วิกฤตส่งออกข้าวไทย 15 ปี นบข.ไม่เวิร์กเวียดนามแซง

เกี่ยวข้าว

ชำแหละแผลส่งออกข้าวไทย 15 ปี ถดถอยแพ้เวียดนาม ส.ส่งออกข้าว จี้รัฐ ตั้ง Rice Board แทน นบข. จับตาการเมืองจุดเปลี่ยนอุตสาหกรรม เร่งปรับปรุงพันธุ์ด่วนก่อนหอมมะลิไทยกลายเป็นตำนาน นักวิชาการชี้ราคาส่งออกหอมมะลิไทยดิ่งหลุด 800 เหรียญสหรัฐ เหตุต้นทุนแพงแข่งขันยาก ลูกค้าแห่หาเวียดนามถูกกว่า 200 เหรียญสหรัฐ โค้งสุดท้ายตลาดเดือด อินเดียชะลอส่งออก-ปากีฯน้ำท่วมซัพพลายโลกหาย 5 ล้านตัน กรมข้าวเตรียม MOU ดึงพันธุ์อินเดียเสริมแกร่ง

การส่งออกข้าวไทยในช่วง 7 เดือนแรก 2565 มียอดถึง 4.08 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 53% แต่ในด้านมูลค่าเพิ่มขึ้นเพียง 29% หรือประมาณ 2,127 ล้านเหรียญสหรัฐ หากพิจารณาราคาส่งออกข้าวเฉลี่ยตามข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ พบว่า ตันละ 520 เหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เคยมีราคา 550 เหรียญสหรัฐ

จากปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าและหากเจาะลึกลงไปที่รายละเอียดการส่งออกจะพบว่า ข้าวหอมมะลิ กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ราคาต่ำลงเหลือเพียงตันละ 700-800 เหรียญสหรัฐ จากในอดีตที่ราคาสูงถึงตันละ 1,200 เหรียญสหรัฐ ทำให้ทุกฝ่ายเริ่มกังวลถึงสถานะ “ถดถอย” ของอุตสาหกรรมข้าวไทยในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา

หอมมะลิไทยหลุด 800 เหรียญ

รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สถานการณ์ส่งออกข้าวไทยน่าห่วงมาก โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิไทยที่สูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับข้าวเวียดนาม จากในอดีตไทยเคยส่งออกข้าวหอมมะลิได้กว่า 2.2-2.5 ล้านตัน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 1.2 ล้านตัน ขณะที่เวียดนามในอดีตส่งออกได้ 2 แสนตัน และตอนนี้สามารถส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 2.2 ล้านตัน ไม่ใช่เฉพาะด้านปริมาณ แต่ในแง่ของราคาส่งออกข้าวหอมมะลิของไทยก็ลดลง

โดยราคาหอมมะลิอดีตเคยสูงถึงตันละ 1,200 เหรียญสหรัฐ แต่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 780 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ข้าวขาวพื้นนุ่มของเวียดนามในอดีตตันละ 300 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นมาขายตันละ 500-520 เหรียญสหรัฐในปัจจุบัน

โค้งสุดท้ายปีนี้เศรษฐกิจโลกที่ถดถอยจะทำให้ลูกค้าหันไปซื้อข้าวขาวพื้นนุ่มของเวียดนามที่มีราคาถูกกว่าข้าวไทยมากขึ้น เหตุผลสำคัญที่ไทยแข่งขันไม่ได้เพราะคุณภาพข้าวไทยลดลง เพียวริตี้ (ความบริสุทธิ์) ความหอมก็ลดลง ต้นทุนต่อตันสูงถึง 9 พันบาท เพราะปลูกได้แค่ 400 กก./ไร่

ขณะที่เวียดนามปลูกได้ 800 กก./ไร่ ต้นทุนต่อตันอยู่ที่ 6 พันบาท ที่ผ่านมาเวียดนามเร่งพัฒนาข้าวขาวพื้นนุ่มมาแข่งข้าวหอมมะลิตั้งแต่ ST21-25 เวียดนามได้รับรางวัลระดับโลก โดยเฉพาะ ST25 ที่ไม่เพียงนุ่ม แต่ยังหอมด้วย และราคาต่ำกว่าข้าวไทย

“แม้ไทยจะมีความพยายามในการพัฒนาข้าวขาวพื้นนุ่มมาแข่ง แต่การเพิ่มผลผลิตข้าวชนิดนี้ให้ทันกับความต้องการส่งออกเป็นไปอย่างล่าช้า ทำได้เพียงแค่หลักแสนตันจากความต้องการเป็นล้านตัน เพราะเวียดนามใช้ระบบให้บริษัททำคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งในชุมชน อนาคตสิ่งที่จะมาจำกัดการส่งออกเวียดนามได้ คือ ประชากรเวียดนามมี 100 ล้านคน เพิ่มการบริโภค และเอาที่นาไปพัฒนาเป็นธุรกิจอื่นเท่านั้น จึงทำให้เวียดนามส่งออกได้แค่ 7 ล้านตัน”

