ลุ้นส่งออกข้าวทะลุ 8 ล้านตัน กระทุ้งรัฐปิดจุดบอดสู้คู่แข่ง

ส่งออกข้าว

“ส.ผู้ส่งออกข้าว” โล่งอก น้ำท่วมฉุดผลผลิตนาปีเสียหายไม่ถึง 1% มั่นใจปิดจ๊อบปี 65 ตามเป้า 7.5 ล้านตัน กางแผนดันส่งออกปี’66 แตะ 8 ล้านตัน นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวห่วงอนาคตความสามารถแข่งขันถูกคู่แข่งแซงหน้าแล้ว อย่าหลงแค่ประกันรายได้ พบสัญญาณปุ๋ยแพงชาวนาหันปลูกพืชอื่นนับแสนไร่

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยระหว่างการศึกษาภาวะผลผลิตข้าวนาปี ปีเพาะปลูก 2565/2566 เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 ที่ จ.อุบลราชธานี ว่า ในปี 2566 สมาคมผู้ส่งออกฯคาดว่าไทยมีโอกาสส่งออกข้าวปริมาณ 8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเป้าหมายปีนี้ที่วางไว้ 7.5 ล้านตัน โดยจากการติดตามผลผลิตข้าวนาปี 2565/2566 แม้หลายจังหวัดในภาคอีสานจะประสบปัญหาน้ำท่วม แต่หลายพื้นที่ก็ไม่ได้รับกระทบ ทั้งยังมีผลผลิตดีมากในปีนี้ ส่วนทิศทางราคายังต้องติดตาม เพราะราคาข้าวไทยยังมีความผันผวนเมื่อเทียบกับคู่แข่ง และราคาก็ยังมีส่วนต่างประมาณ 40 เหรียญสหรัฐต่อตัน

ตารางส่งออกข้าวไทย

เตือนข้าวไทยแข่งขันยาก

นายเจริญยังระบุด้วยว่า ที่ผ่านมาสมาคมได้พยายามสื่อสารให้หน่วยงานภาครัฐ เกษตรกร ได้รับรู้ถึงสถานการณ์การแข่งขันในตลาดส่งออกที่เปลี่ยนไป จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวของไทยอย่างมาก ขณะที่คู่แข่งของไทยก็มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวต่อเนื่อง ต้นทุนการผลิตต่ำ ส่งผลให้การแข่งขันส่งออกของไทยลดลง ส่วนแบ่งตลาดหลายแห่งลดลง (ตามกราฟิก) ดังนั้น ต้องมองว่าไทยจำเป็นต้องพัฒนาเพื่อการแข่งขัน เพราะหากไม่ดำเนินการอะไรเลย การส่งออกข้าวไทยจะลดลงเรื่อย ๆ

“เพื่อให้ส่งออกข้าวไทยแข่งขันได้ มองว่าการใช้งบประมาณของภาครัฐปีละ 1 แสนล้านบาท หากใช้ได้ถูกทางจะทำให้ภาคอีสานมีพื้นที่ชลประทานครบ ชาวนาสามารถปลูกข้าวได้ปีละ 2-3 ครั้ง มีผลผลิตต่อไร่ที่เพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องการให้เกษตรกรให้ความสำคัญว่า มีโครงการประกันรายได้ จำนำข้าวก็เพียงพอแล้ว แต่ต้องการให้มีการรวมตัวกันเพื่อพัฒนายกระดับการแข่งขันข้าวไทย เพราะชาวนามีกว่า 20 ล้านเสียง แต่ผู้ส่งออกมีแค่ 10 เสียงเท่านั้น และคงทำอะไรไม่ได้มาก แต่หากชาวนาได้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญอุตสาหกรรมข้าวไทยก็เชื่อว่าจะแข่งขันได้ ผลผลิตเพิ่มขึ้น ราคาดีขึ้น”

