EV จีนเดือด เปิดจองอีกรอบ “โตโยต้า” พลิกลุยพลังงานไฮโดรเจน

รถอีวีจีน

“อีวีจีน” ยังแรงไม่หยุด “เอ็มจี-เกรท วอลล์ฯ” ฮึดเปิดรับจองอีกรอบ หลังวิกฤตชิปคลี่คลาย ปลื้มสรรพสามิตอนุมัติจ่ายเงินสนับสนุนลอตแรกกว่า 100 ล้านบาท ระบุปีนี้มีรถเข้าร่วมโครงการ 2.5 หมื่นคัน แย้มปลายปีเตรียมส่งเก๋งไฟฟ้า 100% MG4 ลงตลาดเพิ่มอีกรุ่น หลายคนห่วงลูกค้าโตโยต้ารออีวียาว หลังมีแนวโน้มหันไปลุยพลังงานไฮโดรเจน

แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแม้สัดส่วนไม่เยอะเมื่อเทียบกับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป แต่ในช่วงปี 2565 กลับมีอัตราการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยประเมินว่าปีนี้ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าน่าจะทะลุ 10,000 คัน ส่วนปี 2566 ตัวเลขน่าจะเติบโตขึ้นกว่าเท่าตัว ด้วยมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล ทั้งมาตรการภาษี อาทิ ภาษีนำเข้า ภาษีชิ้นส่วนประกอบอื่น เช่น แบตเตอรี่ ฯลฯ เงินอุดหนุนรวมถึงยังมีตัวเร่งที่สำคัญคือ การรุกตลาดอย่างคึกคัก โดยเฉพาะค่ายรถยนต์จากจีน ซึ่งมีทั้งแบรนด์ใหม่ที่เข้ามาและแบรนด์เดิมที่พร้อมส่งอีวีรุ่นใหม่ลงตลาดอย่างต่อเนื่อง

อีวีจีนเปิดรับจองอีกรอบ

นายณรงค์ สีตลายน กรรมการผู้จัดการ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมกลับมาเปิดรับจองรถยนต์ไฟฟ้า ORA Good Cat GT อีกครั้งในวันที่ 28 ตุลาคม-30 พฤศจิกายนนี้ ราว ๆ 500 คัน โดยจะใช้แคมเปญ PREMIERE DEAL เพื่อมอบความพิเศษให้กับลูกค้า ส่วนลูกค้าที่จองไปก่อนหน้านี้จะเร่งส่งมอบได้เร็วขึ้นกว่าเดิมที่ได้ประกาศไว้ โดยยังคงราคา 1.286 ล้านบาท หลังหักส่วนลดจากเงินอุดหนุน 1.5 แสนบาทแล้ว ผ่าน GWM Application และเว็บไซต์ WWW.GWM.CO.TH ซึ่งลูกค้าจะได้รับสิทธิประโยชน์กว่า 130,000 บาท

“เราได้ส่งมอบ ORA Good Cat สู่ผู้บริโภคชาวไทยไปแล้วทั้งสิ้น 3,427 คันภายในปีนี้”

เช่นเดียวกับ นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เอ็มจี ทั้ง ZS EV และ EP ยังมียอดค้างส่งมอบสูงถึง 5,000 กว่าคัน จากยอดทั้งหมดเกือบ 10,000 คันในช่วงที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะสามารถเคลียร์ได้หมด และจะเปิดรับจองอีกครั้งราว ๆ ไตรมาสแรกปี 2566 หลังจากที่ปิดรับจองมาพักใหญ่

“ตอนนี้พยายามเร่งเคลียร์อยู่ เราพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกค้าใช้เวลารอรับรถน้อยที่สุด” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับรถอีวีที่กำลังจะเปิดรับจองเร็ว ๆ นี้ยังมีอีก 1 ค่ายคือ บีวายดี โดยจะเปิดรับจอง ATTO 3 ทุกโชว์รูมทั่วประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 นี้ และมีรถพร้อมส่งรถให้ลูกค้าปีแรกได้มากถึง 5 พันคัน