ส่งออกข้าว

อินเดีย-ปากีฯทุบซัพพลายวูบ

รศ.สมพรกล่าวว่า หากประเมินแนวโน้ม 5 เดือนหลัง คาดว่ากรณีที่อินเดียประกาศชะลอการส่งออกน่าจะทำให้ซัพพลายข้าวจากอินเดียหายไป 1 ล้านตันเหลือ 18 ล้านตัน จากปีก่อนส่งออกได้ 19 ล้านตัน แต่ยังครองอันดับ 1 ของโลก ส่วนปากีสถานที่น้ำท่วมหนักอาจทำให้ซัพพลายข้าวปากีสถานหายไป 4 ล้านตัน ส่วนข้าวไทยต้องติดตามปัญหาน้ำท่วมภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นพื้นที่หลักหากลดลงในเดือนนี้จะทำให้ผลผลิตข้าวหอมมะลิดี และไทยน่าจะส่งออกได้ 7.5 ล้านตัน มากกว่าเวียดนามที่ได้ 7 ล้านตัน

“ข้าวขาวและข้าวนึ่งนั้น อินเดียครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุด ตลาดเป็นของอินเดีย ราคาข้าวอินเดียห่างจากไทย 50 เหรียญสหรัฐต่อตัน จำหน่ายตันละ 370 เหรียญสหรัฐต่อตัน ส่วนไทยราคาตันละ 410-420 เหรียญสหรัฐต่อตัน ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นเบอร์ 1 หรือ 2 ไม่สำคัญเท่ากับการสูญเสียส่วนแบ่งตลาดที่เกิดขึ้น ข้าวหอมมะลิของเราแข่งขันไม่ได้แล้ว อนาคตซัพพลายจะลดลงไปเรื่อย”

15 ปี ส่งออกข้าวไทย ถดถอย

นายวัลลภ มานะธัญญา อุปนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยในการสัมมนาร่วมแรงร่วมใจฟื้นฟูการส่งออกข้าวไทย ที่จัดโดยมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 ว่า ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา การส่งออกข้าวไทยถดถอยลงมาก จากที่เคยเป็นเบอร์ 1 ประเทศผู้ส่งออกมา 30 ปี ช่วงปี 2522-2553 จากนั้นเมื่ออินเดียคลายมาตรการส่งออกข้าวบาสมาติทำให้ไทยเสียตำแหน่งแชมป์ให้กับอินเดีย นับจากปี 2553-ปัจจุบัน และตอนนี้ไทยเสียส่วนแบ่งตลาดข้าวขาว ให้กับข้าวขาวพื้นนุ่มของเวียดนาม ในตลาดฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ปัญหานี้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างเร่งด่วน

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ไทยเคยส่งออกได้สูงสุด 11 ล้านตันปี จากนั้นลดลงมาต่ำสุดเมื่อปี 2562 ที่เหลือประมาณ 5.2 ล้านตัน ชนิดข้าวขาวที่เคยส่งออกได้ 4-4.5 ล้านตัน เหลือเพียง 2.5-3 ล้านตัน, ข้าวนึ่งเคยส่งออกได้ 3 ล้านตันเหลือเพียง 1.5-2 ล้านตัน ส่วนข้าวหอมมะลิเคยส่งออกได้ 2 ล้านตัน เหลือ 1.2-1.5 ล้านตัน (ดูกราฟิกประกอบ)

โดยไทยเสียตลาดส่งออกฟิลิปปินส์ไปให้ข้าวขาวพื้นนุ่มของเวียดนาม จากที่เคยนำเข้าข้าวไทย 6-7 แสนตัน ตอนนี้เหลือ 1 แสนตัน ส่วนเวียดนามขายได้ 2.2 ล้านตัน ส่วนอินโดนีเซียที่เคยนำเข้าข้าวไทย 3 แสนตัน ปัจจุบันเหลือ 1 แสนตัน ที่เหลือเวียดนามได้ไปหมด และไทยสูญเสียตลาดข้าวนึ่งและข้าวขาวแถบแอฟริกาให้กับอินเดีย ทำให้ตอนนี้เหลือตลาดที่เป็นลอยัลตี้ของไทยแค่เพียงไม่กี่ประเทศ แต่อนาคตจะลดลงเรื่อย ๆ

