กรมการค้าต่างประเทศ เปิด 10 ผลงาน ข้าว-มันสำปะหลัง ยอดส่งออกพุ่ง

ข้าว

กรมการค้าต่างประเทศ เปิด 10 ผลงานเด่นรอบปีที่ผ่านมา พร้อมจับมือภาครัฐและเอกชนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการ วางแผนเดินหน้านโยบายปี ’66 ต่อเนื่อง

วันที่ 22 กันยายน 2565 นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงผลงานสำคัญของกรมการค้าต่างประเทศ ประจำปีงบประมาณ 2565 ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนนโยบายเชิงรุกด้านเศรษฐกิจ พร้อมกับยกระดับการอำนวยความสะดวกทางการค้าต่างประเทศด้วยนวัตกรรมดิจิทัล ให้สอดคล้องกับบริบทการค้าโลกยุคใหม่ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเพิ่มมูลค่าการค้าของไทยให้เติบโต

รวมถึงส่งเสริมให้ภาคธุรกิจฟื้นตัวและผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการ ผลักดันการค้า และเร่งรัดการส่งออก ขยายโอกาสทางการตลาด ตลอดจนพัฒนาการให้บริการภาครัฐ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ควบคู่กับการสร้างสังคมที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืน

พิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์
พิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์

โดยผลงานสำคัญ 10 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านการค้าชายแดน มีการผลักดันการเปิดจุดผ่านแดนฝั่งไทยเพิ่มอีก 24 แห่ง รวมเป็น 70 แห่ง และประเทศเพื่อนบ้านเปิด 57 แห่ง จากทั้งหมด 97 แห่ง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจพื้นที่ชายแดนให้เกิดกิจกรรมทางการค้าและการลงทุน โดยเป้าหมายการส่งออกชายแดนรวมและผ่านแดนรวม ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 5 หรือมูลค่า 1.08 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบจากปี 2564 มูลค่าการค้าชายแดนรวม 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค. 65) 618,606 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.63 โดยเป็นมูลค่าการส่งออก 376,074 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.85 มูลค่าการนำเข้า 242,532 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.87 และได้ดุลการค้า 133,542 ล้านบาท

ด้านสินค้าข้าว มีการส่งเสริมการส่งออกสินค้าข้าวผ่านโครงการประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในต่างประเทศ และงานแสดงสินค้าอาหารนานาชาติ THAIFEX-ANUGA ASIA 2022 รวมถึงจัดการประชุมหารือกับหน่วยงานของประเทศผู้นำเข้าข้าวรายสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ เพื่อแลกเปลี่ยนและติดตามสถานการณ์การค้าข้าวระหว่างกัน

โดยข้อมูลจากกรมศุลกากรและใบอนุญาตส่งออกข้าวในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 (ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-20 ก.ย. 65) การส่งออกมีปริมาณ 5.35 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.46 มูลค่าการส่งออก 93,578 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.11 ทั้งนี้ กรมร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้ปรับเป้าส่งออกข้าวไทยในปี 2565 จาก 7 ล้านตัน เป็น 7.5 ล้านตัน

ด้านสินค้ามันสำปะหลัง กรมได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันการส่งออก ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวส่งผลให้ตลาดส่งออกมีเสถียรภาพ ส่งผลดีกับราคามันสำปะหลังทั้งระบบ นอกจากนี้ ได้ร่วมกันจัดทำแผนการขยายตลาดปี 2565/66 ได้แก่ (1) ตลาดเดิม : จีน (2) ตลาดเก่า : ยุโรป และ (3) ตลาดใหม่ : ตุรกี นิวซีแลนด์ อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และซาอุดีอาระเบีย

โดยในช่วง 8 เดือนแรก ปี 2565 ไทยส่งออกสินค้ามันสำปะหลังแล้วปริมาณ 8.10 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 3,112.90 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะส่งออกสินค้ามันสำปะหลังได้ 11 ล้านตัน มูลค่า 4,200 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ซึ่งเป็นมูลค่าส่งออกสูงสุดในรอบ 15 ปี รวมถึงการแก้ไขปัญหาการส่งออกมันสำปะหลังไปจีนผู้ประกอบการไทยทั้งหมด 90 รายที่ได้ลงทะเบียนกับ GACC ได้รับการอนุมัติขึ้นทะเบียนทั้งหมดแล้ว และผู้นำเข้าสินค้าที่ถูกกักอยู่ ณ ด่านศุลกากรของจีนจำนวน 17 ราย สามารถนำสินค้าออกจากท่าเรือได้ทั้งหมด

ด้านสินค้าเกษตรนวัตกรรม มีการผลักดันผู้ประกอบการสินค้าเกษตรนวัตกรรมกว่า 300 ราย ผ่านกิจกรรมส่งเสริมช่องทางการตลาดสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทย ก่อให้เกิดมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 43 ล้านบาท กิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจงานวิจัยสินค้าเกษตรนวัตกรรม มีบริษัทเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 30 บริษัท และมีการเจรจาจับคู่ธุรกิจ 65 คู่ และการประกวดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากสินค้าเกษตรไทย Agri Plus Award 2022 เพื่อส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล

ด้านสิทธิประโยชน์ทางการค้า มีการส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTAs และ GSP โดยจัดสัมมนาเพื่อให้ความรู้แก้ผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 4 ครั้ง โดยช่วงเดือน ม.ค.-ก.ค. 2565 การใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง FTAs มีมูลค่าการใช้สิทธิรวม 49,900.11 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิร้อยละ 80.98 การใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง GSP มีมูลค่าการใช้สิทธิรวม 2,194.73 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิร้อยละ 56.59

นอกจากนี้ ยังได้จัดแถลงสรุปความสำเร็จ 15 ปี กองทุน FTA (2550-2565) ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้า 23 รายการ และ 6 ประเภทบริการ รวม 62 โครงการ เป็นเงินงบประมาณ 425 ล้านบาท