ส่ง MG4 (อีวี) กวาดตลาดเพิ่ม

ตลาดอีวีที่กลับมาคึกคักช่วงไตรมาสสุดท้าย เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่หลายค่ายเริ่มมีรถส่งมอบลูกค้า โดยก่อนหน้านี้ แบรนด์เนต้า นายอเล็กซ์ เป่า จ้าวเฟย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด ยืนยันว่ายอดจองทะลุ 3,000 คันแล้ว แม้ยังไม่ได้เอ็มโอยูเข้าโครงการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้ากับกรมสรรพสามิต แต่เนต้าได้ประกาศลดราคาให้ลูกค้าเท่ากับเงินอุดหนุนไปเรียบร้อย ตอนนี้มอบหมายให้ บีอาร์จี ดีลเลอร์รายแรกส่งมอบรถให้ลูกค้าไปแล้วกว่า 300 คัน

เช่นเดียวกับ นายพิทยา ธนาดำรงค์ศักดิ์ ประธาน บริษัท อีวี ไพรมัส จำกัด กล่าวว่า รถยนต์ไฟฟ้าซิตี้คาร์ แบรนด์ “VOLT” ก็มียอดจองทะลุ 2,000 คัน โดยภายในเดือนตุลาคมนี้ บริษัทจะสามารถทยอยส่งมอบรถลอตแรกจำนวน 100 คันได้

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้น่าจะมีแบรนด์อีวีใหม่เข้ามาเสริมอีก 2 แบรนด์ อาทิ เฌอรี่ รวมถึง ฉางอัน ออโตโมบิล และล่าสุดแบรนด์เอ็มจี ยังมีแผนจะส่งรถยนต์นั่ง MG4 อีวี ลงตลาดอีกรุ่น ในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป ทำให้แบรนด์เอ็มจี มีรถอีวีทำตลาดในบ้านเราครบทุกเซ็กเมนต์ ตั้งแต่เอสยูวี, เอ็มพีวี และซีดาน

สรรพสามิตจ่ายลอตแรกพันคัน

สำหรับเงินอุดหนุนลอตแรก ซึ่งค่ายรถส่งมอบรถให้ลูกค้าไปแล้วนั้น ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากการสอบถามไปยังทีมผู้บริหารของค่ายรถยนต์สัญชาติจีนทั้ง 2 ค่ายอย่าง เกรท วอลล์ มอเตอร์ ประเทศไทย และเอ็มจี เซลส์ ประเทศไทย กล่าวว่า ยังไม่ได้รับ ซึ่งจะมีสองส่วน ประกอบด้วยภาษีนำเข้าตามแหล่งที่มาของสินค้า และเงินอุดหนุนซึ่งค่ายรถนำไปหักกับราคาที่ตั้งไว้เรียบร้อย โดยที่ผ่านมาทั้งสองค่ายมียอดส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้ารวมกันภายใต้โครงการดังกล่าวไปแล้วไม่น้อยกว่า 3,000 คัน หรือคิดเป็นมูลค่า 450 ล้านบาท และยังมีคำสั่งซื้อคงค้างอีกแบ่งเป็นเกรท วอลล์ฯ 1,200 คัน และเอ็มจีเกือบ 5,000 คัน

ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่งลงนามอนุมัติจ่ายเงินอุดหนุนให้กับ 2 ค่ายรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่ได้สิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าไปลอตแรก ประมาณ 1,000 คัน ยอมรับว่ากระบวนการตรวจสอบก่อนจ่ายเงินต้องรอบคอบและใช้เวลา โดยผ่านคณะกรรมการตรวจสอบ 3-4 ชุดด้วยกัน

“การตรวจสอบต้องชัดเจนว่า รถอีวีที่จะได้รับสิทธิได้จดทะเบียนกับทางกรมการขนส่งทางบกเรียบร้อยแล้ว จากนั้นก็มีคณะกรรมการตรวจสอบอีก 3-4 ชุดด้วยกัน ตรวจเสร็จ อนุมัติแล้วก็ต้องทำเรื่องส่งไปกรมบัญชีกลาง เพื่อออกระเบียบจ่ายเงิน ตอนนี้ 1,000 คันที่อนุมัติไปแล้ว ก็ต้องรอระเบียบจ่ายเงินออกมาก่อนด้วย” นายเอกนิติกล่าว

ทั้งนี้ การจ่ายเงินดังกล่าว กรมจะดำเนินการจ่ายไตรมาสละ 1 ครั้ง เนื่องจากค่ายรถยนต์จะทยอยส่งตัวเลขเข้ามา ซึ่งทางกรมก็จะรวบรวมแล้วจ่ายเป็นรายไตรมาส โดยลอตที่อนุมัติไป 1,000 คันนี้ก็เป็นยอดจากไตรมาสก่อนหน้านี้ ซึ่งจะใช้งบฯกลางปี 2565 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้แล้ว และมีการก่อหนี้ผูกพันไว้ วงเงิน 2,900 ล้านบาท ส่วนในปีงบประมาณ 2566 นี้ จะมีการขอตั้งงบฯอีกที

