ดีลใหญ่สุดรอบ 20 ปี WHA-BYD จุดสตาร์ตไทยฮับ EV ดันรายได้โต 2หลัก

WHA BYD
WHA เซ็นสัญญาซื้อขายที่ดินให้ BYD ผลิตรถยนต์แบตเตอร์รี่ EV  จำนวน 600 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36

WHA เซ็นสัญญาซื้อขายที่ดินให้ BYD ผลิตรถยนต์แบตเตอรี่ EV จำนวน 600 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 เริ่มผลิตปี 2567 หนุนทำรายได้พุ่ง คาดยอดขายที่ดินปี 2565 ทะลุ 1,650 ไร่ ดันไทยเป็น Hub EV เตรียมเฟส 2 อีก 500 ไร่รองรับซัพพลายเชน

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวว่า ประเทศไทยตั้งเป้าที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) หรือ Hub EV ซึ่งการจะเป็นฮับนั้น ได้รับการสนับสนุนจากนโยบายของรัฐบาลไทย ที่ประกาศให้ปี 2030 (2567) มียอดขายเป็น 30% ของยอดการผลิตทั้งปี

ล่าสุดทาง บริษัท บีวายดี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ BYD ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มูลค่าการลงทุน 17,891 ล้านบาท ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินครั้งใหญ่ ที่นับว่าเป็นดีลใหญ่ที่สุดของ WHA

โดย BYD จะสร้างโรงงานผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าพวงมาลัยขวาที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบเเบตเตอรี่ (BEV) เป็นหลัก บนพื้นที่จำนวน 600 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 ซึ่งจะเริ่มผลิตได้ในปี 2567 กำลังการผลิต 150,000 คัน/ปี เพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศในกลุ่มอาเซียนและยุโรป

ดันไทย Hub EV

“ไทยมีศักยภาพครบทุกอย่างที่จะเป็น Hub EV ปัจจุบันเรามีค่ายรถยนต์ที่ผลิตรถ EV รายใหญ่มาก ๆ อยู่ในนิคมของเรา อย่างเกรทวอร์มอเตอร์ (GWM) เซี่ยงไฮ้มอเตอร์ ที่ผลิต MG และรายล่าสุดคือ BYD เขาก็จะดึงซัพพรายเชนทั้งคลัสเตอร์เขามาด้วย นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณมาว่าผู้ผลิต EV Top 5 ก็จะมาลงทุนที่ไทย จึงไม่ยากที่ไทยจะเป็น Hub ตามที่วางไว้ และเราก็เตรียมเฟส 2 อีก 500 ไร่ รองรับซัพพลายเชนที่กำลังจะมาเพิ่มอีก”

จรีพร จารุกรสกุล
จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA

คาดยอดขายที่ดินปี 2565 ทะลุ 1,650 ไร่

สำหรับปี 2565 นี้ คาดว่า WHA จะมียอดขายที่ดินพื้นที่นิคมทะลุเป้าเป็น 1,650 ไร่ จากเดิมตั้งเป้าไว้ที่ 1,240 ไร่ ซึ่งปัจจุบันขายไปแล้ว 1,400 ไร่ พื้นที่ที่เหลืออีกเพียงไม่กี่ร้อยไร่จึงไม่ยาก และแน่นอนว่าจะส่งผลให้มีรายได้มากกว่าปี 2564 หรือมีการเติบโตเป็นตัวเลขถึง 2 หลัก และคาดว่าจะมียอดโอนที่เดินถายในปีนี้ หรือต้นปี 2566 ได้ถึง 1,100 ไร่

นายหลิว เสวียเลี่ยง ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายขายประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก บริษัท บีวายดี ออโต้ อินดัสทรี จำกัด (BYD) กล่าวว่า การเปิดโรงงานผลิตแห่งใหม่ในต่างประเทศ ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36

ครั้งนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการขยายบริษัทของเราอย่างแท้จริง หลังจากที่ได้ค้นหาและคัดเลือกอย่างละเอียด ประเทศไทยและนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 ได้กลายเป็นตัวเลือกที่สมบูรณ์แบบ เนื่องจากทำเลที่ตั้งและชื่อเสียงของบริษัทในฐานะผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมชั้นนำของภูมิภาค

โครงการอีอีซีและนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 มีสิ่งที่เรามองหา ทั้งทำเลที่ตั้งอันโดดเด่น ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ ระบบสาธารณูปโภคและบริการระดับเวิลด์คลาส รวมไปถึงการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูง

นอกจากนั้นแล้ว ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ยังมีบทบาทสำคัญในการขยายคลัสเตอร์ยานยนต์ในอีอีซีด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการลงทุนของ BYD และเราหวังว่าจะมีความสัมพันธ์ระยะยาวอันดีร่วมกับดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ต่อไปในอนาคต”

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 พื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายของอีอีซี
นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 เป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ล่าสุดของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 1,281 ไร่ ตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ใกล้ทางหลวงหมายเลข 36 และ 3375 ในจังหวัดระยอง และห่างจากท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุดเพียง 25 กม. ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง 31 กม. และสนามบินอู่ตะเภา 23 กม.

หลิว เสวียเลี่ยง
หลิว เสวียเลี่ยง ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายขายประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก บริษัท บีวายดี ออโต้ อินดัสทรี จำกัด (BYD)

แนวคิด “นิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ”

ทั้งนี้ ภายใต้แนวคิด “นิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ” นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 เพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมล่าสุดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการสื่อสาร การคมนาคมขนส่ง การรักษาความปลอดภัย การควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการผลิตและการบำบัดน้ำเสีย และเช่นเดียวกับนิคมอุตสาหกรรมอื่น ๆ ของดับบลิวเอชเอ ในประเทศไทย

นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 ยังเชื่อมต่อกับศูนย์ควบคุมส่วนกลางของดับบลิวเอชเอ (Unified Operation Center หรือ UOC) ที่สำนักงานใหญ่ ดับบลิวเอชเอ ทาวเวอร์ ย่านบางนา ซึ่งทำให้บริษัทสามารถตรวจสอบสภาวะด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ อาทิ คุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำ และน้ำเสียที่มีในโรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนระดับน้ำฝน การจัดการจราจร และความปลอดภัย ได้แบบเรียลไทม์

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงการซื้อขายที่ดินระหว่างดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป และบริษัท บีวายดี (ประเทศไทย) ถือเป็นก้าวสำคัญของการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศไทย ปัจจุบัน

บีโอไอได้อนุมัติโครงการยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว 26 โครงการ จาก 17 บริษัท คิดเป็นยอดกำลังการผลิตรถไฟฟ้า 830,000 คัน และคาดการณ์ว่าภายในต้นปี 2566 ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 1,000,000 คัน และภายในปี 2573 รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะมีสัดส่วน 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของประเทศไทย หรือ 700,000 คันต่อปี