เปิด 3 กลยุทธ์ ปตท. ลดคาร์บอนรับเทรนด์พลังงานสีเขียว

ปตท.

ก่อนที่จะมีการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสหประชาชาติ สมัยที่ 27 (COP 27) ในเดือนพ.ย.นี้ ภาคเอกชนไทยตื่นตัวต่อการวางแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอย่างมาก

ล่าสุดกลุ่ม ปตท.ประกาศเจตนารมณ์ ตั้งเป้าหมายมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 15% ในปี 2030 บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2040 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2050 “เร็วกว่า” เป้าหมายประเทศ

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ได้ตั้งคณะทำงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์กลุ่ม ปตท. (PTT Group Net Zero Task Force หรือ G-NET) เพื่อกำหนดกลยุทธ์เชิงรุก 3 แนวทางหลัก (3P)

แผนดำเนินงาน 3P ได้แก่ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการให้ได้สูงสุด ผ่านโครงการสำคัญ (Pursuit of Lower Emissions) เช่น การดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage : CCS) ในพื้นที่บริเวณทะเลอ่าวไทย และพื้นที่บนฝั่งในภาคตะวันออก

ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้สูงถึง 30% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด โดยการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนธุรกิจพลังงานสะอาดและเติบโตในธุรกิจใหม่ ๆ (Portfolio Transformation) ใน 10 ปี ที่ 32% ของงบประมาณการลงทุน คาดสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 50%

นอกจากนี้ ยังมุ่งปลูกป่าเพิ่มเติม 1 ล้านไร่ รวม 2 ล้านไร่ ภายในปี 2573 ในอนาคตพื้นที่ป่าเหล่านี้จะมีศักยภาพช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้รวม 4.15 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

การประกาศเจตนารมณ์ดังกล่าว จะสอดรับกับแผนการลงทุนพลังงานทดแทน ซึ่งกลุ่ม ปตท.ตั้งเป้าหมายที่ 7,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2569 ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2565 จะมีกำลังผลิตประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ ส่วนความคืบหน้าศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยจะเริ่มก่อสร้างในปีนี้ 2565 และคาดว่าโรงงานจะเเล้วเสร็จ และสามารถเปิดดำเนินการได้ปี 2567

“เทรนด์ Green Energy จะเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ เช่น สิงคโปร์เริ่มเก็บภาษีที่ปล่อยคาร์บอน แน่นอนจะมีผลต่อสินค้าในทุกประเทศ ซึ่งไทยเองก็เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงภาวะโลกร้อน ช่วงนี้จึงเป็นช่วงเทกออฟ สู่การลดคาร์บอน เราต้องทำตั้งแต่วันนี้ เพราะจะเห็นเเล้วว่าคาร์บอนเป็นพื้นที่การค้าโลก เราปรับตัวเพื่อรองรับมาตรการกีดกันทางการค้า และกำลังดูตลาดเทรดคาร์บอน”

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์วิกฤตพลังงาน ภายหลังกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส (OPEC+) มีมติปรับลดกำลังผลิตน้ำมันครั้งใหญ่ ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้น

นายอรรถพล มองว่า ปีนี้คาดว่าระดับราคาน้ำมันดิบจะอยู่ที่ 85-90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากนั้นแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในปีหน้าจะ “ลดลง” จากปัจจัยภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ความตึงเครียดของสงครามรัสเซีย-ยูเครน

“ปตท.ได้ประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในทุกวิกฤต ในช่วงต้นปี 2565 ปตท.ได้สต๊อกน้ำมันตามกฎหมายหลังสงคราม รัสเซีย-ยูเครนในเดือน ก.พ. ได้วางแผนซื้อน้ำมันมาเก็บไว้ 4 ล้านบาร์เรล เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ โดยปัจจุบันเริ่มทยอยนำสต๊อกออกมาใช้ ดังนั้น เรื่องการขาดแคลนพลังงานคงจะไม่เกิดขึ้น”

ขณะที่สถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ปัจจุบันค่อนข้างปรับตัวสูง จึงพยายามลดการใช้งานลงให้ได้มากที่สุด โดย ปตท.ได้บูรณาการร่วมกันหลายภาคส่วน เข้าไปสนับสนุน เตรียมการเรื่องการจัดการทรัพยากรให้เพียงพอ เหมาะสม ทั้งการทำงานของโรงกลั่น การขนส่ง

ผลจากการร่วมงานกันกับกระทรวงพลังงาน สามารถช่วยลดการนำเข้า LNG ลงไปได้มาก อย่างไรก็ตามการใช้น้อยที่สุดถือว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว แม้ว่าราคา LNG จะอยู่ในขาขึ้น แต่เชื่อว่าคงจะไม่แพงตลอดไป

“การที่ประเทศมีสิ่งอำนวยความสะดวก หรือคลังรองรับพร้อมเป็นเรื่องที่ดีเพื่อเพิ่มทางเลือก เรามีโรงกลั่น แหล่งก๊าซในอ่าว มี LNG นำเข้า ทำให้สามารถบริหารจัดการได้ตามสภาวะ ดังนั้น ยังไม่ต้องชะลอคลัง 3 (มาบตาพุด) เพราะก๊าซยังสามารถเติบโตได้ ก๊าซเป็นไฮโดรคาร์บอนที่ก่อมลพิษน้อยที่สุด”