“ผู้ส่งออกได้แต่ชี้นำให้เห็นเท่านั้นว่าตลาด ผู้นำเข้าต้องการอะไร หากจะแข่งขันได้ต้องปลูกอะไร เพราะไม่ทำอะไรเลยต้นทุนก็ยังสูง ปลูกข้าวที่ตลาดไม่ต้องการ แข่งขันก็ไม่ได้ อย่างข้าวออร์แกนิก การส่งออกขยายตัวปีละ 1-3% แล้วก็มีแนวโน้มลดลง การส่งออกก็ลำบาก ตลาดยังไม่ต้องการ ยังไม่ได้รับรองจากต่างประเทศ มีแต่ออร์แกนิกไทยแลนด์เท่านั้น ใช้งบฯต่อปี 2-3 พันล้านบาท ผู้ส่งออกรับว่าทำตลาดยากมาก หากตั้งงบประมาณก็ต้องการใช้ไปในทิศทางที่ถูกต้องเพื่อการแข่งขันที่แท้จริง”

อย่างไรก็ดี การทำตลาดส่งออกข้าวของผู้ส่งออกถือว่าหมดปัญญาแล้ว จึงต้องคาดหวังให้ชาวนาเป็นจุดสำคัญที่จะชี้ให้เห็นว่าจะแข่งขันได้ต้องทำอย่างไร เพื่อให้นโยบายของรัฐออกมาตรงเป้าหมาย แม้ค่าเงินบาทไทยจะอ่อนค่าแข่งขันได้ แต่อินเดียอ่อนค่ามากกว่า ปัจจุบัน 1 เหรียญสหรัฐต่อ 82 รูปี จากอดีต 1 เหรียญสหรัฐต่อ 45 รูป เงินเวียดนาม 1 เหรียญสหรัฐต่อ 25,000 ดอง จากเดิม 22,000-23,000 ดอง ส่วนไทยราคาก็ผันผวนแข่งขันก็ลำบากมาก ถ้าหากไม่ทำอะไรเลย ส่งออกข้าวไทยในอนาคตเชื่อว่าจะลดลงแน่นอน และการซื้อ-ขายของผู้ส่งออกก็รูปแบบขายเชื่อ 3-6 เดือนกว่าจะได้เงิน

ปั๊มหัวใจ “ข้าวหอมมะลิ”

นายเจริญกล่าวว่า ผู้ส่งออกมีความเป็นห่วงข้าวหอมมะลิของไทยที่มีคู่แข่งมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในอาเซียน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความพยายามที่จะพัฒนาทำให้ข้าวมีความหอมแข่งขันกับประเทศไทยได้ จึงอยากให้มีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมมะลิของไทยให้สามารถแข่งขันได้ดีขึ้น โดยเฉพาะความหอมกับผลผลิตต่อไร่ที่ควรจะมีมากกว่าที่เป็นอยู่

นอกจากนี้มีความกังวลในเรื่องการตรวจสอบ DNA ของทั้งประเทศ เพราะเวลานี้มีที่ตรวจสอบอยู่เพียง 1 แห่ง คือที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ทำให้มีต้นทุนค่อนข้างสูงและการตรวจสอบไม่ทันกับความต้องการส่งออก หากมีศูนย์ตรวจรับรอง DNA ได้มากขึ้นจะทำให้การควบคุมคุณภาพข้าวหอมมะลิทำได้ดีขึ้น และต้นทุนในการส่งออกถูกลง รวมถึงจะทำงานได้เร็วขึ้นด้วย

