สัญญาณอันตรายส่งออก สหรัฐลดออร์เดอร์ลากยาวปีหน้า

ส่งออก

ส่งออกโค้งสุดท้ายปลายปี 2565 แผ่วแน่ หลัง ส.อ.ท.พบสัญญาณเตือนการส่งออกไปตลาดหลักอย่าง “ตลาดสหรัฐ” ย่อตัวลง จากพิษสหรัฐกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย เงินเฟ้อพุ่งสูง จนเฟดต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ทุบกำลังซื้อในตลาดสหรัฐลดลง คาดการณ์กระทบทันที

กลุ่มสินค้ากึ่งฟุ่มเฟือยอย่างอัญมณีและเครื่องประดับ ส่วนกลุ่มสินค้ายานยนต์-ยาง-เคมีภัณฑ์ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ส่งผลลากยาวไปถึงปี 2566 การส่งออกโตลดลงเหลือ 2-4% ส่วนสินค้ากลุ่มอาหารยังไปได้

สหรัฐกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ภาวะทางการเงินที่ตึงตัว อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง ขณะที่เฟดก็ยังคงขึ้นดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ท่ามกลางภาวะเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบไปถึงกำลังซื้อของผู้คนในตลาดสหรัฐลดลง จนกระทบมาถึงการส่งออกสินค้าไทย ที่ต้องพึ่งพาตลาดสหรัฐเป็นหลักในสัดส่วนถึง 16.5% ของการส่งออกสินค้าไทยทั้งหมด

แม้ว่าในช่วง 9 เดือนแรกยอดส่งออกสหรัฐจะทะลุ 36,447 ล้านเหรียญสหรัฐหรือเติบโตมากกว่า 26.2% ซึ่งสูงกว่าอัตราเติบโตการส่งออกทั้งหมดของไทยในรอบ 9 เดือนก็ตาม แต่ผู้ส่งออกรายใหญ่บางรายได้แสดงความกังวลออกมาแล้วว่า ผู้นำเข้าสหรัฐกำลัง “ชะลอ” การนำเข้าสินค้าเพื่อลดสต๊อกลง โดยจะเริ่มเห็นปรากฏการณ์นี้ชัดยิ่งขึ้นในช่วงไตรมาส 1/2566 นี้

ส่งออกไทยกำลังย่อตัวลง

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ได้รับ “สัญญาณ” ที่ผู้นำเข้าในตลาดสหรัฐกำลังลดการนำเข้าลงแล้ว ซึ่งจะส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกของประเทศไทยในช่วง 2 เดือนสุดท้าย “ย่อตัวลงจากก่อนหน้านี้ที่ขยายตัว 10.6%”

โดยปัจจัยสำคัญมาจากต้นทุนนำเข้าสินค้าไปสต๊อกสูงขึ้น หลังจากรัฐบาลสหรัฐประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย ประกอบกับการระบายสินค้าทำได้ช้าลง เพราะตลาดสหรัฐได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ ส่งผลทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะ “กึ่งถดถอย กำลังซื้อหดตัว” การระบายสินค้าในสต๊อกทำได้ช้าลง ดังนั้นผู้นำเข้าสหรัฐจึงใช้วิธีลดการนำเข้าสินค้าจากทั่วโลกลง

ความรุนแรงของสถานการณ์นี้ คาดว่าจะกินเวลายาวต่อเนื่องไปถึงปี 2566 โดยเป็นผลมาจากการปรับมาตรการทางเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งเดิมสหรัฐใช้การออกพันธบัตร (QE) ผลิตเงินเข้าสู่ระบบในช่วงที่เกิดปัญหาโควิด 2-3 ปีก่อน แต่หลังจากนั้นปริมาณเงินล้นระบบ จึงปรับสูตรใช้มาตรการดูดเงินออกจากระบบหรือ QT ซึ่งเริ่มจากการดูดเดือนละ 47,500 ล้านเหรียญ แต่ยังไม่เพียงพอจนต้องเพิ่มความแรงของการดูดเพิ่มขึ้นเป็น 95,000 ล้านเหรียญต่อเดือน

ควบคู่กับการใช้มาตรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% รวม 4 ครั้งไปถึง 3.75-4.00% เพื่อสกัดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ และยังมีแนวโน้มว่า หากเงินเฟ้อไม่ลดลงจะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องไปถึง 5-6%

