วิจัยชี้ ประชากรอินเดีย แซงจีนมานานแล้ว แต่เศรษฐกิจต้องลุ้น 30 ปีถึงตามทัน

ประชากรอินเดีย
crowd a market, in Mumbai, India, on Jan. 7, 2022. (AP Photo/Rajanish Kakade, File)

ยูเอ็นเพิ่งเปิดรายงานประชากรโลกระบุ ประชากรอินเดีย จะแซงจีนในปีหน้า แต่จากการศึกษาของนักวิจัยเชื้อสายจีนในสหรัฐอเมริกา พบว่าอินเดียมีประชากรแซงจีนมานาน 8 ปีแล้ว ซึ่งจะส่งผลเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจด้วย

วันที่ 13 กรกฎาคม 2565 จากกรณีที่สหประชาชาติเปิดรายงานเนื่องในวันประชากรโลก 11 กรกฎาคม ประเมินว่าอินเดียจะมีจำนวนประชากรแซงหน้าจีนในปีหน้านั้น ฮินดูสถานไทมส์ มีรายงานเจาะลึกจากงานวิจัยที่โต้แย้งในด้านระยะเวลาการแซง

จากการประเมินของยูเอ็น ปีนี้ทั้งจีนและอินเดียมีพลเมืองใกล้เคียงกันที่ 1,400 ล้านคน กล่าวคือ อินเดีย 1,412 ล้านคน และจีน 1,426 ล้านคน ส่วนปี 2023 อินเดียจะมีประชากรแซงจีน เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก และปี 2050 อินเดียจะมีประชากรเพิ่มเป็น 1,668 ล้านคน ส่วนจีนจะลดลงเหลือ 1,317 ล้านคน

ประชากรอินเดีย
(Photo by Sujit Jaiswal / AFP)

จริง ๆ อินเดียแซงมา 8 ปีแล้ว

อย่างไรก็ตาม ตามการวิจัยของ อี้ ฟู่เสียน ประจำมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ระบุว่า อินเดียมีจำนวนประชากรแซงหน้าจีนตั้งแต่ปี 2014 (พ.ศ.2557) มาแล้ว ซึ่งนักวิจัยชาวจีนอีกสองท่านที่ไม่ขอเอ่ยนาม เห็นตรงกันว่าการคำนวณของนักวิจัยอี้ เป็นไปได้

“อัตราการเกิดในจีนเริ่มลดลงตั้งแต่ปี 1991(พ.ศ.2534) และไม่เคยขึ้นไประดับสูงสุดแบบปี 2004 (พ.ศ.2547) หรือปี 2011 (พ.ศ.2554) อีกเลย ทุกวันนี้ ประชากรจีนมีน้อยกว่า 1,280 ล้านคน ไม่ใช่ตัวเลขทางการที่ 1,410 ล้านคน

ประชากรจีนเริ่มดิ่งลงตั้งแต่ปี 2018 (พ.ศ. 2561) ไม่ใช่ปี 2031 (พ.ศ.2574) อย่างที่คาดคะเนกันอย่างเป็นทางการ” นักวิจัยอี้โพสต์ทวิตเตอร์ ไล่หลังที่ยูเอ็นเปิดรายงานประชากร พร้อมระบุว่า

อินเดียและจีนต่างเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก จนถึงปี 1700 (พ.ศ. 2243) แต่ช่วงปี 1820-2013 (พ.ศ.2363-2556) ประชากรจีนมีมากกว่าอินเดียอย่างชัดเจน เช่นปี 1882 (พ.ศ.2425) จีนมี 381 ล้านคน ส่วนอินเดียมี 209 คน และสหรัฐอเมริกามี 9.98 ล้านคน แต่พอปี 2014 ประชากรอินเดียกลับทะยานแซงหน้าจีน

REUTERS/Amit Dave

ชี้ตัวเลขเด็กจีนเกิดใหม่ลดฮวบ

“ตัวเลขทางการที่จีนแจ้งว่า ปี 2020 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ 12.02 ล้านคน เราคิดว่านี่เป็นตัวเลขที่บวกเกินไป ตัวเลขเกิดจริงในปี 2020 น่าจะอยู่แค่ 8-10 ล้านคน เพราะประชากรจีนเริ่มลดตั้งแต่ปี 2018 ดังนั้นจีนจึงมีประชากรน้อยกว่าอินเดียไปแล้ว” อี้กล่าว

