จุดพลุ Digital Trade Connect เชื่อม “อาเซียน” ฟื้นเศรษฐกิจฝ่าวิกฤตโลก

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา

“อาเซียน” ภูมิภาคที่เป็นแหล่งเป้าหมายการลงทุนของยักษ์ใหญ่มหาอำนาจเศรษฐกิจทั่วโลก กำลังขับเคลื่อนแผนงานเพื่อไปสู่เป้าหมาย ASEAN Community Goals และ Vision 2025 ในอีก 3 ปี ข้างหน้าหลังฟื้นตัวจากโควิด

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ซึ่งรับไม้ต่อตำแหน่ง ประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) จาก อลินทร์ จิรา และเข้าร่วมการประชุม ASEAN-BAC ครั้งที่ 94 ที่เสียมราบ ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 13-15 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา

รับไม้สานต่องาน

นายวิศิษฐ์กล่าวว่า มารับตำแหน่งต่อจากคุณอรินทร์ ที่ทำหน้าที่มาราว 10 ปีได้ และมีผลงานมากมายเป็นที่รู้จักของ ASEAN-BAC ทุกประเทศ โดยตนมารับตำแหน่งในช่วงโควิด ซึ่งประเทศที่เป็นเจ้าภาพ คือ บรูไน จึงจัดประชุมผ่านช่องทางออนไลน์ตลอดปี จนในปีนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น และประเทศกัมพูชาเป็นเจ้าภาพจึงจัดประชุมแบบพบหน้ากันครั้งแรกที่เสียมเรียบ

ถือเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจ และเปิดโอกาสให้ ASEAN-BAC นำเสนอข้อเสนอต่าง ๆ กับรัฐมนตรีทั้ง 10 ประเทศ และได้ขอให้รัฐมนตรีแต่ละประเทศตอบรับแต่ละเรื่องในการประชุมด้วย

“การประชุมครั้งนี้เป็นออนไซต์ครั้งแรกในรอบ 2 ปี นับจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผมได้ร่วมกับคณะไปกับคุณเวทิต โชควัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาชิก ASEAN-BAC ประเทศไทย คุณดรุษกร วิสุทธิสิน ผู้ช่วยเลขาธิการ สมาคมธนาคารไทย และคุณกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย เพื่อสานต่อการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติงานให้ไปสู่เป้าหมาย ASEAN Community Goals และ Vision 2025”

เศรษฐกิจอาเซียนหลังโควิด

ในที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องทิศทางเศรษฐกิจในอาเซียนปีนี้ว่ามีทิศทางที่ดีขึ้น หลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย โดยแต่ละประเทศมีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ทำให้การเดินทางสะดวกมากขึ้น เช่น การไปกัมพูชา ก็แสดงข้อมูลเพียงว่าฉีดวัคซีนไปแล้วกี่เข็มก็สามารถเข้าประเทศได้

“การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น ทำให้ทุกคนมองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจอาเซียนดี แต่จะเห็นอุปสรรคในแง่ที่เมื่อความต้องการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมา แต่กิจการหลาย ๆ อย่างฟื้นกลับมาไม่ทัน ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงโควิดสายการบินปิดตัวหยุดกิจการไป พอการประชุมต่าง ๆ กลับมาทำให้มีปัญหาเรื่องไฟลต์บินไม่เพียงพอ เหล่านี้เป็นอุปสรรคที่เห็นทันที”

มั่นใจดูดการลงทุนทั่วโลก

อาเซียนในปีนี้ยังเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการดึงดูดการลงทุนได้ แม้ทั่วโลกกังวลเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจถดถอย จากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย เพื่อชะลอเงินเฟ้อของสหรัฐ หรือกรณีรัสเซีย และยูเครน แต่อาเซียนยังเห็นพ้องกันว่าเราเป็นทางเลือกของนักลงทุนจากทั่วโลก

สิ่งที่สำคัญ คือ การเชื่อมโยงซัพพลายเชนในภูมิภาคที่ดำเนินการมาต่อเนื่องอยู่แล้ว โดยแต่ละประเทศจะมุ่งเสนอประเด็นที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งและลดอุปสรรคการค้าและการลงทุนเพื่อให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEM อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาเซียนให้ดีขึ้น

ยกตัวอย่าง ลาวที่มาร่วมการประชุมก็มองว่าเศรษฐกิจลาวจะฟื้นตัวดีขึ้น หลังมีรถไฟจีน-ลาว ทำให้เกิดการเชื่อมโยงในภูมิภาค การเคลื่อนย้ายคน และแรงงาน ซึ่งไฮไลต์สำคัญที่เอกชนในอาเซียนมอง คือเรื่องการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล เป็นสิ่งที่ต้องมุ่งขับเคลื่อนต่อ

“เราไม่ได้มองแยกรายประเทศว่า ประเทศไหนจะโดดเด่นอย่างไร แต่จะสร้างความเชื่อมโยง เพื่อสร้างเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไรมากกว่า”

