บาทอ่อนสะเทือนต้นทุนธุรกิจ นำเข้าสินค้าอ่วมปรับราคารับความเสี่ยง

นำเข้าสินค้า
Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP

บาทอ่อนผันผวน เอฟเฟ็กต์ต้นทุนนำเข้าสินค้า บิ๊กธุรกิจปรับตัวรับมือ “กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี” เข้มบริหารต้นทุนช่วย “คู่ค้า” งัดแผนแก้เกมออกสินค้าใหม่-ต้นทุนใหม่ คาดไตรมาส 4 มู้ดจับจ่าย-กำลังซื้อดีดกลับสัญญาณบวกนักท่องเที่ยวเวียดนาม-ตะวันออกกลาง

ฝั่งผู้นำเข้าสินค้า “ไอที-รถยนต์” ซื้อประกันความเสี่ยงตั้งรับล่วงหน้า ทั้งฉวยจังหวะเงินเยนอ่อนนำเข้ารถญี่ปุ่น แต่ “เทสล่า” โดนเต็ม ๆ ต้นทุนพุ่ง “แอลจี” กัดฟันตรึงราคาเบนเข็มจับตลาดบน ขณะที่ “สนค.” แนะฉวยจังหวะบาทอ่อนดึงดูดท่องเที่ยวเร่งส่งออก

สถานการณ์ค่าเงินบาทที่ผันผวนในฝั่งอ่อนค่าชัดเจนว่ามีผลกระทบโดยตรงกับผู้ประกอบการที่ต้องนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบจากต่างประเทศ เพราะทำให้ต้นทุนสินค้าแพงขึ้นทันทีตามค่าเงินที่อ่อนตัวลง

นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงจาก 35 เป็น 38 บาทต่อเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเกือบ 10% มีผลกระทบต่อการนำเข้าวัตถุดิบต่าง ๆ ถือเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่ส่งผลต่อภาพรวมของต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้น จึงต้องพยายามบริหารจัดการ และหาวิธีการลดต้นทุนให้กับบริษัท และคู่ค้า

รวมถึงพยายามออกสินค้าใหม่ที่ต้นทุนใหม่ เนื่องจากการปรับราคาของเดิมทำได้ยาก บางอย่างเป็นสินค้าควบคุม และอาจกระทบกับลูกค้าจึงพยายามประคองกันอยู่ แต่ยังดีที่วัตถุดิบบางอย่าง เช่น น้ำมันปาล์มราคาเริ่มลงแล้ว ขณะที่กำลังซื้อเริ่มกลับมาจากกลุ่มนักท่องเที่ยวเวียดนาม และตะวันออกกลาง แม้ยังทดแทนนักท่องเที่ยวจีนไม่ได้ แต่คาดว่ายอดขายในไตรมาส 4/2565 จะดีกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

“ไตรมาส 4 ค้าปลีกน่าจะกลับมาดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ก็มีความเสี่ยงหลายอย่าง เช่น การค้าโลก ค่าเงินผันผวนอย่างมาก สภาพคล่องธุรกิจโดยรวมจะเป็นอย่างไร แต่ปัจจัยบวกท่องเที่ยวกลับมา เราต้องเร่งขยายสาขาเพิ่ม ลดขั้นตอนการขยายสาขา และปรับปรุงสาขาบิ๊กซี เร่งผลิตขวดแก้วทั้งในไทยและอาเซียน เมื่อการบริโภคกลับมา บรรจุภัณฑ์ขวดแก้วก็น่าจะดี”

LG เบนเข็มโฟกัสตลาดบน

นายอำนาจ สิงหจันทร์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลกระทบต้นทุนการผลิตสินค้าแน่นอน เพียงแต่อาจไม่เห็นผลในทันที เนื่องจากรอบการสั่งสินค้าแต่ละครั้งห่างกันประมาณ 6 เดือน ทั้งมีผลกระทบแตกต่างกันไปตามแต่ละหมวดสินค้า เช่น ตู้เย็นที่นำเข้า 100% กระทบหนัก ขณะที่เครื่องปรับอากาศกระทบน้อยเพราะใช้ชิ้นส่วนในประเทศเกือบทั้งหมด และยังผลิตเพื่อส่งออกถึง 80%