ตามการศึกษาของนักวิจัยท่านนี้ จีนมีประชากรจริงในปี 2017 (พ.ศ.2560) ราว 1,290 ล้านคน น้อยกว่าตัวเลขทางการของสำนักงานสถิติแห่งชาติ 90 ล้านคน

“จีนไม่ใช่ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกอีกแล้ว เป็นอินเดียที่แซงหน้าจีนมานาน ซึ่งจะทำให้โครงสร้างทางภูมิเศรษฐกิจ และภูมิศาสตร์การเมืองเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจอินเดียต้องอาศัยเวลาอีกมากกว่า 30 ปี จึงจะแซงหน้าจีนและสหรัฐอเมริกาได้” นักวิจัย ม.วิสคอนซินกล่าว

อี้ระบุด้วยว่า ควรจะมีการวิจัยที่เจาะลึกให้เรื่องนี้มากขึ้น และหวังว่า อินเดียจะนำรับบทเรียนต่าง ๆ ของจีน และไม่ติดกับดักที่อัตราการเจริญพันธุ์ดิ่งหนัก

REUTERS/Aly Song/File Photo

ประชากรโลกเพิ่มเป็น 8 พันล้านคน

สำหรับรายงานของ ยูเอ็น คาดว่าประชากรโลกจะแตะ 8,000 ล้านคนภายในวันที่ 15 .. นี้ และจะพุ่งถึง 8,500 ล้านคนในปี 2030 จากนั้น จะเพิ่มขึ้นเป็น 10,400 ล้านคน ในปี 2100 เนื่องจากอัตราการเสียชีวิตลดลง

ยูเอ็นคาดการณ์ว่าประชากรโลกเติบโตขึ้นในอัตราที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 1950 โดยลดลงต่ำกว่าร้อยละ 1 ในปี 2020

ปี 2021 ภาวะเจริญพันธุ์โดยเฉลี่ยของประชากรโลกอยู่ที่ 2.3 ต่อผู้หญิง 1 คนตลอดช่วงอายุขัย ซึ่งลดลงจากการให้กำเนิดทารก 5 คนต่อผู้หญิง 1 คนในปี 1950 และคาดว่าภาวะเจริญพันธุ์ทั่วโลกจะลดลงเหลือ 2.1 คนภายในปี 2050

อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวว่านี่เป็นโอกาสฉลองความหลากหลาย ตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ และความยอดเยี่ยมของความก้าวหน้าทางสาธารณสุขที่ยืดอายุขัยและลดอัตราการเสียชีวิตของแม่และเด็กอย่างมาก

ล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้
เจ้าหน้าที่ตรวจหาเชื้อชาวเซี่ยงไฮ้ Photo by Hector RETAMAL / AFP)

โควิดคร่าชีวิตชาวโลกเกือบ 15 ล้านคน

การเติบโตของประชากรโลกเป็นสิ่งเตือนใจให้ร่วมกันรับผิดชอบในการดูแลโลกและสะท้อนให้เห็นว่าเรายังไม่ได้ทำตามพันธะสัญญาใด

รายงานขององค์การอนามัยโลกฉบับก่อนหน้านี้ประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 14.9 ล้านคนที่เกี่ยวข้องกับการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ระหว่างเดือนม.. ปี 2020-..ปี 2021 

ส่วนรายงานของสหประชาชาติระบุว่าอายุขัยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดทั่วโลกลดลงเหลือ 71 ปีในปี 2564 จาก 72.8 ปีในปี 2562 ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากโรคระบาด

ยูเอ็นระบุว่าจำนวนประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นภายในปี 2050 ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ใน 8 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก อียิปต์ เอธิโอเปีย อินเดีย ไนจีเรีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และแทนซาเนีย

ส่วนอนุทวีปซับซาฮาราคาดว่าจะมีประชากรครึ่งหนึ่งของประชากรที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกจนถึงปี 2050

ขณะที่ประชากรใน 61 ประเทศคาดว่าจะลดลงร้อยละ 1 หรือมากกว่านั้น ระหว่างปี 2022 และปี 2050 สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการมีลูกน้อยลง

….