สาเหตุการถดถอยข้าวไทยเกิดจาก mindset ที่หลงตัวเองว่าเป็นผู้ผลิตข้าวที่ดีที่สุด ไม่สามารถมีใครผลิตพันธุ์ข้าวทดแทนได้ ทั้งที่เราเป็นผู้ผลิตข้าวเพียงแค่ 4% ของตลาดโลก 30 ปีที่ผ่านมาข้าวไทย มีแต่สายพันธุ์เดิมแค่หอมมะลิ ข้าวเหนียว และข้าวขาว จึงถูกทดแทนด้วยข้าวคู่แข่งที่มุ่งพัฒนาสายพันธุ์ เมื่อ 15 ปีก่อน เวียดนามส่งออกข้าวขาวพื้นแข็ง 5004 ราคาถูกกว่าเรา 30 เหรียญสหรัฐ ได้ไม่กี่แสนตัน แต่ตอนนี้ส่งออกได้ 7 ล้านตัน

นอกจากนี้ ข้าวหอมปทุมของไทยถูกทดแทนด้วยข้าว DT8 ที่กำลังเป็นน้องใหม่ และข้าวจัสมิน 85 เรียกว่ามีสายพันธุ์ข้าวตอบโจทย์ทุกเซ็กเมนต์ของตลาด และราคาทุกตัวพลิกกลับมาแพงกว่าเราหมด ดังนั้นการที่จะแก้ปัญหานี้ ไทยต้องยอมรับความจริงก่อน เช่นเดียวกับเวียดนามยอมรับความจริงและแก้ปัญหา ตอนนี้เขากำลังพัฒนาข้าวเหนียวสายพันธุ์ กข 6 ของเราไป

เสนอตั้ง ไรซ์บอร์ด แทน นบข.

นายเจริญกล่าวว่า อนาคตหากต้องการฟื้นฟูอุตสาหกรรมข้าวต้องมีเจ้าภาพหลัก สมาคมเสนอให้ตั้งคณะกรรมการข้าว (Rice Board) มีองค์ประกอบจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คือ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย, สมาคมโรงสีข้าวไทย, สมาคมชาวนาไทย, สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย และสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย เพราะแม้ว่าที่ผ่านมาจะมี คณะกรรมการบริหารและนโยบายข้าวแห่งชาติ (นบข.) แต่องค์ประกอบของกรรมการชุดนี้เต็มไปด้วยข้าราชการ และวางนโยบายดูแลแค่ปัญหาราคาข้าวให้กับชาวนา แต่ไม่ได้ดูทั้งอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบ และนำมาสู่ปัญหาทำให้สูญเสียความสามารถแข่งขัน

“การมีไรซ์บอร์ดต้องวางมาตรการแก้ปัญหาและสร้างแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมระยะสั้น กลาง และยาว อย่างน้อย 3 ปี ไม่ว่ารัฐบาลใดมา นโยบายนี้ก็จะต้องไม่เปลี่ยนไปตามการเมือง อดีตเราเคยเสนอการตั้ง ไรซ์บอร์ด ไปเมื่อต้น ๆ รัฐบาล แต่ข้อเสนอนั้นหายไปไม่มีการพูดถึง ซึ่งการจะเลือกใครเข้ามาต้องเลือกให้ดี ๆ ก่อนที่ข้าวหอมมะลิจะกลายเป็นตำนาน สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ โดยการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพันธุ์ เร่งระยะเวลาการพัฒนาให้เร็วขึ้น”

ดึงข้าวอินเดียขยายฐานสายพันธุ์

นางสาวกุลศิริ กลั่นนุรักษ์ ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาข้าวไทย กรมการข้าวเปิดเผยว่า ล่าสุดอธิบดีกรมการข้าวได้เตรียมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับอินเดีย เพื่อการพัฒนาฐานพันธุกรรมข้าว โดยจะสามารถนำข้าวสายพันธุ์ต่าง ๆ มาต่อยอดพัฒนาเพิ่ม นอกจากนี้ยังพร้อมที่จะพัฒนาร่วมกับจีน เนปาล และเวียดนาม

ส่วนการรับรองสายพันธุ์ข้าวใหม่ ปีนี้มีการรับรองไปแล้ว 4 สายพันธุ์ มีทั้งข้าวขาวพื้นแข็ง (กข.95) และพื้นนุ่ม (RJ44) ทั้งแบบไวแสงและไม่ไวแสง ที่ผ่านมาในแต่ละปี กรมมีงบประมาณในการพัฒนาพันธุ์ข้าวไม่มากนัก ซึ่งปัจจุบันมีสายพันธุ์ที่อยู่ในการดูแล 24,000 สายพันธุ์ ปีนี้ได้งบฯสนับสนุน 185 ล้านบาท

