ต่างชาติลงทุนในไทย 8 เดือนปี’65 กว่า 83,282 ล้าน เพิ่มขึ้น 66% ญี่ปุ่นนำโด่ง

นักลงทุน

พาณิชย์เผย 8 เดือนปี 2565 ต่างชาติลงทุนในไทยกว่า 83,282 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 66% ญี่ปุ่นนำโด่ง 32,897 ล้านบาท จ้างงานคนไทยรวมกว่า 3,762 คน

วันที่ 23 กันยายน 2565 นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รายงานให้ทราบว่า ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) ปี 2565 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยจำนวน 381 ราย

โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจจำนวน 141 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจจำนวน 240 ราย

สินิตย์ เลิศไกร
สินิตย์ เลิศไกร

โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 83,282 ล้านบาท จ้างงานคนไทยกว่า 3,762 คน โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 96 ราย (ร้อยละ 25) เงินลงทุน 32,897 ล้านบาท สิงคโปร์ 64 ราย (ร้อยละ 17) เงินลงทุน 10,665 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา 49 ราย (ร้อยละ 13) เงินลงทุน 3,277 ล้านบาท ฮ่องกง 28 ราย (ร้อยละ 7.4) เงินลงทุน 7,788 ล้านบาท เยอรมนี 17 ราย (ร้อยละ 4.5) เงินลงทุน 1,203 ล้านบาท เนเธอร์แลนด์ 16 ราย (ร้อยละ 4.2) เงินลงทุน 4,907 ล้านบาท และจีน 16 ราย (ร้อยละ 4.2) เงินลงทุน 14,719 ล้านบาท

เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 (มกราคม-สิงหาคม) พบว่าอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 51 ราย คิดเป็นร้อยละ 15 (ปี 2565 อนุญาต 381 ราย ปี 2564 อนุญาต 330 ราย) เม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 33,156 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 66 (ปี 2565 ทุน 83,282 ล้านบาท ปี 2564 ทุน 50,126 ล้านบาท)

และจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น 953 ราย คิดเป็นร้อยละ 34 (ปี 2565 จ้างงาน 3,762 คน ปี 2564 จ้างงาน 2,809 คน) โดยปี 2564 ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสูงสุดคือ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับปี 2565

8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) ปี 2565 ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ อาทิ

บริการออกแบบ ก่อสร้าง ติดตั้ง และตรวจสอบระบบกักเก็บพลังงาน สำหรับโครงการโรงผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานสำหรับสนามบินอู่ตะเภา บริการขุดเจาะปิโตรเลียม บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Electric Vehicle Charging Station) สำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า

บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษาเชิงเทคนิคแบบครบวงจรในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ การช่วยเหลือด้านการออกแบบ การพัฒนา และทดสอบระบบ เป็นต้น บริการออกแบบด้านวิศวกรรม จัดหา ก่อสร้าง ติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำยาอะคริลิก

บริการให้ใช้แพลตฟอร์มแอปพลิเคชั่น และเว็บไซต์ สำหรับการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า และสั่งซื้อสินค้าและบริการ บริการ พัฒนา และให้บริการซอฟต์แวร์ด้านวิเคราะห์และเชื่อมโยง เพื่อบริหารจัดการข้อมูล Big Data, Data Analytics

การลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) ของปี 2565 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 69 ราย คิดเป็นร้อยละ 18 ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมดใน 8 เดือนนี้ โดยมีเงินลงทุนในพื้นที่ EEC กว่า 33,236 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 40 ของเงินลงทุนทั้งหมด ทั้งนี้ เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 31 ราย ลงทุน 21,983 ล้านบาท สิงคโปร์ 7 ราย ลงทุน 1,826 ล้านบาท และสหรัฐอเมริกา 5 ราย ลงทุน 1,074 ล้านบาท ธุรกิจที่ลงทุน

อาทิ 1) บริการรับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์ FUEL PUMP MODULE 2) บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษาเชิงเทคนิค และการออกแบบเครื่องจักร เครื่องกล เครื่องมือ และอุปกรณ์ และ 3) บริการบุรอง (Lining) ชิ้นส่วนของเครน รอก ลิฟต์ และแม่แรง เป็นต้น

คาดว่าอีก 4 เดือนที่เหลือ (ก.ย.-ธ.ค.) ของปี 2565 จะมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจ โดยผ่อนคลายให้มีการเปิดประเทศ และเพิ่มการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเสริมให้เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

ทั้งนี้ เฉพาะเดือนสิงหาคม 2565 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติ 58 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจจำนวน 19 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ จำนวน 39 ราย

โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 9,648 ล้านบาท จ้างงานคนไทยกว่า 454 คน ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย

เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับความรู้ทางเทคนิคเฉพาะทางการติดตั้งและซ่อมบำรุงระบบไฟฟ้าของรถไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือส่งเสริมการขายของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ องค์ความรู้เกี่ยวกับการตรวจสอบวิเคราะห์ระบบสารสนเทศความปลอดภัยทางไซเบอร์ในเชิงป้องกัน องค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการออกแบบการบุรองเครน รอก ลิฟต์ และแม่แรง เป็นต้น

สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่ บริการสำรวจ ติดตั้ง ทดสอบ ซ่อมแซม และแก้ไขข้อบกพร่อง รวมทั้งให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับงานติดตั้งระบบจ่ายไฟเหนือขบวนรถไฟฟ้า บริการออกแบบทางวิศวกรรม จัดหา ก่อสร้าง ติดตั้ง รวมทั้งทดสอบระบบ สำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานสำหรับผลิตไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ และผลิตพอลิไวนิลคลอไรด์

บริการออกแบบ จัดหา ก่อสร้าง ติดตั้ง และทดสอบระบบท่อส่งก๊าซไนโตรเจนและก๊าซไฮโดรเจน สำหรับโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซ บริการระบบซอฟต์แวร์ฐาน (SOFTWARE PLATFORM) ซึ่งเป็นการให้บริการแพลตฟอร์มแสดงข้อมูลและตัวชี้วัดของผู้ประกอบกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์บริการศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ เป็นต้น