“ตอนนี้มีค่ายรถอีวี ได้แก่ เกรท วอลล์ฯ กับเอ็มจี ทยอยส่งจำนวนรถที่จดทะเบียนสำเร็จแล้วเข้ามาอีกประมาณ 500 คัน คิดเป็นวงเงินอุดหนุนประมาณ 50 ล้านบาท” อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าว

10 แบรนด์ทะลุ 2.5 หมื่นคัน

นายเอกนิติกล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีค่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์เข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ รวมแล้วราว 10 ราย โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ต.ค. กรมได้ลงนามกับบริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด รถจักรยานยนต์อีวีอีก 1 ราย

“10 รายแบ่งเป็นรถจักรยานยนต์ 3 ราย และรถยนต์อีก 7 ราย และจะมีผู้ประกอบการทยอยขอเข้าร่วมมาตรการมาอีกเรื่อย ๆ ซึ่งในช่วงปลายเดือน ต.ค.นี้ ก็จะมีการลงนามร่วมกับรถอีวีจากค่ายเนต้า ส่วนค่ายรถยนต์ฮอนด้า คาดว่าจะมาเข้าร่วมโครงการในเร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้ เมื่อเป็นเทคโนโลยีใหม่ การเข้ามาร่วมมาตรการของแต่ละบริษัทนั้น ก็จะขึ้นอยู่กับแต่ละนโยบายของบริษัทนั้น ๆ ซึ่งบางแห่งต้องการทดสอบให้แน่ใจก่อน ส่วนจีนเป็นประเทศที่มุ่งในเรื่องอีวีอยู่แล้ว การเข้ามาร่วมมาตรการจึงรวดเร็ว”

อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวว่า ล่าสุดผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ได้แจ้งความจำนงรับโควตาส่วนลดตามมาตรการเข้ามาภายในสิ้นปี 2565 นี้ แล้วกว่า 25,000 คัน ถือว่าเป็นจำนวนที่สูงมากหากเทียบกับการเริ่มใช้มาตรการในปีแรก โดยการจ่ายเงินอุดหนุนให้กับผู้ประกอบการนั้น สรรพสามิตจะจ่ายเป็นรายไตรมาส โดยรถอีวีที่ยื่นเข้ามานั้นจะต้องจดทะเบียนให้ขายรถเสร็จสมบูรณ์ก่อน จึงจะรวบรวมเอกสารเบิกจ่ายเงิน

ลูกค้าโตโยต้าต้องเผื่อใจ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับค่ายรถยนต์และจักรยานยนต์ที่เข้าร่วมโครงการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 10 ราย ประกอบด้วย บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด แบรนด์โอร่า, บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด, บริษัท เรเวอร์ ออโตโมทีฟ จำกัด แบรนด์บีวายดี, บริษัท ไมน์ โมบิลิตี คอร์ปอเรชั่น จำกัด แบรนด์ไมน์, บริษัท เอช เซม มอเตอร์ จำกัด จักรยานยนต์ไฟฟ้าโดยคนไทยมีโรงงานที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, บริษัท กรีน ฟิวเตอร์ จำกัด แบรนด์โวลท์ และแบรนด์เซเรส, บริษัท เดโก กรีน เอนเนอร์จี จำกัด จักรยานยนต์ไฟฟ้าจากไต้หวัน โดยมีโรงงานอยู่จังหวัดนครปฐม และบริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด

ซึ่งเดิมโตโยต้ามีแผนจะทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า แบรนด์ bZ รุ่น 4X โดยเมื่อปลายปีที่แล้วนำมาอวดโฉมในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2021 และมีกระแสข่าวมาอย่างต่อเนื่องว่าจะเปิดขายจริงราว ๆ ปลายไตรมาส 3 ที่ผ่านมา แต่ทุกอย่างยังนิ่งสนิทท่ามกลางข่าวลือว่าโตโยต้าน่าจะขยับแผนลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าจากบ้านเราไปประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีความได้เปรียบโดยเฉพาะแหล่งแร่ที่จะใช้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า

