หอการค้า ชี้ “ช็อปดีมีคืน” แรงกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีโค้งสุดท้ายของปี’65

ธนวรรธน์ พลวิชัย
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ

หอการค้าไทย ประเมินเศรษฐกิจปลายปี 2565 คึกคักจากนักท่องเที่ยว เงินสะพัดทั้งกลางวัน กลางคืน แนะรัฐพิจารณามาตรการกระตุ้นรอบใหม่ “ช็อปดีมีคืน” สร้างโมเมนตัมระบบเศรษฐกิจได้มาก เชื่อดัชนีความสุข การจับจ่ายใช้สอยเริ่มกลับมา ส่งผล GDP โตได้ในกรอบ 3-3.5% หนุนปี 2566 เชื่อมั่นเศรษฐไทยฟื้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย. ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 สูงสุดในรอบ 8 เดือน

วันที่ 12 ตุลาคม 2565 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า โค้งสุดท้ายของปี 2565 (ไตรมาส 4 หรือ ต.ค.-ธ.ค.) หากรัฐบาลสามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกระลอกได้ ผ่านโครงการช็อปดีมีคืน ซึ่งเป็นการเจาะเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อ ภายใต้วงเงินการใช้จ่าย 30,000 บาทนั้น

จะเป็นอีกเครื่องมือในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี แม้ว่ารัฐจะสูญเสียการจัดเก็บรายได้จากภาษี 7,000-10,000 ล้านบาท แต่ทำให้มีกระแสเงินหมุนเวียนในระบบประมาณ 50,000 ล้านบาท นับว่าเป็นมาตรการที่คุ้มค่า

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่การที่จะทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศ และการจับจ่ายใช้สอยกลับมา อันดับ 1 คือการอุ้มราคาน้ำมันดีเซล ลดค่าครองชีพ เพื่อไม่ให้เป็นภาระทั้งการใช้ชีวิตประจำวันของคนใช้รถประชาชนทั่วไป รวมถึงไม่เพิ่มต้นทุนภาคการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นแล้ว ช่วงโค้งสุดท้ายของปีแม้ว่าจะมีปัจจัยบวก ที่จะส่งผลให้แนวโน้มเศรษฐกิจของไทยฟื้นกลับมา แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 6 ก็ช่วยได้เช่นกัน

“ปี 2566 เศรษฐกิจไทยฟื้นแน่นอน เราเห็นสัญญาณจากภาคการท่องเที่ยว สถิติพบว่าแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามากกว่า 1 แสนคน GDP ก็ยังคงโตได้ในกรอบ 3-3.5% ส่วนเศรษฐกิจโลกยังซึมด้วยปัจจัยลบมีมาก”

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือน ก.ย. 2565 พบว่า ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือนนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2565 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศคลี่คลายลง

และมีการผ่อนคลายกฎระเบียบต่าง ๆ ให้ธุรกิจเริ่มเปิดดำเนินการได้เป็นปกติ ตลอดจนการผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้สะดวกมากขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงอย่างมากจากช่วงครึ่งปีแรก

แต่ผู้บริโภคยังคงมีความกังวล เกี่ยวกับการที่ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ปัญหาค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยเพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลก ที่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 38.6 41.9 และ 53.3 ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือน ส.ค. ที่อยู่ในระดับ 37.8 40.9 และ 52.3 ตามลำดับ แสดงว่าผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวขึ้น

อย่างไรก็ตาม ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันและค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น

ยังคงกังวลในสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก ที่ยังคงมีอยู่แม้ว่าจะคลายตัวลงก็ตาม ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต และจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง

ส่วนการปรับตัวดีขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index : CCI) ที่ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 43.7 เป็น 44.6 นั้น เป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือนนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2565 เป็นต้นมา

ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้น จากระดับ 28.7 เป็น 29.6 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2565 เป็นต้นมา ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4

และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือนนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2565 เป็นต้นมา โดยปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 50.8 มาอยู่ที่ระดับ 51.7 ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มกลับมาเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากความเชื่อมั่นยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นในไตรมาสที่ 4/2565 นี้แน่นอน

“ช่วงปลายปีคนน่าจะมีความสุขมากขึ้น เพราะฝนหมด ราคาพืชผักถือว่าราคาดี ราคาน้ำมันยังไม่ปรับขึ้นกว่านี้เพราะรัฐยังอุ้มอยู่ การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนกำลังกลับมา และธุรกิจกลางคืนกลับมาคึกคักเพราะนักท่องเที่ยวเข้ามา เศรษฐกิจมันหมุนมีโมเมนตัมเงินมันจะสะพัดทั้งกลางวันและกลางคืน”