“กรมไม่ได้นิ่งนอนใจในการพัฒนาพันธุ์ข้าว แต่กรมทำงานทั้งด้านการพัฒนาและเป็นสารวัตรทำหน้าที่ตรวจสอบข้าวที่นำเข้าจากต่างประเทศด้วย ซึ่งการพัฒนาข้าวแต่ละสายพันธุ์ต้องวิจัยนาน 8-9 ปี จึงจะได้สายพันธุ์ 1 สายพันธุ์ การที่ทุกคนอยากได้แค่ 2-3 ปีให้เร็วก็สามารถทำได้ แต่ออกไปสักพักก็อาจจะแย่”

พาณิชย์รับลูกตั้งไรซ์บอร์ด

นางมนัสนิตย์ จิรวัฒน์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมพร้อมจะเป็นฝ่ายเลขานุการ นำเสนอเรื่อง Rice Board เข้าสู่การพิจารณาของภาครัฐ ทั้งนี้ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ดำเนินนโยบายการตลาดนำการผลิต โดยมีการจัดทำยุทธศาสตร์ข้าว และตั้งคณะทำงาน 4 ด้าน คือ ด้านต่างประเทศ การค้าภายใน การผลิต และการแปรรูปและสร้างนวัตกรรม

ทั้งยังมีการประสานงานลดปัญหาอุปสรรคการส่งออกร่วมกับเอกชน โดยผ่าน กรอ.พาณิชย์ และมอบหมายทูตพาณิชย์ 58 สำนักงานทั่วโลกในการสืบหาข้อมูลข้าว และเร่งหาตลาดใหม่รวมถึงการติดตามมาตรการทางการค้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่าง การกำหนดปริมาณสารเคมีที่ใช้ในข้าว ซึ่งจะเป็นเรื่องสำคัญในอนาคต

“ขณะนี้กรมการข้าวช่วยรับรองสายพันธุ์ กข.95 ซึ่งเป็นพันธุ์ใหม่ที่ได้ชนะเลิศการประกวดไปแล้ว และอยู่ระหว่างการพัฒนาเมล็ดพันธุ์กระจายต่อให้เกษตรกร คาดว่าจะได้ในเดือนพฤศจิกายน 2566 และยังมีสายพันธุ์ที่ชนะการประกวดรอรับการรับรองเพิ่มเติมอีก 4 สายพันธุ์ และกรมได้ลดขั้นตอนการออกหนังสือรับรอง มส.24 โดยให้ผ่านระบบกรมศุลกากร ทำให้เอกชนไม่ต้องมาที่กรม นอกจากนี้จะมีการประชุม World Rice Conference ในเดือน พ.ย. 65 นี้ มีเป้าหมายเพื่อติดตามประเมินสถานการณ์การค้าข้าวโลก”

โรงสีโอดงบฯดูแลน้อยสุด

นายรังสรรค์ สบายเมือง นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาโรงสีเป็นกลางน้ำที่อยู่ระหว่างผู้ส่งออกและชาวนา ฝั่งผู้ส่งออกต้องการซื้อของถูกไปขาย ส่วนฝั่งชาวนาอยากขายแพง โรงสีเป็นคนกลางที่มักจะถูกตำหนิว่าเป็นผู้กดราคาชาวนา แต่แท้จริงแล้วใครกันแน่ที่กดราคา เราซื้อตามกลไกตลาด เช่น ผู้ส่งออกขายได้ 15 บาท/กก. มาซื้อโรงสี 14 บาท/กก. โรงสีก็ซื้อชาวนา 13 บาท/กก. ลดทอนลงไปตามสัดส่วน อีกทั้งกำลังการผลิตโรงสีทำได้ 70 ล้านตันต่อปี

มากกว่ากำลังการผลิตข้าวเปลือกไทยที่ทำได้ 30 ล้านตันต่อปี จึงไม่มีทางที่จะไปกดราคา หากในอนาคตไทยสามารถเพิ่มการผลิตข้าวได้จาก 30 เป็น 45 ล้านตันต่อปี ราคารับซื้อก็อาจจะลดลง 5-10% ทำให้ผู้ส่งออกขายคล่องมากขึ้น ราคาสามารถไปแข่งขันกับคนทั้งโลกได้

“มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ โรงสียังได้ประโยชน์น้อยที่สุด ในปีที่ผ่านมารัฐใช้งบประมาณช่วยชาวนาไป 1.5 แสนล้านและช่วยผู้ส่งออก 800 กว่าล้านบาท ส่วนโรงสีได้รับการช่วยเหลือเพียงแค่ 540 ล้านบาท และยังใช้ไม่เต็มวงเงิน เพราะใช้ไปแค่ 200-300 ล้านบาท