัน

4. โอมาน

5.บาห์เรน

6. เวียดนาม

7.จีน

8.ญี่ปุ่น

9.สเปน

10.อินโดนีเซีย

11.อุซเบกิสถาน

12.บรูไน