ฝุ่นตลบ ชิงซีอีโอ OR จับตา 2 ตัวเต็งคนใน โปรไฟล์ล่าสุด

บริษัทยักษ์ใหญ่ในธุรกิจ RO หรือรีเทลแอนด์ออยล์ “บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)” หรือ OR ซึ่งเป็นบริษัทลูกในกลุ่ม ปตท. ที่สปินออฟออกมาตั้งแต่ปี 2564 กำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อ “นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์” CEO คนแรกของบริษัทกำลังจะเกษียณอายุในวันที่ 30 กันยายน 2565 โดยการเปลี่ยนผ่าน “แม่ทัพ OR” ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก หลังจากที่บริษัทออกจากลมใต้ปีก ปตท.

บริษัท ปตท. น้ำมันและค้าปลีก ภายใต้การกุมบังเหียนของ “จิราพร ขาวสวัสดิ์” ได้วางกรอบงบประมาณลงทุนไว้ที่ตัวเลข 200,000 ล้านบาท (ปี 2563-2573) เฉพาะในปี 2565 ได้กำหนดกรอบการลงทุนไว้ที่ตัวเลข 96,000 ล้านบาท มีเป้าหมายเพื่อปรับสัดส่วนกำไร EBITDA จากปี 2021 ที่มีรายได้จากธุรกิจน็อนออยล์ 18,000 เป็น 40,000 ล้านบาทภายในปี 2030

New Chapter นี้ OR มุ่งที่จะปรับสัดส่วนรายได้ธุรกิจใหม่ จากเดิมที่มีกำไรมาจากธุรกิจน้ำมัน ซึ่งเป็นธุรกิจหลักสัดส่วน 75% ให้เหลือ 31% และเพิ่มสัดส่วนรายได้ใน “ธุรกิจค้าปลีก” จาก 3% ขึ้นเป็น 50% และธุรกิจต่างประเทศเพิ่มเป็น 20% จากเทรนด์ที่ทั่วโลกกำลังเปลี่ยนผ่าน “พลังงานน้ำมันหรือฟอสซิล” เข้าสู่ยุค “พลังงานสะอาด”

ด้วยการต่อยอดจุดให้บริการ สถานีชาร์จไฟฟ้า 450 แห่ง เพื่อรองรับรถยนต์ EV ที่เริ่มเข้าสู่ตลาดภายในประเทศ พร้อมทั้งขยายธุรกิจไลฟ์สไตล์เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคนแบบที่เรียกว่า “ตลอด 24 ชม.” ด้วย All in One App ที่กำลังเตรียมจะเปิดตัวในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งเป็นไปตาม 4 พันธกิจหลักคือ

Seamless mobility พลิกโฉมธุรกิจพลังงานและการขับเคลื่อนอย่างไร้รอยต่อ all lifestyless ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในอนาคต การสร้างโอกาสจากตลาดต่างประเทศ global market และการต่อยอด innovation เพื่อสร้างความยั่งยืน

ด้วยพันธกิจหลัก 4 ด้านพร้อมกับงบฯลงทุนอีก 200,000 ล้านบาทที่ “จิราพร” จะต้องส่ง “ไม้ต่อ” ให้กับ CEO-OR คนใหม่ได้กลายเป็นที่จับตามองของผู้อยู่ในแวดวงธุรกิจพลังงาน รวมไปถึงคนในบริษัท ปตท.เองว่า สุดท้ายแล้ว “ใคร” จะขึ้นมาบริหารบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่แห่งนี้

ในระยะเวลาที่เหลืออยู่อีกเพียงไม่กี่วัน ปรากฏ “ความเงียบ” จากบริษัทแม่ ซึ่งตามปกติขององค์กรขนาดใหญ่จะต้องมีการเตรียมการ “ผ่องถ่ายงาน” ให้กับบริหารคนใหม่ ก่อนที่ผู้บริหารคนปัจจุบันจะเกษียณอายุ 2-3 เดือน

จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันว่า เบื้องหลังความเงียบที่เกิดขึ้นนั้นมีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นถึง 3 กระแส ด้านหนึ่งมีขบวนการที่จะขอ “ต่ออายุ” ให้กับ CEO คนปัจจุบันออกไปอีก ด้านหนึ่งเกิด “แคนดิเดต” ขึ้นมา 2 ชื่อ และอีกด้านหนึ่งเมื่อตกลงกันภายในไม่ได้จาก 2 แนวทางข้างต้น

จึงเกิดกระแสที่ 3 นั่นก็คือ ความจำเป็นที่จะต้องเริ่มกระบวนการสรรหา CEO โดยการอ้างถึงบริษัท ปตท. น้ำมันและค้าปลีกภายใต้สถานะการเป็น บริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจที่มี ปตท.ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 75 แต่ก็ต้องรอดูความชัดเจนการประชุมบอร์ดของบริษัท OR ที่จะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้