สำหรับการรับมือพยายามตรึงราคาสินค้า ด้วยการโฟกัสการขายสินค้าระดับบน และกลุ่มพรีเมี่ยม เพื่อนำกำไรมาชดเชย พร้อมรัดเข็มขัดคุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าขนส่ง เนื่องจากไม่ต้องการให้กระทบต่อผู้บริโภค และเสี่ยงสูญเสียส่วนแบ่งตลาด แต่หากไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้อาจจำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้า

ซื้อประกันความเสี่ยงรับมือ

ด้าน นายสมศักดิ์ เพ็ชรทวีพรเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วีเอสที อีซีเอส (ประเทศไทย) ผู้นำเข้าและจำหน่ายสินค้า และโซลูชั่นไอทีสำหรับองค์กร กล่าวว่า ในฐานะผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศจึงมีการทำประกันป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ (hedge) จึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เช่น สมมุติค่าเงินบาทอยู่ที่ 38.45 บาท/เหรียญสหรัฐ ในสัญญาจะระบุว่าสินค้าที่นำเข้าจะราคา 38.45 บาท ต่อให้บาทอ่อนตัวถึง 39 บาท ก็ไม่มีปัญหา

ขณะที่ นายอโณทัย เวทยากร รองประธานบริหารตลาดเกิดใหม่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และกลุ่มธุรกิจคอนซูเมอร์ภูมิภาคเอเชียใต้ เดลล์ เทคโนโลยีส์ กล่าวว่า ตนดูแลตลาดในหลายประเทศ มองว่าเงินบาทยังอ่อนอยู่ในระดับที่รับได้ และสมดุลกับภาวะเศรษฐกิจ มีผลดีทำให้ส่งออกมากขึ้น และส่งผลให้ต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น แต่ย่อมกระทบกับผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีที่ต้องนำเข้าแทบทั้งหมด ส่งผลกับลูกค้าหรือองค์กรที่ต้องลงทุนโครงสร้างเทคโนโลยีในช่วงที่เงินบาทอ่อนเร็ว

“ตัวอย่างที่เห็นเลย คือลูกค้าเราได้โปรเจ็กต์มา ระหว่างที่กำลังออร์เดอร์สินค้าช่วง 2 เดือนที่แล้ว ปรากฏว่าค่าเงินวิ่งไปแล้ว หากเขาจำเป็นต้องทำโปรเจ็กต์นี้แล้วสั่งสินค้าต่อก็จะขาดทุนได้”

เช่นเดียวกับ ดร.สัณหวุฒิ ธรรมชวนวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนลง กระทบแน่นอน แต่ผู้ประกอบการเลือกทำ hedge กันแล้วทั้งนั้น ส่วนการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วคงต้องดูวงเงินด้วยว่าจะทำให้ต้นทุนขยับไปมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากค่าบาทยังอ่อนต่อเนื่อง ถึงเวลานั้นเชื่อว่าผู้ประกอบการคงเลือกใช้วิธีปรับราคาสินค้าในที่สุด

นำเข้า “เทสล่า” ต้นทุนพุ่ง

นายสมศักดิ์ ศรีรัตนประภาส ประธานบริหาร บีอาร์จีกรุ๊ป เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนลงส่งผลกระทบต่อผู้นำเข้าแน่นอน ขณะที่ผู้ประกอบการส่งออกย่อมได้ประโยชน์ โดยผู้นำเข้าส่วนใหญ่เลือกทำประกันความเสี่ยง (hedge) อัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้นไม่ว่าจะขึ้นหรือลงแรงแค่ไหนก็ไม่กระทบ ประกอบกับในระยะหลัง ผู้นำเข้าส่วนใหญ่เปลี่ยนจากการนำเข้ากลุ่มรถยุโรป มาเป็นโซนญี่ปุ่นมากขึ้น ตามความต้องการตลาดและการแข่งขัน ซึ่งเงินเยนอ่อนค่าทำให้ผู้นำเข้าได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น

