ไทยซัมมิท ขยายโรงงาน “สหรัฐ-จีน” ป้อนยักษ์อีวีโลก “เทสลา-Rivian”

ไทยซัมมิท ชนาพรรณ

“ไทยซัมมิท” ยักษ์ผลิตชิ้นส่วนปรับแผนขยายฐานผลิตต่างประเทศรับอุตสาหกรรมอีวีโลก ลงทุนโรงงานใหม่สหรัฐ-จีนป้อนเทสลา-ริเวียนของอเมซอน และแบรนด์จีนอีกเพียบ ผุดโรงงานเซาท์แอฟริกากวาดคำสั่งซื้อค่ายฟอร์ด คว้าออร์เดอร์จักรยานยนต์ไฟฟ้าที่อินเดีย ชี้โอกาสในไทยเติบโตต่ำ รัฐบาลดึงผู้ผลิตต่างชาติมาเป็นแพ็กเกจ ลืมผู้ผลิตคนไทย ลั่นปีนี้โตเพิ่ม 15% ปลื้มได้รับทาบทามจากอีวีจีนในไทย

นางสาวชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการ บริษัท ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ของไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เทรนด์อุตสาหกรรมของโลกที่กำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากเครื่องยนต์สันดาปภายในไปรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้บริษัทต้องปรับตัวรองรับกับการเปลี่ยนแปลง

ลุยขยายตลาดต่างประเทศเพิ่ม

โดยในปีนี้บริษัทได้ขยายการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มเติมซึ่งมี 7 ประเทศด้วยกัน ประกอบด้วย อเมริกา, จีน, ญี่ปุ่น, เซาท์แอฟริกา, อินเดีย, เวียดนาม,อินโดนีเซีย ซึ่งจะมีทั้งการซื้อที่ดินสร้างโรงงานใหม่และขยายโรงงานเดิม ในอเมริกาเป็นการตั้งโรงงานใหม่รองรับแบรนด์เทสลา และแบรนด์ริเวียน (RIVIAN) ของอเมซอน รวมถึงกลุ่มบิ๊กทรีด้วย

ส่วนในประเทศจีนเป็นการขยายโรงงานเดิม ตลาดอีวีจีนใหญ่มากและหลากหลายแบรนด์ มีชิ้นส่วนเพิ่มเติมจากรถอีวีอีกเยอะมาก ซึ่งไทยซัมมิทเก็บได้ทั้งหมด ขณะที่อินเดียเป็นการลงทุนเพื่อป้อนชิ้นส่วนกลุ่มมอเตอร์ไซค์รวมทั้งมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ซึ่งมียอดผลิตรวมต่อปีมากถึง 8 ล้านคัน

นอกจากนี้ยังได้ลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท ซื้อที่สร้างโรงงานพร้อมเครื่องจักรใหม่ ในเซาท์แอฟริกาเพิ่งเสร็จเรียบร้อยไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทำบอดี้พาร์ตเพื่อป้อนค่ายฟอร์ด ที่นี่ค่อนข้างง่ายเพราะเป็นโมเดลเก่า ซึ่งไทยซัมมิทเคยซัพพอร์ตตั้งแต่ฟอร์ดใช้ไลน์ผลิตในไทยก่อนจะย้ายไป ซึ่งมีวอลุ่มใหญ่มาก

ส่วนประเทศที่เหลือเป็นการขยายโรงงานเพิ่มเติม เช่นเวียดนามป้อนมอเตอร์ไซค์ และรถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่น อินโดนีเซียป้อนแบรนด์ใหม่ ๆ ที่เพิ่งเข้าไปทำตลาด ซึ่งไทยซัมมิทสามารถรองรับได้ทั้งหมด

ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ

สำหรับเป้าหมายของกลุ่มไทยซัมมิทการไปต่างประเทศมี 2 รูปแบบ ลงทุนเองและร่วมลงทุนกับพาร์ตเนอร์ เพื่อให้ได้ทั้งเทคโนโลยีและโนว์ฮาว จากนี้บริษัทจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ในต่างประเทศให้มากขึ้น จากปัจจุบันที่มีอยู่ 35% ของรายได้ ซึ่งปีนี้ 7 เดือนที่ผ่านมา บริษัทมีอัตราเติบโตประมาณ 10-15% ใกล้เคียงกับการเติบโตของตลาดรถยนต์ และทั้งปีก็น่าจะมีแนวโน้มเติบโตขึ้น แต่กำไรอาจจะลดลง

“จริง ๆ อุตฯรถยนต์ถ้าไม่มีปัญหาชิป น่าจะไปได้มากกว่านี้ แต่เรื่องชิปกระทบมาก ออร์เดอร์จากค่ายรถยนต์จะมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา บางช่วงชิปขาด เราต้องหยุดส่งชิ้นส่วนนานเลย เพราะฉะนั้นการเตรียมการของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ความยืดหยุ่นเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องปรับเปลี่ยนแผนการผลิตได้ตลอดเวลา ซึ่งที่ผ่านมาผู้ผลิตรายใหญ่อาจจะสู้รายเล็ก ๆ ไม่ได้ เพราะจะต้องมีทั้งสต๊อก การปรับเปลี่ยน คนงาน แต่ไทยซัมมิทก็ทำได้ดี”

