จับตา คคก.วัตถุอันตราย ไม่ถอนการแบนสารอันตราย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส

คคก.วัตถุอันตรายไม่ยอมถอนการแบน “สารอันตราย” พาราควอต (Paraquat) กับคลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยศาลรับคดีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากพาราควอตเป็นคดีกลุ่ม นัดสืบพยาน ต.ค.และ พ.ย. 65 นี้

วันที่ 28 กันยายน 2565 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า หลังจากแปลงโฉมชื่อเรื่อง “ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับวัตถุอันตราย” โดยอ้างถึง “เครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง” ซึ่งเป็นไปท่ามกลางความกังวลของเครือข่ายภาคประชาชน ที่มองว่ามีเจตนา (แฝง) ตั้ง “ธง” บางอย่าง ที่มีความพยายามผลักดัน เพื่อเดินหน้าใช้สารอันตรายต่อไป

ถึงแม้มติคณะกรรมการวัตถุอันตราย วันนี้ ที่ออกมาจะไม่ฟันธงไฟเขียวให้ใช้ต่อแต่ผลสรุปที่ออกมา โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร ฐานะผู้ช่วยเลขานุการ ในคณะกรรมการวัตถุอันตราย ติดตามผลการพิจารณาทบทวนยุทธศาสตร์ด้านการเกษตรของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงแจ้งให้ผู้ร้องทราบเรื่องจากนั้น ให้มารายงานคณะกรรมการวัตถุอันตราย ทราบต่อไป…นั่นเท่ากับว่า ยังไม่อาจวางใจได้…เพราะการประชุมรอบใหม่อาจออกในแนวทางให้ใช้สารอันตรายนี้ต่อไป

อีกข้อที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายไม่ฟันธงให้ใช้สารอันตราย เพราะยังมีการฟ้องคดี อยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองจึงต้องรอคำพิพากษาถึงที่สุด โดยมอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม ในฐานะฝ่ายเลขานุการ แจ้งผู้ร้องพร้อมเหตุผล พร้อมกันนี้ยังกำหนดเป็นหลักการ จะไม่มีการพิจารณาทบทวน หรือเพิกถอนมติใด หากมีผู้ขอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายยกเลิกใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส

อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาการประชุมรอบต่อไปของคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะออกลูกมาแบบไหน กับ พาราควอต (Paraquat), คลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) รวมถึงไกลโฟเซต (Glyphosate) ที่ยังไม่มีการพิจารณาในวันนี้

นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กล่าวว่า มูลนิธิได้ดำเนินการช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับอันตรายต่อสุขภาพอนามัย เกิดการเจ็บป่วย และบางรายถึงแก่ความตาย จากการใช้สารเคมีพาราควอต ทำให้เห็นว่าสารเคมีนี้ก่อให้เกิดอันตรายต่อทั้งผู้ใช้ และยังทราบว่าสารเคมีดังกล่าวยังตกค้างในสิ่งแวดล้อม อาหาร ที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภค จึงขอเสนอให้ยกเลิกการนำเข้าสารเคมี 3 สารอันตรายนี้

นางสาวณัฐวดี เต็งพาณิชกุล นักกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า คดีพาราควอตนั้น กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช ซึ่งมีส่วนผสมของสารพาราควอตไดคลอไรด์ ใช้ชื่อทางการค้าว่า “ก๊อกโซน” แล้วได้รับอันตรายต่อสุขภาพ ต้องทนทุกข์ทรมานจากการรักษาพยาบาลโรคเนื้อเน่า สูญเสียอวัยะ หรือถึงแก่ความตาย จึงได้ยื่นฟ้อง เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2562 เพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทน และค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1, ที่ 2 และสมาชิกกลุ่ม และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้น

คดีนี้สืบเนื่องจากกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดหนองบัวลำภู ใช้ผลิตภัณฑ์ยาฆ่าหญ้า “ก๊อกโซน” ในการทำนา สวนยางพารา และไร่อ้อย ซึ่งปฏิบัติตามวิธีการใช้ที่ระบุไว้ในฉลากข้างผลิตภัณฑ์ของจำเลย แต่เกิดอาการขาบวมแดง และติดเชื้อ จึงต้องผ่าตัดเพื่อเอาเนื้อเน่าออก และเนื้อเน่ายังลามต่อไป จนต้องผ่าตัดอีกหลายครั้ง เพื่อผ่าตัดเอาเนื้อเน่าออก และผ่าตัดเนื้อจากร่างการของตนเองส่วนอื่นไปปลูกถ่ายทดแทนเนื้อเน่าที่เลาะออก 

และมาทราบภายหลังว่า โรคเนื้อเน่าเกิดจากสารพาราควอตไดคลอไรด์ ที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ของจำเลย ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัยตามพระราชบัญญัติความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 เป็นสินค้าไม่ปลอดภัยเนื่องจากการผลิต ใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม 

อีกทั้งฉลากสินค้าของจำเลย มีคำเตือนที่บกพร่อง ขาดการให้ข้อมูลที่จำเป็นเพียงพอสำหรับผู้ใช้สินค้า ว่าสารพาราควอตไดคลอไรด์ ที่อยู่ในสินค้าของจำเลย ก่อให้เกิดโรคเนื้อเน่าได้ เพื่อให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงอันตรายจากสินค้า โดยหากมีการจัดให้มีคำเตือนหรือข้อมูลที่เพียงพอ ย่อมจะทำให้อันตรายนั้นไม่มีอยู่หรือลดน้อยลง อีกทั้งขนาดตัวอักษรที่ระบุไว้ในฉลากของสินค้าของจำเลยมีขนาดตัวอักษรที่เล็กมากจนผู้บริโภคทั่วไปไม่สามารถอ่านได้โดยสะดวก

โดยเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ศาลอุทธรณ์ ภาค 4 มีคำสั่งรับเป็นคดีแบบกลุ่ม และให้วางเงินค่าใช้จ่ายประกาศหนังสือพิมพ์ ในระหว่างการพิจารณาคดี ได้มีการไกล่เกลี่ยกับผู้ประกอบการ แต่ก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้ ซึ่งศาลนัดสืบพยานโจทก์จำเลย ในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน 2565