นอกจากนี้เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ประธานใหญ่โตโยต้า “อากิโกะ โตโยดะ” ยังได้กล่าวบนเวทีการประชุมตัวแทนจำหน่ายประจำปีของโตโยต้าที่สหรัฐอเมริกาว่า รถยนต์ในกลุ่มไฮบริดและปลั๊ก-อินไฮบริด เช่น Prius, รถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน เช่น Mirai และแบตเตอรี่ไฟฟ้าทั้งหมด 15 รุ่น ยังสามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าภายในปี 2568 นี้ได้สบาย ๆ

ที่สำคัญยังระบุด้วยว่า โตโยต้าไม่เชื่อว่ารถยนต์ไฟฟ้าเพียว ๆ จะถูกนำมาใช้อย่างรวดเร็ว ด้วยโครงสร้างพื้นฐาน ราคา และสิ่งที่สำคัญคือ การขาดแคลนลิเทียมและนิกเกิลที่ใช้ผลิตแบตเตอรี่ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า คือปัญหาด้านการผลิตและซัพพลายเชน แต่เป้าหมายของโตโยต้า ยังเหมือนเดิมคือ การปล่อยคาร์บอนให้เป็นกลางภายในปี 2050 แต่นั่นไม่ใช่แค่การเปลี่ยนทุกอย่างเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดเท่านั้น

สำหรับบ้านเราล่าสุดยังมีกระแสข่าวว่า โตโยต้ามีแผนจะเปิดตัวรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนเร็ว ๆ นี้ โดยมีสื่อหลายสำนักระบุว่าจะเป็นแบรนด์เลกซัส พร้อมทั้งมีข้อมูลสนับสนุนถึงแผนร่วมทุนกับกลุ่มพันธมิตร เช่น บริษัท ปตท. และบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด เพื่อปูพรมพลังงานไฮโดรเจน

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า แม้การลงทุนสถานีเติมไฮโดรเจนจะใช้เงินลงทุนต่อแห่งสูงกว่าสถานีชาร์จอีวี และอุปกรณ์ที่ใช้ต้องรองรับแรงดันสูง แต่ต้นทุนเชื้อเพลิงไฮโดรเจนปัจจุบันยังมีราคาค่อนข้างต่ำ ทั้งนี้ การที่โตโยต้ามองพลังงานอื่น ๆ ที่น่าจะเหมาะสมกว่าพลังงานไฟฟ้าตามที่บริษัทแม่มีนโยบาย ยังสอดรับกับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์รอบล่าสุด ที่กระทรวงการคลังได้เพิ่มพิกัดภาษีสำหรับรถยนต์ประหยัดพลังงานที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิง (fuel cell) เข้ามาด้วย ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกันกับรถอีวี เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์ โดย fuel cell นี้จะมีเทคโนโลยีที่ต้องลงทุนมากกว่ารถอีวีแบตเตอรี่ ดังนั้น อัตราภาษีจึงกำหนดให้ต่ำกว่ารถอีวี โดยอัตราภาษีอยู่ที่ 1% ซึ่งจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป

จับตา EA ผลิตอีวีเจ้าแรกในไทย

สำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าตามเงื่อนไขกระทรวงการคลัง กำหนดให้บริษัทเข้าร่วมโครงการ เริ่มผลิตปี 2566 ซึ่งหากเริ่มได้ก่อนการผลิตชดเชยจะมีอัตราส่วน 1 ต่อ 1 คัน แต่ถ้าข้ามไปปี 2567 อัตราส่วนจะขยับเป็น 1 ต่อ 1.5 คัน ซึ่งประเด็นนี้รถยนต์สัญชาติไทยแบรนด์ ไมน์ โมบิลิตี ของกลุ่มบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) EA ซึ่งได้ส่ง ไมน์ MT-30 มินิทรักไฟฟ้าลงตลาดไปแล้ว มีกำหนดผลิตจากโรงงานอีเอฯ อ.บ้านโพธ์ จ.ฉะเชิงเทรา มีกำลังผลิต 5,000 คันต่อปี ภายในต้นปี 2566

ขณะที่ค่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้า หลังเซ็นเอ็มโอยูกับสรรพสามิต มีแผนส่ง Benly e มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในไทยลงทำตลาดในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ พร้อมให้ลูกค้าได้ส่วนลดจากเงินอุดหนุน 1.8 หมื่นบาท