“นมพร้อมดื่ม” ขาดตลาด จ่อขึ้นราคายกแผง 1-2 บาท

นมขาด

ฝุ่นตลบ “นม” เกลี้ยงชั้นค้าปลีกจำกัดจำนวน “เมจิ-ดัชมิลล์-เอ็มมิลค์” หลัง ครม.ไฟเขียวปรับราคา “นมดิบ” ขึ้น 1.50 บาท มีผล 1 ต.ค. ผู้ผลิต “นม ร.ร.-นมพาณิชย์” ขอขึ้น UHT กล่องละ 40-41 สตางค์-พาสเจอไรซ์ขวดละ 1-2 บาท “กรมการค้าภายใน” วางกรอบปรับราคาตามสัดส่วนการใช้นมดิบพิจารณารายชนิด-แบรนด์

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานการสำรวจการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมในห้างค้าปลีกโมเดิร์นเทรดหลายพื้นที่ ได้ประกาศแจ้งลูกค้าว่าขอจำกัดปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นม 3 แบรนด์ คือ เมจิ-ดัชมิลล์-เอ็มมิลค์ โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากน้ำนมดิบขาดตลาด ทำให้ปริมาณน้ำนมไม่เพียงพอต่อการผลิตสินค้า จากที่ก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 มีมติให้ปรับขึ้นราคารับซื้อน้ำนมดิบหน้าโรงงาน จากเกษตรกรอีก กก.ละ 1.50 บาท จาก 19.00 เป็น 20.50 บาท เนื่องจากเกษตรกรประสบปัญหาต้นทุนอาหารสัตว์ที่ใช้ในการเลี้ยงโคนมปรับสูงขึ้น

โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค. 2565 เป็นต้นไป ส่งผลให้ผู้ผลิตนมสดพร้อมดื่มรูปแบบต่าง ๆ ต้องขอให้กรมการค้าภายในพิจารณาปรับราคาผลิตภัณฑ์นม

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา กรมการค้าภายในได้ประชุมร่วมกับผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นม และห้างค้าปลีก เพื่อติดตามสถานการณ์การจำหน่ายนมว่าได้รับทราบรายงานว่าขณะนี้เข้าสู่ภาวะ dry cow ระหว่าง ก.ค.-ก.ย.ของทุกปี เป็นช่วงที่ฝนตกและชะลอรีดนม ส่งผลให้ปริมาณซัพพลายน้ำนมดิบลดลงจากปกติ 10% ซึ่งจากประกาศแจ้งของทางห้างโมเดิร์นเทรดดังกล่าวอาจเกิดความกังวลว่าจะไม่สามารถจัดหานมได้ทัน

แต่ล่าสุดห้างได้ประสานกับผู้ผลิต เตรียมแผนบริหารจัดการการขนส่งและสต๊อกสินค้าแล้ว ขณะที่ผู้ผลิตนมโรงเรียนได้แจ้งว่าจะซื้อปิดยอดการผลิต และเข้าสู่ช่วงเทศกาลกินเจ ทำให้ความต้องการบริโภคนมลดลง จึงคาดว่าภาวะการผลิตและการจำหน่ายจะกลับสู่ภาวะปกติต้นเดือน ต.ค.

น้ำนมดิบ

อย่างไรก็ตาม หากตรวจสอบพบการกักตุนการจำหน่าย ประชาชนร้องมาที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบตามกฎหมายต่อไป

“เรื่องการจำกัดการจำหน่าย ไม่เกี่ยวกับการขอปรับราคาจำหน่ายนม เพราะกรมการค้าภายในมีแนวทางพิจารณาที่สอดรับกับมติ ครม.อยู่แล้ว โดยมีหลักการชัดเจนว่าหากผู้ผลิตรายใดยื่นปรับราคาจะพิจารณาเป็นราย ๆ ตามสัดส่วนการใช้วัตถุดิบน้ำนมในการผลิต แต่ละยี่ห้อ แต่ละสูตร ใช้นมดิบต่างกัน ไม่สามารถปรับขึ้นอัตราเท่ากันได้ หากยื่นมาก็จะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป ไม่ต้องเสนอที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.)”

สำหรับผลิตภัณฑ์นมในตลาด แบ่งเป็นนม UHT สัดส่วน 60% มากที่สุดเป็นนมที่นิยมบริโภคในครัวเรือน รองลงมา คือ นมพาสเจอไรซ์ สัดส่วน 30-35% เป็นนมที่นิยมใช้ในร้านกาแฟและเครื่องดื่ม และนมสดสเตอริไลซ์มีสัดส่วน 5% มีผู้ผลิต 1-2 รายเท่านั้น

สหกรณ์โคนมชี้ต้องปรับกล่องละ 40 สต.