Digital Transform ขับเคลื่อนการค้า

เหตุผลที่การเปลี่ยนผ่านทางด้านดิจิทัล digital transformation เป็นประเด็นหลัก เพราะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด 2 ปีที่ผ่านมา การทำการค้า และการลงทุนต่าง ๆ ต้องปรับแนวทางใหม่ ทุกประเทศต่างนำดิจิทัลมาช่วยอำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคมากขึ้น

โดยในส่วนประเทศไทยได้นำเสนอเรื่อง digital trade connect การเชื่อมโยงการค้าด้วยระบบดิจิทัล เนื่องจากในช่วงที่มีโควิด หลายประเทศล็อกดาวน์ ทำให้กระบวนการออกเอกสารเรื่องการนำเข้าส่งออกไม่สามารถทำได้ เราจึงพยายามนำระบบออนไลน์มาใช้

แต่ปัญหาในช่วงแรกติดอยู่ที่แต่ละประเทศยังขาดการยอมรับซึ่งกันและกัน ดังนั้นไทยจึงหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาหารือ เพื่อริเริ่ม pirot project โดยมีประเทศพันธมิตรอาเซียนเข้าร่วม ประเทศแรก คือ สิงคโปร์ ล่าสุดมีญี่ปุ่นให้ความสนใจเข้าร่วมด้วย

“เป้าหมาย digital trade connect ไม่วางว่าจะต้องเสร็จทั้งหมดเมื่อไร แต่มองว่าหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จจะทำให้ความร่วมมีอนี้ขยายวงกว้างขึ้น เพิ่มประเภทเอกสารที่สามารถเชื่อมโยงผ่านระบบดิจิทัลได้มากขึ้น”

แผนส่งเสริมการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศ

นายวิศิษฐ์กล่าวว่า ที่เสนอเรื่อง digital trade connect เพราะมองว่าต่อไปจะเกิดแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสนับสนุนการให้บริการแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน

เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบ digital และการสร้าง PPP platform ของภาครัฐ-เอกชน การสนับสนุนให้มีแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลแห่งชาติ (national digital trade platform) ในทุกประเทศสมาชิก และดำเนินการพัฒนาควบคู่ทั้งภาครัฐและเอกชน

นอกจากนี้ อาเซียนยังมีแผนที่จะจัดประชุม 8th AEC Dialogue ขึ้นในวันที่ 5 ต.ค. 2565 โดยเตรียมหารือเรื่อง ASEAN digital และ startup โดยจะนำร่องหารือผ่านช่องทางออนไลน์ก่อน

ประเด็นที่สภาธุรกิจนำเสนอ รมต.เศรษฐกิจอาเซียนในการประชุมรอบนี้ นอกจากสภาธุรกิจจะหารือระหว่างเอกชนแล้ว ยังได้มีการประชุมร่วมกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (54th AEM-ASEAN BAC Consultation) ประธานในที่ประชุมคือ H.E. Mr. Pan Sorasak ซึ่งผู้แทนประเทศต่าง ๆ ได้ร่วมกันเสนอแนวทางดำเนินงานที่สำคัญ

โดยเฉพาะเรื่อง การสร้างความร่วมมือแก้ไขปัญหาด้านการค้า เช่น การดำเนินงานในกรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) การส่งเสริมห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคอาเซียน (regional supply chain) โดยขณะนี้ RCEP อยู่ระหว่างรอสมาชิกคือ ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียให้สัตยาบัน เพื่อให้ RCEP มีผลบังคับใช้ครบ 15 ประเทศ

เทรนด์การค้าในอาเซียน

ขณะเดียวกันที่ประชุมได้มีการหารือถึงประเด็นที่เทรนด์ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคู่ขนานกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น การพัฒนาพลังงานสีเขียว (green energy), นโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) รวมถึงแลกเปลี่ยนแนวทางในการพัฒนาด้านแรงงานระหว่างกัน

เช่น การพัฒนาทักษะแรงงาน การจัดตั้ง ASEAN JobsIntensification and Livelihood Empowerment (AJILE) ซึ่งเป้าหมายไม่ใช่เพียงเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานขาดแคลน แต่ยังเป็นแลกเปลี่ยนและการ up skill ให้กับแรงงานในสาขาต่าง ๆ ระหว่างกันด้วย

“ไทยยินดีรับข้อเสนอและสนับสนุนกิจกรรมของ ASEAN-BAC ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยเฉพาะในด้าน sustainable development เพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ green economy ที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อภูมิภาคในการแข่งขันใน ตลาดโลก

นอกจากนี้ สนับสนุน PPP platform เนื่องจากข้อคิดเห็นของภาคเอกชนจะเป็นส่วนสำคัญในการบรรลุ ASEAN Community Goals และ Vision 2025 โดยในปีหน้าสภาที่ปรึกษาจะประชุมที่อินโดนีเซีย”