‘ญี่ปุ่น’ ประชากรลดฮวบ เก็บภาษีแก้ปัญหา ‘บ้านร้าง’ เต็มเมือง

ญี่ปุ่นประชากรลดฮวบ
ภาพจาก Pixabay

ปัญหาสังคมสูงวัยของ “ญี่ปุ่น” กำลังปรากฏให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมในหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือ ปัญหาที่พักอาศัยถูกทิ้งร้างหลังจากที่ผู้พักอาศัยเดิมเสียชีวิตลง และไม่มีผู้เข้ามาจัดการดูแล ปล่อยให้กลายเป็นบ้านร้าง แหล่งสกปรกและเสี่ยงต่อการพังทลาย ซึ่งเป็นปัญหาที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญท่ามกลางการลดลงของจำนวนประชากรราว 1,500 คน/วัน

ไฟแนนเชียลไทมส์รายงานว่า รัฐบาลท้องถิ่นในหลายเมืองของญี่ปุ่นกำลังพิจารณาจัดการปัญหา “บ้านร้าง” ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยใช้มาตรการทางภาษีในการกระตุ้นให้ผู้เป็นเจ้าของกลับมาจัดการที่พักอาศัย ไม่ให้ปล่อยทิ้งไว้เป็นบ้านร้าง

โดยปัญหาบ้านร้างหรือ “อากิยะ” (akiya) ในภาษาญี่ปุ่น หมายถึงบ้านที่ถูกปล่อยทิ้งร้างเป็นเวลานาน หลังจากผู้สูงอายุที่เป็นเจ้าของบ้านเสียชีวิตลงและทายาทปฏิเสธที่จะเข้ามาอยู่อาศัยหรือเข้ามาจัดการ กำลังเป็นปัญหาที่ปรากฏให้เห็นในหลายเมืองพร้อมกับสภาวะสังคมผู้สูงอายุของญี่ปุ่น

ข้อมูลของกระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสารญี่ปุ่นระบุว่า ในปี 2018 มีที่พักอาศัยในญี่ปุ่นราว 14% หรือประมาณ 8.5 ล้านยูนิตทั่วประเทศถูกทิ้งร้าง ขณะที่สถาบันวิจัยโนมูระคาดการณ์ว่า หากยังไม่มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จำนวนบ้านร้างของญี่ปุ่นจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 31% หรือประมาณ 22 ล้านยูนิตภายในปี 2038

ทั้งนี้ ปัญหาบ้านร้างส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการทางภาษีของญี่ปุ่นที่ใช้มาอย่างยาวนาน โดยที่ดินสำหรับการอยู่อาศัยจะถูกเก็บภาษีต่ำกว่าที่ดินประเภทอื่นประมาณ 3-4 เท่า ตามนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจของรัฐบาลญี่ปุ่นในยุค “ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจ” (economic miracle) ทศวรรษ 1960-70

มาตรการดังกล่าวส่งผลให้หลังจากที่ผู้อยู่อาศัยซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยเสียชีวิตลง ทายาทที่พักอาศัยอยู่ต่างถิ่นมักจะคงสภาพที่พักอาศัยไว้เช่นเดิมเพื่อประโยชน์ทางภาษี แต่ขาดการจัดการปรับปรุงดูแลกระทั่งที่พักอาศัยจำนวนมากมีสภาพทรุดโทรม

ในปัจจุบันรัฐบาลท้องถิ่นของญี่ปุ่นหลายแห่งจึงกำลังพิจารณามาตรการจัดการกับบ้านร้างเหล่านั้น โดยเฉพาะ “เกียวโต” ที่มีบ้านร้างอยู่ภายในเมืองราว 15,000 หลัง เป็นเมืองแรกของญี่ปุ่นที่เตรียมจะประกาศใช้อัตราภาษีใหม่สำหรับบ้านร้างโดยเฉพาะ

โดยอัตราภาษีจะขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งที่ตั้งของบ้านร้างแต่ละหลัง แต่มาตรการนี้ยังต้องผ่านการเห็นชอบของกระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสาร รวมถึงสภาเมืองภายในสิ้นเดือน ก.พ.นี้ ซึ่งหากประสบความสำเร็จจะเป็นต้นแบบให้กับรัฐบาลท้องถิ่นอื่น ๆ ในการจัดการปัญหาบ้านร้าง

“ฮิโรยูกิ นาคากามิ” ผู้จัดการระบบภาษีบ้านร้างของเมืองเกียวโต ระบุว่า “ภาษีดังกล่าวจะเพิ่มทางเลือกในตลาดที่อยู่อาศัยมากขึ้น เพื่อที่คนญี่ปุ่นจะได้ไม่ทอดทิ้งทรัพย์สินเหล่านั้น แต่ส่งมอบให้กับคนรุ่นถัดไป”

ขณะที่นิกเคอิ เอเชียรายงานว่า รัฐบาลท้องถิ่นของ “อามางาซากิ” เป็นอีกเมืองที่เตรียมพิจารณาให้ที่ดินที่มีบ้านร้างทรุดโทรมเสี่ยงต่อการพังทลาย ไม่จัดเป็นที่ดินสำหรับการอยู่อาศัยและจัดเก็บภาษีด้วยอัตราที่สูงขึ้น เช่นเดียวกันกับ “โกเบ” ที่ตัดสินให้ที่ดินที่มีบ้านร้าง 70 แห่งภายในเมืองไม่เข้าข่ายที่ดินสำหรับการอยู่อาศัยแล้วเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีข้อถกเถียงถึงมาตรฐานในการพิจารณาตัดสินว่า บ้านที่ถูกทิ้งร้างแต่ละหลังจัดเป็นที่พักอาศัยหรือไม่ ส่งผลให้รัฐบาลท้องถิ่นหลายแห่งหลีกเลี่ยงที่จะใช้มาตรการดังกล่าว นอกจากนี้ แม้ว่ารัฐบาลท้องถิ่น
จะมีอำนาจตามกฎหมายในการรื้อถอนบ้านร้างที่เสี่ยงต่อการพังทลาย แต่ก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการดำเนินการ

การจัดการปัญหาบ้านร้างจึงยังคงเป็นความท้าทายที่ทางการญี่ปุ่นต้องเร่งหาทางออก ท่ามกลางจำนวนประชากรที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปริมาณที่พักอาศัยอาจสูงเกินความต้องการของประชากรภายในประเทศ