ปี 2565 ยืน 7.5 ล้านตัน

นายโชคชัย เศรษฐีวรรณ อุปนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่า การส่งออกข้าวไทยในปี 2565 คาดว่าจะมีปริมาณ 7.5 ล้านตัน ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยต่อปีที่ไทยจะส่งออกได้ 7-8 ล้านตัน โดยขณะนี้ยอดการส่งออก 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) 2565 ส่งออกได้ 5.40 ล้านตัน ขยายตัว 39.1% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่า 95,232 ล้านบาท ขยายตัว 35.5% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการส่งออกข้าวขาว 2.4 ล้านตัน ขยายตัว 84.6% ข้าวนึ่ง 9.96 แสนตัน เพิ่มขึ้น 0.4% ข้าวหอมมะลิ 9.2 แสนตัน ขยายตัว 28.9% ข้าวหอมไทย 2.8 แสนตัน ขยายตัว 28.4% ขณะที่ปลายข้าวขาว 1.6 แสนตัน ขยายตัว 67% ปลายข้าวหอมมะลิ 2.4 แสนตัน ขยายตัว 43.5% ส่วนชนิดข้าวที่ส่งออกลดลง เช่น ปลายข้าวหอมไทย 78,000 ตัน ลดลง 22% ข้าวกล้องหอมไทย 6,430 ตัน ลดลง 8.1% และข้าวกล้องขาย 5.3 หมื่นตัน ลดลง 2%

“ตลาดปลายข้าวไทยส่วนใหญ่อยู่ในตลาดสหรัฐ ยุโรป ฮ่องกง เหตุที่ส่งออกปลายข้าวไทยลดลง เพราะคู่แข่งไทยอย่างเวียดนามส่งออกมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่า เวียดนามส่งออกปลายข้าวเหนียวสูงมาก เพราะเวียดนามปลูกและผลิตเพื่อส่งออก เนื่องจากเวียดนามไม่กินข้าวเหนียว ทำให้ต่อปีส่งออกได้ปีละ 1 ล้านตัน รวมไปถึงข้าวหอมมะลิในปีนี้ คาดว่าเวียดนามจะส่งออกดี”

นายโชคชัยยังระบุด้วยว่า การส่งออกข้าวไทยในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 7.5 ล้านตัน โดยเวียดนาม อินเดีย ยังเป็นคู่แข่งที่สำคัญ และคาดว่าจะส่งออกได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องของราคาที่มีเสถียรภาพกว่าไทย อย่างเวียดนามราคา 570-580 เหรียญสหรัฐต่อตันคงที่ ทั้งยังมีพันธุ์ข้าวหลากหลาย เช่น ข้าวหอมมีให้เลือกหลากหลายถึง 7 พันธุ์ ส่วนราคาไทยข้าวหอมมะลิต้นปี 600 เหรียญสหรัฐต่อตัน ปัจจุบันขยับขึ้น 600-1,000 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งผันผวน มีผลต่อผู้นำเข้าคำนวณต้นทุนลำบาก มีผลต่อการขยายตลาดข้าวหอมมะลิไทย ตลาดส่งออกข้าวสำคัญของไทยยังเป็นประเทศอิรัก แอฟริกาใต้ ฟิลิปปินส์ สหรัฐ จีน เบนิน เป็นต้น

ผลผลิตข้าวนาปีหด 0.39%

รายงานข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยถึงภาพรวมการผลิตข้าว ณ เดือน ตุลาคม 2565 โดยประเมินว่า ปริมาณผลผลิตข้าวนาปี 2565/2566 จะมีปริมาณ 26.702 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลง 0.39% เมื่อเทียบปีการผลิตที่ผ่านมา ที่ 26.806 ล้านตันข้าวเปลือก ทั้งยังพบว่าพื้นที่การเพาะปลูกข้าวทั้งประเทศ มีปริมาณ 62.917 ล้านไร่ ลดลง 0.15% เมื่อเทียบปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 63.012 ล้านไร่ ขณะที่ผลผลิตต่อไร่ยังคงที่ 445 กิโลกรัมต่อไร่ ไม่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบปีที่ผ่านมา

“เหตุที่ผลิตและพื้นที่การเพาะปลูกข้าวลดลง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ เป็นผลจากเกษตรกรได้หันไปเพาะปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ทำเกษตรผสมผสานมากขึ้น แม้จะพบว่าในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางจะมีการปลูกข้าวเพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องประสบปัญหาเรื่องของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากปุ๋ยเคมี สารเคมี เกษตรกรก็ดูแลใส่ปุ๋ยน้อยลง ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น เมื่อดูในภาพรวมพื้นที่การเพาะปลูกทั่วประเทศแล้วก็ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลดลง”

