จับตาผลสะเทือนโลก เมื่อ “อินเดีย” คุมเข้มส่งออกข้าว

อินเดียส่งออกข้าว
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

“อินเดีย” ประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก คิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของปริมาณการค้าข้าวทั้งหมดในตลาดโลก เพิ่งประกาศควบคุมเข้มการส่งออกข้าวหลายชนิดออกสู่ตลาดโลกเมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา

กระทรวงการคลังอินเดีย ระบุเหตุผลไว้คลุมเครือเพียงว่า ยังคงมีสภาวะแวดล้อมที่ก่อให้เกิดความจำเป็นต้องดำเนินการโดยทันทีดำรงอยู่

ตามประกาศดังกล่าว ทางการอินเดียเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการส่งออกเพิ่มขึ้นรวดเดียว 20% สำหรับข้าวขาวที่ไม่ผ่านการสี, ข้าวกล้อง และข้าวที่ผ่านการสีบางส่วนหรือทั้งหมด ซึ่งแทบจะเป็นการยุติการส่งออกไปโดยปริยาย โดยไม่รวมถึง “ข้าวบัสมาติ” ซึ่งเป็นข้าวขึ้นชื่อของอินเดียแต่อย่างใด

แม้จะไม่มีการชี้แจงอย่างเป็นรูปธรรม แต่เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้ของทางการอินเดียเกิดขึ้นเพราะเหตุใด

ปัญหาของรัฐบาลภายใต้การนำนายกรัฐมนตรี “นเรนทรา โมดี” ก็คือ ภาวะเงินเฟ้อ ที่มีสาเหตุหลักมาจากสงครามในยูเครน และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ระบบซัพพลายเชนมีปัญหา จนก่อให้เกิด “ความไม่มั่นคงด้านอาหาร” ขึ้นตามมา

“อโศก กุลติ” ศาสตราจารย์ประจำสภาเพื่อการวิจัยเศรษฐสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อธิบายว่า การติดเบรกส่งออกข้าวในครั้งนี้จะช่วยยับยั้ง “ภาวะเงินเฟ้อของธัญพืชภายในประเทศ” ไม่ให้พุ่งสูงมากไปกว่าที่เป็นอยู่

แต่ในเวลาเดียวกัน เขาชี้ให้เห็นด้วยว่า ที่ผ่านมา “อินเดีย” ส่งออกข้าวออกสู่ตลาดราว 40% ของข้าวที่ซื้อขายกันทั่วโลก การส่งออกดังกล่าวเกิดขึ้นได้ เพราะรัฐบาลช่วยจัดสรรงบประมาณอุดหนุนราคาพลังงานและปุ๋ยเอาไว้ เพื่อให้อินเดียยังคงขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดเอาไว้ได้

คราวนี้ถึงเวลาแล้วที่จะดึงราคาข้าวในตลาดโลกให้เพิ่มสูงขึ้น เพื่อ “ถอนทุนคืน” ในส่วนของการอุดหนุนดังกล่าวเหล่านั้น

ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ปีนี้อินเดียประสบปัญหาดินฟ้าอากาศไม่ใช่น้อย ฝนในหน้ามรสุมมีก็จริง แต่ไม่สม่ำเสมอ มีบางครั้งที่หนักหน่วงจนก่อความเสียหาย แต่ก็มีเช่นกันที่เกิดฝนทิ้งช่วงจนเป็นปัญหาสำหรับการเพาะปลูกของเกษตรกร

และเกิดความกังวลกันว่า ผลที่ได้จากการเพาะปลูกในฤดูกาลนี้จะลดลงกว่าฤดูกาลปกติ จนอาจก่อให้เกิดปัญหาราคาธัญพืชและสินค้าอาหารอื่น ๆ ในประเทศพุ่งสูงขึ้นได้ ในขณะเดียวกับที่ราคาสินค้าอาหารนำเข้าก็ถีบตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน

อัตราเงินเฟ้อในอินเดียในเวลานี้อยู่ที่ประมาณ 7% สูงกว่าเงินเฟ้อเป้าหมายของธนาคารกลางอินเดียที่กำหนดไว้ที่ 4-6% อยู่ไม่น้อย ทั้ง ๆ ที่ดำเนินความพยายามเพื่อสกัดกั้นด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาแล้ว 3 ครั้งก็ตาม

ที่ผ่านมา “รัฐบาลอินเดีย” เคยใช้วิธีห้ามการส่งออกข้าวสาลีและน้ำตาลมาแล้ว แต่ยังชะลอการดำเนินการแบบเดียวกับข้าวออกไปก่อน ส่วนหนึ่งเพราะราคาข้าวในประเทศไม่ได้พุ่งสูงอย่างรวดเร็วเหมือนกับข้าวสาลีและน้ำตาล

ในปีงบประมาณ 2020-2021 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่มีสถิติ อินเดีย ส่งออกข้าวมูลค่าราว 8,800 ล้านดอลลาร์ ตลาดใหญ่ที่สุดสำหรับข้าวทั่วไปที่ไม่ใช่ข้าวบัสมาติของอินเดีย รวมทั้งประเทศ เนปาล, บังกลาเทศ, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, อิรัก, มาเลเซีย และแอฟริกาตะวันตก

ผู้สันทัดกรณีในแวดวงค้าข้าวเชื่อว่า การควบคุมส่งออกข้าวของอินเดียครั้งนี้ จะส่งผลดีต่อประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกรองลงมาอย่างไทยกับเวียดนาม ที่น่าจะขยับการส่งออกของตนเข้าไปแทนที่อินเดียในตลาดเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม ผลสะเทือนที่จะเกิดขึ้นตามมากับตลาดข้าวของโลกก็คือ ราคาข้าวจะปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้งอย่างแน่นอน แม้ว่าตั้งแต่กลางเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ราคาข้าวแทบทุกชนิดจะปรับลดลงมาบ้างแล้ว

ในแง่ของประเทศผู้บริโภค ราคาข้าวที่ปรับตัวสูงขึ้นอาจกลายเป็นปัญหาอีกระลอก ทั้งก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อของสินค้าอาหาร ในขณะที่ราคาพลังงานยังคงกดดันอยู่สูงและต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังอาจส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศ เมื่อการจัดสรรงบประมาณสำหรับสินค้าอาหารจำเป็นต้องเพิ่มมากขึ้นอย่างช่วยไม่ได้

ข้อมูลของสหประชาชาติแสดงให้เห็นว่า วิกฤตพลังงานและอาหารกำลังก่อให้เกิดปัญหาเพิ่มมากขึ้นกับหลายประเทศ ถึงขนาดต้องดิ้นรนเพื่อหาเงินมาชำระหนี้ให้ได้ตรงตามกำหนดเวลา

กว่าครึ่งหนึ่งของประเทศที่สหประชาชาติจัดว่ายากจนที่สุด ตกอยู่ในสถานการณ์หนี้ หรือไม่ก็กำลังเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดปัญหาหนี้้ขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งครัวเรือนจำเป็นต้องใช้เงินสำหรับซื้อหาอาหารประทังชีวิตคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 42% ของรายได้ที่ได้รับในแต่ละเดือนนั่นเอง