สำหรับ “บุคคล” ที่มีความโดดเด่น ซึ่งอาจจะกลายเป็น “แคนดิเดต” ผู้ที่จะมารับตำแหน่ง CEO ใหม่เท่าที่มีการโจษจันกันอยู่ในขณะนี้ โดย 1 ในนั้นปรากฏชื่อของ “นายดิษทัต ปันยารชุน” จบการศึกษาระดับปริญญาตรี B.A. in Ed. (Social Science) มหาวิทยาลัยศิลปากร และปริญญาโท Master of Political Science (M.P.A.), National University, San Diego, USA

นายดิษทัต ปัจจุบันรับตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารความเสี่ยง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ 2563-ปัจจุบัน พ่วงด้วยรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 2561-ปัจจุบัน เป็นกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) 2561-ปัจจุบัน และยังเป็นประธานกรรมการ บริษัท ปตท. ค้าสากล จำกัด (PTTT) ตั้งแต่ปี 2555-ปัจจุบันด้วย

ดิษทัต ปันยารชุน
ดิษทัต ปันยารชุน

มีประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา 2559-2564 เป็นประธานกรรมการ บริษัท PTT International Trading London Ltd., 2561-2563 กรรมการกำกับดูแลกิจการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน), 2559-2561 ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่การค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ในช่วงปี 2554-2561 ประธานกรรมการ บริษัท PTT International Trading DMCC, 2558-2559 ผู้จัดการฝ่ายรักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่การค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), 2555-2558 ผู้จัดการฝ่าย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ปฏิบัติงานในตำแหน่ง Managing Director บริษัท ปตท. ค้าสากล จำกัด

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีประวัติการอบรม Director Certification Program (DCP 206/2015), Ethical Leadership Program (ELP 19/2020), หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านวิทยาการพลังงาน (วพน.) รุ่นที่ 14 สถาบันวิทยาการพลังงาน

ผ่านหลักสูตร Leadership Development Program for Sustainability (LDP) รุ่นที่ 3 สถาบันพัฒนาผู้นำและการเรียนรู้กลุ่ม ปตท., หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง (วตท.) รุ่นที่ 30 สถาบันวิทยาการตลาดทุน, หลักสูตรการซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า The Oxford Princeton, UK, หลักสูตร Making the CEO’s of Thailand (MCOT) รุ่นที่ 2 และผ่านหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (ปริญญาบัตร วปอ. 63) วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ

นายดิษทัต เป็นผู้บริหารรุ่นเดียวกับผู้บริหารองค์กรภาครัฐและเอกชนอีกหลายคน อาทิ นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์คนใหม่, นายสาระ ล่ำซํา กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต, สุภรัฐ จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทารา อินเตอร์เนชั่นแนล แมนเนจเม้นท์ และทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

ขณะที่อีก 1 นั้นเป็นชื่อของ “นายสุชาติ ระมาศ” ประวัติการศึกษาปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต วิศวกรรมเครื่องกล สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (การบริหารการพัฒนาสังคม) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

สุชาติ ระมาศ
สุชาติ ระมาศ

นายสุชาติ ผ่านการการอบรมหลักสูตรการกำกับดูแลกิจการสำหรับกรรมการและผู้บริหารระดับสูงขององค์กรกำกับดูแล (Regulators) รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน รุ่นที่ 22/2563 สถาบันพระปกเกล้า, หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) รุ่นที่ 28/2562, หลักสูตร Leadership Development Program III (2562) สถาบันพัฒนาผู้นำและการเรียนรู้กลุ่ม ปตท, หลักสูตร Director Certification Program (DCP 176/2017) สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย,

หลักสูตรการบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน สถาบันพระปกเกล้า รุ่นที่ 13/2557, หลักสูตร Management Development Program III (2556) สถาบันพัฒนาผู้นำและการเรียนรู้กลุ่ม ปตท., หลักสูตร Advance Management Program II (2556) สถาบันพัฒนาผู้นำและการเรียนรู้กลุ่ม ปตท., หลักสูตร Executive Development Program (2554) สถาบันตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ประสบการณ์การทำงานของ “สุชาติ” ใปนี 2562-2564 รับตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจค้าปลีก เสมือนหนึ่ง “ลูกหม้อ” ผู้เชี่ยวชาญและรอบรู้ในธุรกิจขอ OR แบบที่ไม่ต้องมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ 1 ต.ค. 2564-จนถึงปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารศักยภาพองค์กรและธรรมาภิบาล ปตท., กรรมการในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกรรมการ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)

นับเป็น 2 รายชื่อที่ปรากฏขึ้นในปัจจุบัน ส่วนจะได้หรือไม่ได้หรือมี “บุคคลที่ 3-4-5” เข้ามาเสนอตัว ไม่ว่าจะคัดเลือกกันเป็นการภายในหรือ “จำเป็น” ต้องผ่านกระบวนการสรรหาอย่างที่กำลังมีความพยายามกันอยู่นั้น ล้วนมีผลต่อทิศทางการดำเนินงานของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างธุรกิจแกนหลักดั้งเดิมของกลุ่ม ปตท. กับธุรกิจพลังงานในโลกใหม่ที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงในช่วง 5-10 ปีข้างหน้านี้