นอกจากนี้ยังพบว่า จากปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม 2565 ทำให้พื้นที่ไร่นาเสียหาย เกิดน้ำท่วมขัง นาข้าว ต้นข้าวล้ม เน่า ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังเก็บเกี่ยว ทำให้ไม่สามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ เช่น ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และสุรินทร์

ราคาข้าวดีตันละ 1.2 หมื่นบาท

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า จากการได้รับรายงานความเสียหายจากผลกระทบน้ำท่วมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด เสียหายไม่มาก ประมาณ 20% ของพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกข้าว และปีนี้ยังพบว่าผลผลิตต่อไร่ยังสูงเฉลี่ย 400-500 กิโลกรัมต่อไร่ และแม้จะพบว่าเกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีลดลง แต่ด้วยปีนี้น้ำดีส่งผลดีต่อผลผลิตข้าวในปีนี้ไม่ลดลง ทำให้ปริมาณข้าวต่อไร่ดีขึ้น
ขณะที่ราคาข้าว เกษตรกรส่วนใหญ่ยังพอใจกับราคาที่มีการซื้อ-ขาย โดยเฉลี่ยไม่ต่ำตันละ 11,500-12,000 บาท สำหรับข้าวสดหอมมะลิ ส่วนข้าวเปลือกเจ้า (ข้าวขาว) ไม่ต่ำกว่าตันละ 9,000 บาท อย่างไรก็ตาม ต้องการแนะนำให้เกษตรกรลดต้นทุนโดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เพราะปัจจุบันปุ๋ยยูเรีย ปรับราคาอยู่ที่ 1,500 ต่อกระสอบ ถือว่าแพงมาก

ข้าวหอมมะลิอ่วม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมระหว่างสมาคมผู้ส่งออกข้าวฯ ร่วมกับตัวแทนภาคเกษตรพบว่า มีเกษตรชุมชน ชาวนา รายงานผลผลิตข้าวและพื้นที่การเพาะปลูกข้าว จะพบว่าจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เช่น จ.มหาสารคาม ใน 3 อำเภอที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยคาดการณ์ว่าน้ำจะลดน่าจะช่วงเทศกาลปีใหม่ และพื้นที่ที่น้ำเริ่มลดเกษตรกรก็เริ่มมีการเก็บเกี่ยวบ้างแล้ว โดยพื้นที่ที่เสียหายมีประมาณ 70,000 ไร่ ขณะที่ จ.ศรีสะเกษ ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 2 แสนไร่ และส่วนใหญ่เป็นข้าวที่กำลังจะเก็บเกี่ยว ส่งผลให้ข้าวแช่น้ำเสียหาย

ส่วน จ.สุรินทร์ มีพื้นที่เสียหายจากน้ำท่วม 4 แสนไร่ ขณะนี้สถานการณ์น้ำเริ่มลดและเกษตรกรสามารถเริ่มเก็บเกี่ยวได้บ้างในบางพื้นที่ ขณะที่ จ.ร้อยเอ็ด เสียหายจากน้ำท่วม 61,000 ไร่ จ.กาฬสินธุ์ เสียหายจากน้ำท่วม 52,000 ไร่ จ.อุบลราชธานี เสียหาย 1.5 แสนไร่ และ จ.หนองบัวลำภู ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม 30% ของพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกข้าว ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวหอมมะลิ 105 และข้าวหอมมะลิ กข 15 และจะเริ่มเก็บเกี่ยวตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย.ไปจนถึงสิ้นเดือน พ.ย.นี้ โดยแต่ละพื้นที่เองจะเริ่มเก็บเกี่ยวที่ต่างกัน ส่วนราคารับซื้อข้าวโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 11-12 บาทต่อกิโลกรัม