ด้านมาตรฐานสินค้าส่งออก กรมได้พัฒนาระบบ “จ่ายปุ๊บ ต่อปั๊บ” หรือระบบชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบทะเบียนผู้ทำการค้าขาออก ซึ่งสินค้ามาตรฐานและใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้า และผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้า แทนการยื่นคำขอ พร้อมปรับปรุงและออกข้อบังคับกรมการค้าต่างประเทศว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย พ.ศ. 2565

เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิไทย ในการใช้ประโยชน์จากเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และจัดทำโครงการประชาสัมพันธ์เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทยที่จำหน่ายในต่างประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคว่าได้บริโภคข้าวหอมมะลิไทยอย่างแท้จริง

ด้านมาตรการทางการค้า ขับเคลื่อนมาตรการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง หรือ TCWMD ผ่านโครงการภาคีเครือข่ายความร่วมมือระบบงานควบคุมสินค้าภายในองค์กร (ICP Network) และโครงการบ่มเพาะระบบงานควบคุมสินค้าภายในองค์กร (ICP In-house) ที่อบรมผู้ประกอบการไปแล้วกว่า 134 ราย

ด้านการพัฒนาระบบบริการ โดยการยกระดับบริการดิจิทัล อาทิ SMART-I และ SMART C/O ซึ่งมีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภายในและภายนอกกรม ทำให้ช่วยลดการเรียกเอกสารประกอบการพิจารณา และสามารถให้บริการแบบ No visit ในรูปแบบ Paperless คาดว่าจะพร้อมให้บริการได้ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2566 ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนทางการค้าให้ผู้ประกอบการได้กว่า 480 ล้านบาทต่อปี

ด้านการแก้ปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำ กรมได้มีการติดตามตรวจสอบการนำเข้ามะพร้าวผลอย่างเข้มงวดมาอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2565 ได้มีหนังสือถึงผู้นำเข้ามะพร้าวผลและประชาสัมพันธ์เพื่อย้ำเตือนให้ผู้นำเข้าปฏิบัติตามมาตรการการนำเข้าอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ ราคามะพร้าวผลใหญ่ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั่วประเทศเดือนสิงหาคม 2565 อยู่ที่ 8.64 บาทต่อผล เพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา 0.87 บาทต่อผล ที่ขายได้ 7.77 บาทต่อผล (ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) และคาดว่าราคาในประเทศจะมีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้น เนื่องจากผลผลิตภายในประเทศเริ่มลดลง

ด้านการป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้า กรมได้เพิ่มความเข้มงวดในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form C/O ทั่วไป โดยกำหนดรายการสินค้าเฝ้าระวังจำนวน 42 รายการ และผู้ส่งออกต้องมีผลการตรวจถิ่นกำเนิดสินค้า หรือตรวจต้นทุนของสินค้าเฝ้าระวังดังกล่าว ประกอบการขอ Form C/O ทั่วไป

นอกจากนี้ กรมจับมือกับเครือข่ายพันธมิตร ได้แก่ กรมศุลกากร โดยกำหนดกฎถิ่นกำเนิดสำหรับสินค้าที่ไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี (Non-Preferential ROO) การถูกตรวจสอบย้อนหลังโดยศุลกากรประเทศปลายทาง การจัดทำทะเบียนการนำเข้าสินค้าที่ถูกพิจารณาการไต่สวน AC แนวทางปฏิบัติของศุลกากรตามประกาศมาตรการ Catch-all Control (CAC) การเชื่อมโยงระบบกล้อง CCTV ของกรมศุลกากรเข้ากับระบบ CIC BTS ของกรมข้อมูลสถิติการค้าชายแดนรายด่าน (จุดผ่านแดนถาวร และจุดผ่อนปรนการค้า) EXIM BANK ร่วมกับกรมจัดโครงการจับคู่กู้เงิน

ซึ่งมีผู้ประกอบการได้รับอนุมัติสินเชื่อแล้วกว่า 1,184 ราย วงเงินที่ได้รับอนุมัติ 5,870.8 ล้านบาท และจัดทำ MOU ความร่วมมือในการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทย และร่วมกับสภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลสินค้าเฝ้าระวัง 42 รายการ

ในปีที่ผ่านมากรมยังคว้ารางวัลผลงานโดดเด่นประจำปี 2565 โดยกรมการค้าต่างประเทศคว้ารางวัลศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการโดดเด่น ประจำปี พ.ศ. 2565 ซึ่งได้รับรางวัลต่อเนื่องมา 6 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2565 และรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี พ.ศ. 2565 ระดับดี ประเภทพัฒนาการบริการ ภายใต้ผลงาน “การให้บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้หลังคาเดียวกัน (One Roof Policy)” ที่เป็นการนำนวัตกรรมดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการยกระดับการให้บริการและอำนวยความสะดวกทางการค้า

นายพิทักษ์กล่าวอีกว่า กรมการค้าต่างประเทศ มีแผนการดำเนินงานในปี 2566 ให้เกิดความต่อเนื่อง ภายใต้วิสัยทัศน์ “เป็นหน่วยงานส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านการค้าต่างประเทศ ผลักดันมูลค่าทางเศรษฐกิจและรองรับตลาด 5.0 ภายในปี 2570” ด้วยการพัฒนาและยกระดับระบบให้บริการด้านการค้าต่างประเทศ ณ จุดเดียว (One Stop Service)

โดยผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงระบบให้บริการทั้งหมดของกรมด้วยบัญชีผู้ใช้งานเพียงบัญชีเดียว (One ID) และการพัฒนาระบบการให้บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อลดขั้นตอน ลดระยะเวลา และลดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย