เพิ่มสิทธิประโยชน์รถอีวี 8 ปี แบต-หัวชาร์จ เว้นภาษี 3-5 ปี

สถานีชาร์จรถไฟฟ้า

บอร์ด BOI จัดให้ เพิ่มมาตรการสนับสนุนอื่น ๆ เพิ่มเติม ขณะที่มาตรการส่งเสริมลงทุนรถอีวี ลดภาษีนิติบุคคลเต็มแม็ก 8 ปี กิจการโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถไฟฟ้า กับกิจการสถานีชาร์จอีวี 3-5 ปี หลัง 17 บริษัทรถอีวีแห่เข้าไทย ยอดทะลุ 80,000 ล้านบาท ด้านกลุ่มยานยนต์ ส.อ.ท.ชี้มาตรการใหม่ออกเร็วจะจูงใจนักลงทุน ผุดโครงการแบตเตอรี่เพิ่มขึ้น ขณะที่ WHA แจ้งข่าวดี BYD ผลิตรถปี 2567 พร้อมดึงโรงงานแบตเตอรี่เข้ามาด้วย

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในครั้งถัดไปประมาณเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ว่า เตรียมเสนอบอร์ด BOI พิจารณาให้ “เพิ่ม” มาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในส่วนของโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) กับสถานีชาร์จ EV จากก่อนหน้านี้ที่มาตรการส่งเสริม EV ออกมาเป็นแพ็กเกจครอบคลุมแล้วทั้งในส่วนของประเภทรถ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ กิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้า (charging station) ที่จะสนับสนุนให้สิทธิประโยชน์สำหรับการติดตั้ง “หัวชาร์จ” ตามอาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า จากเดิมเน้นที่สถานีบริการน้ำมันเท่านั้น

ตารางสิทธิประโยชน์อีวี

ดังนั้นเพื่อให้มาตรการส่งเสริมการลงทุนกิจการ EV ครอบคลุมสิทธิประโยชน์ ทั้งในส่วนมาตรการภาษีของ BOI-กระทรวงการคลังและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง การส่งเสริมลงทุนให้ครบวงจรทั้งห่วงโซ่การผลิต (supply chain) ทั้งดีมานด์-ซัพพลาย-ผู้ผลิต-ผู้ใช้ จำเป็นต้องมีการเพิ่มมาตรการ โดยเบื้องต้นจะเป็นมาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลระยะเวลา 8 ปี

“EV เรามีครบวงจร เราให้สิทธิประโยชน์กับผู้ผลิต เป็นการกระตุ้นดีมานด์ที่แรกและเราใกล้จะออกเพื่อซัพพอร์ตแบตเตอรี่และตัวชาร์จในส่วนของผู้ผลิตเช่นกัน แพ็กเกจใหม่ที่เสนอจะไม่มองแค่เครื่องมือของ BOI ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนเท่านั้น แต่เวลาเราจะไปขายนักลงทุนจะต้องเอามาตรการของกระทรวงการคลังบวกเข้าไปด้วย ซึ่งจะชัดเจนยิ่งขึ้น แล้วสิทธิประโยชน์ที่ให้ในฝั่งผู้ใช้ก็คือ เยอะมาก ไม่ได้มีแค่ BOI กับคลัง แต่ยังมีหน่วยงานอื่น กระทรวงพลังงาน มีเรื่องอัตราค่าชาร์จไฟอีก แต่เวลาพูดเราเห็นแค่ส่วนของเรา นักลงทุนไม่ค่อยรู้แท้จริงเวลาไปขาย เรายกเอาทั้งแพ็กเกจไปดึงดูดนักลงทุนเข้ามา” นายนฤตม์กล่าว

ให้ BOI ไปแล้ว 8 แสนคัน

นับตั้งแต่ปี 2560 มาตรการส่งเสริมการลงทุน EV กำหนดให้สิทธิประโยชน์กับยานยนต์ 3 ประเภท คือ HEV PHEV BEV รวมถึงจักรยานยนต์ไฟฟ้า สามล้อไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า เรือไฟฟ้า จากนั้นได้เพิ่มประเภทกิจการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า โดยปรับปรุงเพิ่มประเภทชิ้นส่วนที่สำคัญ เช่น high voltage harness, reduction gear, battery cooling system, regenerative braking system เป็นต้น

และยังขยายส่งเสริมการลงทุนไปถึง กิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้า (charging station) ที่ปัจจุบันส่งเสริมไปแล้ว 4 ราย มีหัวจ่ายทั้งหมดกว่า 6,500 หัวจ่าย ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็น quick charge ตามมาด้วยกิจการที่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ที่มีส่วนประกอบสำคัญ 3 ส่วน คือ ระบบกักเก็บพลังงาน (energy storage system, charging module และ front & rear axle module)

สำหรับโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มีมูลค่า 80,208 ล้านบาท ใน 26 โครงการ (17 บริษัท) คิดเป็นจำนวนรถ EV 838,775 คัน แบ่งเป็น HEV (38,623 ล้านบาท) 7 โครงการ (7 บริษัท) 440,955 คัน, PHEV (11,665 ล้านบาท) 8 โครงการ (8 บริษัท) 137,600 คัน, BEV (27,745 ล้านบาท) 15 โครงการ (14 บริษัท) 256,220 คัน และ battery electric bus (2,173 ล้านบาท) 2 โครงการ (2 บริษัท) 4,000 คัน

และหากเป็น BEV เพียว ๆ ปัจจุบันมีทั้งหมด 14 บริษัทที่ยื่นขอรับการส่งเสริม ประกอบด้วย HORIZON, MITSUBISHI, TOYOTA, MAZDA, TAKANO, SKYWELL, MG, NISSAN, HONDA, MINE, FOMM, BENZ, GWM และ BYD มี 13 บริษัทได้ออกบัตรส่งเสริมแล้ว เหลือเพียง HORIZON รายเดียว ซึ่งได้รับการอนุมัติ รอเพียงขั้นตอนการออกบัตรส่งเสริม สำหรับแบรนด์ที่ผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้วมี 2 รายคือ FOMM กับ TAKANO

ส.อ.ท.หนุนออกมาตรการเร็ว

ด้านนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันรถ EV กว่า 98% นำเข้าจากต่างประเทศเพื่อจำหน่ายในประเทศไทย แม้หลายบริษัทจะได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ไปแล้ว แต่ยังไม่มีการผลิตเพื่อจำหน่ายเองในประเทศ แต่รัฐบาลได้กำหนดเงื่อนไขไว้ว่า ภายในปี 2567 จะต้องมีการผลิตจริง 1% ของยอดนำเข้าหรือ 1,000 คันในปี 2568 เพิ่มเป็น 1.5% ของยอดนำเข้าหรือ 1,500 คัน ซึ่งหากมาตรการส่งเสริม EV ยังออกมาไม่ครบ แต่ถือว่า “ยังพอมีเวลาที่เอกชนจะทำตามเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนด”

แต่อย่างไรก็ตาม หากมาตรการสำหรับแบตเตอรี่ออกมาเร็วตามที่ตั้งเป้าไว้ภายในปี 2565 ก็จะทำให้เอกชนสนใจที่จะลงทุนและยิ่งทำให้ประเทศไทยมีโอกาสได้โครงการลงทุนใหม่ในส่วนของแบตเตอรี่ ทั้งที่เป็นบริษัทที่ผลิตรถ EV อยู่แล้ว และส่วนที่เป็นบริษัทผลิตแบตเตอรี่ EV โดยเฉพาะ

“ตอนนี้มีบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ที่ผลิตแบตเตอรี่ EV อยู่ ส่วนบริษัทที่ได้ BOI ไปแล้วมีโอกาสที่จะลงทุนผลิตแบตเตอรี่ใช้เอง ซึ่งนั่นถือว่าดี จะพ่วงโครงการลงทุนมาด้วย แต่ก็อยู่ที่เทคโนโลยีด้วยว่ามีหรือไม่ บริษัทอาจเลือกที่จะผลิตเอง หรือดึงซัพพลายเชนมาผลิตให้ หรือซื้อจากผู้ผลิตในประเทศไทย ซึ่งทั้งหมดต้องรอดูรายละเอียดมาตรการใหม่ที่จะออกมา ยิ่งเร็วเรายิ่งมีโอกาสมาก เอกชนก็มีเวลาศึกษาและตัดสินใจเร็วขึ้น” นายสุรพงษ์กล่าว

คลอด 3 มอก. EV ปีหน้า

ส่วนความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตรถยนต์ EV ในประเทศนั้น ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้จัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์ (มอก.) สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมถึงชิ้นส่วน ประเภท และองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องไว้ทั้งหมด 128 มาตรฐาน

เช่น อุปกรณ์ควบคุมและป้องกันในสายสำหรับการชาร์จไฟยานพาหนะไฟฟ้า, เต้าเสียบ-เต้ารับ, ระบบประจุไฟฟ้า, ระบบสับเปลี่ยนแบตเตอรี่, สวิตช์เกียร์ เป็นต้น ในส่วนของมาตรฐานหรือ มอก.มาตรฐาน EV ที่จะดำเนินการเป็นมาตรฐานบังคับในปีงบประมาณ 2566 จะมี 3 มาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐานสถานีชาร์จ มอก.61851 ระบบประจุไฟฟ้าผ่านตัวนำของยานยนต์ไฟฟ้า, มาตรฐานแบตเตอรี่ไฟฟ้า มอก.2952-2561 โดยเป็นส่วนของแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า มอก.3026-2563 กับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ประเภท M (รถยนต์นั่งส่วนบุคคล) และประเภท N (รถกระบะ)

แบตไฟฟ้า BYD

ด้านนางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวว่า หลังจากบริษัท บีวายดี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ BYD เซ็นสัญญาซื้อขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าพวงมาลัยขวาที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด และจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบเเบตเตอรี่ (BEV) เป็นหลัก

โดยจะเริ่มผลิตได้ในปี 2567 กำลังการผลิต 150,000 คัน/ปี ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทาง BYD มีแผนที่จะดึงซัพพลายเข้ามาด้วย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า หากรัฐมีมาตรการออกมาเร็วและชัดเจน เชื่อว่าโครงการเหล่านี้มีโอกาสมากที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น