แหล่งข่าวจากสหกรณ์โคนมหนองโพ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีที่ ครม.อนุมัติให้ปรับราคา 1.50 บาทต่อ กก. ถือเป็นระดับต่ำกว่าที่เกษตรกรผู้ผลิตน้ำนมดิบเสนอขอปรับราคาไปที่คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) กก.ละ 3 บาท ซึ่งมติที่ประชุมพิจารณาให้ปรับขึ้น 2.25 บาท

โดยแบ่งเป็นส่วนที่โรงงานต้องรับซื้อจากเกษตรกร กก.ละ 1.50 บาท ส่วนอีก กก.ละ 0.75 บาทนั้น เป็นส่วนที่กรมปศุสัตว์ต้องจัดหางบประมาณมาช่วยจ่ายชดเชยให้กับเกษตรกรเป็นเวลา 3 เดือน นับจากเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2565 จากนั้นจะมาพิจารณาทบทวนอีกครั้งว่าต้นทุนการผลิตนมลดลงหรือยัง หากยังไม่ลดลงก็จะพิจารณาให้ปรับขึ้นราคาอีกรอบ กก.ละ 0.75 บาท

“การปรับราคาไม่ใช่จะปรับเฉพาะต้นทางน้ำนมดิบ แต่ต้องปรับราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมปลายทางด้วย กล่องละ 40-41 สตางค์ ไม่เช่นนั้นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมจะอยู่ไม่ได้ ปัจจุบันมีสหกรณ์จำนวนมากที่เป็นผู้ผลิตน้ำนมดิบและมีโรงงานผลิตภัณฑ์นม แม้สัดส่วนจะไม่เยอะเท่ากับนมพาณิชย์ แต่ก็ต้องปรับไปด้วยกัน”

สำหรับปริมาณนมที่หายไปในช่วงนี้เป็นภาวะอากาศร้อน และฝนตกชุกทำให้ปริมาณการผลิตนมลดลง โดยปกติตลาดจะมีการผลิตน้ำนมดิบ 2,600 ตันต่อวัน แบ่งเป็นการใช้เพื่อผลิตนมโรงเรียน 1,100 ตันต่อวัน ซึ่งปริมาณนี้ลดลงจากก่อนหน้านี้ เพราะจำนวนนักเรียนลดลงจาก 8.4 ล้านคน เหลือ 6.7 ล้านคน ส่วนการใช้น้ำนมดิบ ผลิตเชิงพาณิชย์ ปริมาณ 1,300 ตันต่อวัน ในส่วนสหกรณ์โคนมหนองโพ มีสมาชิก 4,000 คน ปกติจะรับซื้อน้ำนมจากสมาชิกสูงสุด 150 ตันต่อวัน แต่ปัจจุบันเหลือ 120 ตันต่อวัน และมีการทำเอ็มโอยูรับซื้อนมจากภายนอกสหกรณ์อีก 50 ตันต่อวัน รวมแล้วใช้นม 160-170 ตันต่อวัน

Dry Cow ฉุดผลิตนมดิบน้อย

แหล่งข่าวจากอุตสาหกรรมนมแบรนด์หนึ่ง ระบุว่า สาเหตุที่ปริมาณนมลดลง เพราะเข้าสู่ช่วงฤดูฝน วัวให้นมปริมาณลดลง ที่เกษตรกรผู้เลี้ยงเรียกว่า dry cow จริง ๆ เป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้นทุกปี แต่ปีนี้ฝนตกหนักกว่าปีก่อน ทำให้ปริมาณนมหายไปมาก จากนี้สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย

สำหรับกรณีที่มติ ครม.ที่ให้ปรับราคาน้ำนมดิบ จาก 19 บาทต่อลิตร เป็น 20.50 บาท หากต้นทางขึ้น 1.50 บาท ได้มีการหารือกันว่าจะมีผลให้ต่อต้นทุนการผลิตผลิตภัณฑ์นม ในส่วนนมพาสเจอไรซ์อาจต้องปรับราคาจากขวดละ 12 เป็น 14 บาทตามสูตร แต่ระยะเวลาการปรับก็คงต้องรอให้ “นมดิบปรับขึ้นไปก่อน”

และหากหลังจากพ้น 3 เดือนไปแล้ว หรือประมาณเดือน ธ.ค. หากเกษตรกรขอปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบอีกรอบ เช่น หากปรับเป็น 2 บาท ก็จะส่งผลให้ราคาปลายทางขยับเป็น 15 บาท อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ทั้งนี้การปรับราคาดังกล่าว มีเงื่อนไขว่า ถ้าหลังจากนั้นแล้วราคาลดลงก็ต้องปรับลดราคาลงมา

“มิลค์บอร์ดมีสูตรว่านมขวดห้ามขึ้นจนกว่าลอว์แมตจะขึ้น ซึ่งต้องรอ กกร.และ ครม.ผ่าน ตอนนี้ต้องรอเขาปรับไปก่อน ถ้าให้ 1.50 บาท เราก็ต้องปรับนมขวด (พาสเจอไรซ์) ขึ้นจาก 12 บาทกว่าเป็น 14 บาท แต่ถ้าปรับขึ้นนมดิบ 2 บาท ก็ปรับขึ้นไปเป็น 15 บาท เพราะมันบาทต่อบาท”