ชี้กำลังผลิตในไทยไม่โต

รองประธานไทยซัมมิทกล่าวอีกว่า การบุกตลาดต่างประเทศนอกจากจะเป็นการรองรับเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังมาแรงแล้ว ยังเป็นการขยายน่านน้ำใหม่ให้กับบริษัท เพราะจากการวิเคราะห์อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทย กำลังผลิตปีหนึ่งไม่เกิน 2 ล้านคัน แบ่งเป็นในประเทศและส่งออกอย่างละครึ่ง แม้จะมีทัพรถยนต์จากจีนเข้ามาเสริมตลาดก็ตาม

แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อุตฯรถยนต์ได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิดและยังมีปัญหาเซมิคอนดักเตอร์อีก ทำให้ตลาดหดตัวไปเยอะ เหลือราว ๆ 1.5 ล้านคัน กว่ากำลังการผลิตจะพลิกกลับขึ้นมาถึง 2 ล้านคัน อาจจะต้องใช้เวลามากกว่า 4-5 ปี ที่น่าห่วงคือถ้าต้องใช้เวลานานกว่าจะกลับมาเต็ม 2 ล้านคัน

แต่ว่าผู้เล่นและยี่ห้อรถยนต์มีหลากหลายแบรนด์มากขึ้นเรื่อย ๆ ต้องยอมรับว่ายอดขายกับกำไรจะไม่เท่าเดิม จะเกิดการแย่งมาร์เก็ตแชร์กันอย่างเข้มข้น

“ฟิกซ์คอสต์เท่าเดิม ผู้ผลิตและซัพพลายเชนต้องทำใจว่ากำไรน้อยลงแน่ ๆ”

ค่ายอีวีจีนแห่เจรจาลงทุนไทย

นางสาวชนาพรรณกล่าวถึงนโยบายส่งเสริมรถอีวีของรัฐบาลเป็นเรื่องดี ตอนนี้มีค่ายรถยนต์จากจีนประกาศความชัดเจนเข้ามาลงทุนใช้ไทยเป็นฐานผลิต ซึ่งไทยซัมมิทก็ได้รับการทาบทามให้เป็นผู้ป้อนชิ้นส่วนจากผู้ผลิตจากจีนเกือบทุกยี่ห้อ

โอดผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยถูกลืม

นางสาวชนาพรรณกล่าวถึงทิศทางของอุตสาหกรรมรถยนต์ ถ้ามองกันจริง ๆ วันนี้ถือว่าฝุ่นยังตลบ เพราะไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะชูจุดแข็งของประเทศตรงไหน ยกตัวอย่างการสนับสนุนของรัฐ ผู้บริโภคได้แล้ว ตอนนี้ถ้าเป็นรถอีวีมีเงินอุดหนุนให้ ผู้ผลิตรถยนต์สนับสนุนกันมาตั้งแต่จำความได้ สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ มากมาย แต่คนที่ถูกลืมคือผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ มีคำถามมากมายว่าใครจะเป็นผู้ดึงให้ผู้ผลิตรถยนต์อยู่กับประเทศเราในวันที่สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ หมดลง

“เวลาเปรียบเทียบสงสารตัวเอง และเพื่อนร่วมวงการเล็ก ๆ เราเหมือนชาวนาในอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำงานหนักมากแต่ไม่มีใครคิดถึงเรา”

ต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการไทยเก่งมาก พยายามที่จะปรับตัว รัฐบาลควรหันไปดูสักนิด ควรจะมีอะไรให้บ้าง ซึ่งไม่ใช่เม็ดเงินอย่างเดียว เช่น ความพยายามในการช่วยหาเทคโนโลยี ช่วยผลักดันให้ไปลงทุนต่างประเทศเผื่อจะได้เจอพาร์ตเนอร์

หรือออกไปเพื่อให้ได้โนว์ฮาวกลับมา ทำอย่างญี่ปุ่น ซึ่งเขามีสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เยอะแยะมากมายที่ช่วยเพิ่มอำนาจต่อรอง รัฐต้องเลือกว่าตรงไหนเป็นยุทธศาสตร์จะเป็นประเทศจีนก็ได้เหมือนอย่างที่ญี่ปุ่นเขามองว่าประเทศไทยเป็นสแตรทิจิก

“รัฐบาลเลือกเลยประเทศไหน รายย่อยหรือขนาด S อาจจะยากหน่อย แต่ระดับ M กับ L น่าจะได้ ไปแล้วหาพาร์ตเนอร์เป็นตัวแทนขอสิทธิประโยชน์ แต่ไม่เคยมี แถมเมืองไทยยังส่งเสริมและชักชวนเข้ามาเป็นแพ็กเกจทั้งซัพพลายเชน แบบนี้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยอยู่ยาก”