4 ขุนพลกระทรวงอุตสาหกรรม ลุย BCG-EV กู้วิกฤตเศรษฐกิจ

ณัฐพล รังสิตพล-วรวรรณ ชิตอรุณ-จุลพงษ์ ทวีศรี-ใบน้อย สุวรรณชาตรี
ณัฐพล รังสิตพล-วรวรรณ ชิตอรุณ-จุลพงษ์ ทวีศรี-ใบน้อย สุวรรณชาตรี

การโยกย้ายภายในกระทรวงอุตสาหกรรม “4 ตำแหน่ง” สำคัญได้ข้อสรุปเป็นที่เรียบร้อย

หลังจากประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้ง “ณัฐพล รังสิตพล” อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ลูกหม้อซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่ แทน “กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์” ที่เกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2565

การดำรงตำแหน่งในครั้งนี้ถือว่าไม่หลุดโผคาดการณ์ของหลายฝ่าย จากการที่ “ณัฐพล” เป็นข้าราชการน้ำดี ที่บุคคลในวงการการันตีถึงผลงาน และการวางตัวได้เป็นอย่างดี ถือเป็นมือขวาให้ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพราะมีทักษะและความสามารถขับเคลื่อนนโยบายทั้งหมดได้ทันที

ภารกิจสำคัญของปลัดป้ายแดง คือ การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้กลับมาฟื้นตัวในทุกมิติ โดยมีธงในเรื่องของการเปลี่ยนผ่าน (transform) อุตสาหกรรมไทยให้เป็นอุตสาหกรรม 4.0 เดินหน้าอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) อย่างยานยนต์สมัยใหม่หรือรถยนต์ไฟฟ้า (EV) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ที่ปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมได้ลงทุน เพื่อปรับเปลี่ยนภาคการผลิตมากกว่า 30%

อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร การเกษตร/เทคโนโลยีชีวภาพอย่าง BCG (biocircular-green economy เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว) หรือแม้แต่อุตสาหกรรมดิจิทัลที่มี 5G เข้ามามีบทบาทสำคัญในขณะนี้ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร รวมถึงอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ ที่ไทยจะกลายเป็นฮับในอนาคต

และล่าสุด ครม.ยังมีมติโยกย้ายอีก 3 ตำแหน่ง คือ “วรวรรณ ชิตอรุณ” รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เป็นผู้อำนวยการเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) หน่วยงานมันสมอง เพื่อผลักดันเรื่อง BCG รวมถึงรถ EV ด้วยการส่งเสริมอุปสงค์อุปทานและปัจจัยแวดล้อม (ecosystem) สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ได้จัดทำร่างแผน Smart Electronic ระยะที่ 1 (2565-2570) เตรียมเสนอต่อ ครม.ภายในปีนี้

ส่วนอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร จะสร้างโอกาสและรับมือกับสถานการณ์ความมั่นคงด้านอาหารโลก ให้ไทยก้าวสู่ top 10 ประเทศผู้ส่งออก รวมถึงทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ (2566-2570)

“จุลพงษ์ ทวีศรี” จากรองปลัดกระทรวง ไปเป็นอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ซึ่งถือเป็นการกลับมายังกรมเดิม และยังเป็นอีกบุคคลที่ได้พยายามเร่งแก้ปัญหาเรื่องกากอุตสาหกรรมให้เข้าระบบอย่างถูกต้อง แน่นอนว่าการกลับมาครั้งนี้นโยบายเรื่องกากจะต้องเห็นผลมากขึ้น

ขณะเดียวกันแต่งตั้ง “ใบน้อย สุวรรณชาตรี” ผู้ตรวจราชการกระทรวง ขึ้นเป็นอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จากข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ติดสอยห้อยตามผู้บริหารในกระทรวงทุกยุคสมัย คลุกคลีกับชุมชน ผู้ประกอบการ ในที่สุดความสามารถที่สะสมมา

เตรียมวางยุทธศาสตร์กู้วิกฤตผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชน ให้กลับมายืนได้อีกครั้ง ผ่านมาตรการช่วยเหลือจากเงินกองทุนที่มี เช่น กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ (20,000 ล้านบาท) และโครงการต่าง ๆ