“ปัญหาตอนนี้ คือไม่มีสินค้า ขณะที่ค่าเงินปอนด์อ่อนค่า แต่รถอังกฤษสั่งทีใช้เวลาหลายเดือน ญี่ปุ่นก็เหมือนกัน แต่ถ้าเป็นการนำเข้ารถเทสล่าของอเมริกา ดอลลาร์แข็งมากก็จะกระทบเยอะ”
ฟาก “ธปท.” ดูแลบาทไม่ฝืนตลาด

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ได้ติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และมีการเข้าไปดูแลในตอนที่มีความผันผวนสูงผิดปกติ เนื่องจากไม่อยากให้กระทบการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ทั้งนี้ การดูแล ธปท.จะไม่เข้าไปฝืนตลาด

“เราไม่สามารถฝืนตลาดได้ ปัจจุบันไทยไม่ได้ใช้ระบบกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน แต่เน้นเข้าไปดูแลความผันผวนที่ผิดปกติจนกระทบเศรษฐกิจ เพราะผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกบางส่วนไม่ได้มีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน”

ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.ยังเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะบริบทไทยไม่เหมือนต่างประเทศ ไม่เหมือนสหรัฐ แต่หากสถานการณ์เปลี่ยน ถ้าจำเป็นต้องหยุดขึ้นดอกเบี้ยก็พร้อมหยุด แต่หากจำเป็นต้องขึ้นมากกว่า 0.50% หรือมากกว่านั้น ก็พร้อมทำ หากตัวเลขเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามคาดการณ์ สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจ ธปท.มั่นใจว่ามีการฟื้นตัวต่อเนื่อง บวกกับท่องเที่ยวที่กำลังมา ส่งผลให้ปรับตัวเลขท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 9 ล้านคนจากเดิม 6 ล้านคน เป็นแรงส่งสำคัญ ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้ที่ระดับ 3.3% และปีหน้าที่ 3.8%

แนะดึงดูดท่องเที่ยว-เร่งส่งออก

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงที่ 38 บาทต่อเหรียญสหรัฐ มีผลต่อต้นทุนการนำเข้าสินค้ามาใช้ในการผลิตมีต้นทุนสูงขึ้น แต่ผู้ประกอบการไทยพร้อมรับมือ โดยในเบื้องต้นประเมินว่าจะมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อเล็กน้อย และคาดไว้ว่าทั้งปีจะอยู่ที่ไม่เกิน 6.5% คำนวณภายใต้สมมุติฐานว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ขยายตัวในกรอบ 2.5-3.5% น้ำมันดิบดูไบ 90-110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 33.5-35.5 บาท/เหรียญสหรัฐ ขณะที่ตัวเลขการส่งออกยังมอง 4% ตามที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้ โดยผู้ส่งออกต้องปรับตัวหาตลาดใหม่ และควรใช้สถานการณ์ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ดียิ่งขึ้นต่อไป

“เงินบาทมีผลต่อวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น มีผลต่อต้นทุนการผลิต เชื่อว่าค่าเงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมากกว่านี้ มองว่าแบงก์ชาติจะมีนโยบายดูแลค่าเงินบาทให้แข่งขันได้อยู่แล้ว จึงยังประเมินเงินเฟ้อที่ 6.5% แม้เงินบาทอ่อนค่า 38 บาท มีผลต่อเงินเฟ้อเล็กน้อย 0.31% ซึ่งยังต้องรวมในหลาย ๆ ปัจจัย เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าแรงขั้นต่ำ อัตราดอกเบี้ยว่าเป็นอย่างไร”