“หลายเดือนที่ผ่านมาผู้ส่งออกจับตาผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ส่งผลต่อตลาดเงินและอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้น และกระทบต่อกำลังซื้อในประเทศลดลง ทำให้เกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจ ซึ่งตอนนี้ทั้ง IMF และผู้เกี่ยวข้องประเมินว่า เศรษฐกิจสหรัฐได้เข้าสู่ภาวะกึ่งถดถอยแล้ว ซึ่งจะกระทบการส่งออกสินค้าไทยแน่ แต่ที่ผ่านมายังไม่เห็น

จนเรามองภาพว่า การส่งออกโต 10.6% แต่หลังจากนี้จะเห็นชัดเจนในช่วง 2 เดือนสุดท้ายว่า การส่งออกย่อตัวลง อย่างไรก็ตาม ปีนี้ยังมองว่า ส่งออกจะโต 8% ได้ตามเป้า แต่ปีหน้าการส่งออกจะโตเหลือ 4% จากฐานที่สูงขึ้น เศรษฐกิจโลกถดถอย เป็นประเด็นที่มีการคุยกันในที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง APEC

ดังนั้นประเด็นที่น่าห่วงสำหรับการส่งออกไทยคือ ปีหน้ากำลังซื้อทั่วโลกจะลดลง ทั้งสหรัฐ-สหภาพยุโรป ซึ่งต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤตราคาพลังงานสูงขึ้น รุนแรงจนกระทบค่าครองชีพ หลายประเทศเงินเฟ้อทะลุ 10% กำลังซื้อจะลดลงแน่นอน” นายเกรียงไกรกล่าว

อัญมณีเครื่องประดับโดนแน่

นายเกรียงไกรกล่าวอีกว่า สินค้าที่จะได้รับผลกระทบเป็นลำดับแรกจะเป็นสินค้าใน “กลุ่มที่กึ่งฟุ่มเฟือย” เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ หรือแม้แต่เสื้อผ้าที่อาจจะสามารถยืดอายุการใช้งานไปก่อนได้ ขณะที่สินค้ายานยนต์และส่วนประกอบอาจจะต้องระวังผลกระทบเรื่องนี้ไปซ้ำซ้อนกับปัญหาซัพพลายเชนดิสรัปชั่นก่อนหน้านี้ ส่วนสินค้ากลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์น่าจะยังพอไปได้ เพราะยังมีความจำเป็นต้องปรับตามเทคโนโลยี เช่นเดียวกับกลุ่มอาหาร ซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นจะไม่ได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้จากสถิติการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐในช่วง 9 เดือนแรก ประกอบด้วย เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 6,694 ล้านเหรียญหรือขยายตัว 27.50%, ผลิตภัณฑ์ยาง 3,368 ล้านเหรียญหรือ -9.70%, เครื่องโทรสาร อุปกรณ์และส่วนประกอบ 1,958 ล้านเหรียญหรือขยายตัว 202%, อัญมณีและเครื่องประดับ 1,479 ล้านเหรียญหรือขยายตัว 31.27%

เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ 1,203 ล้านเหรียญหรือขยายตัว 36.01%, เหล็กและผลิตภัณฑ์ 1,145 ล้านเหรียญหรือขยายตัว 12%, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 1,135 ล้านเหรียญหรือขยายตัว 13.04%, รถยนต์และส่วนประกอบ 1,119 ล้านเหรียญหรือ -5.63%, เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 1,051 ล้านเหรียญหรือขยายตัว 38.15% และหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ 935.4 ล้านเหรียญหรือขยายตัว 34.58%

ดังนั้นผู้ส่งออกจะต้องติดตามและปรับแผนตลอด เพราะปัจจัยเกี่ยวข้องที่สำคัญโดยเฉพาะเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ (geopolitic) เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังอนุญาตให้ส่งผ่านธัญพืชทางทะเลดำได้ และล่าสุดจะมีการแซงก์ชั่นอิหร่านอีกรอบ

ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ส่งออกไทยยังต้องเตรียมแผนรับมือกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นทุกด้าน ทั้งค่าแรงงาน และล่าสุดค่าไฟฟ้าไทยสูงขึ้นหน่วยละ 4.72 บาท และมีโอกาสที่ไทยจะปรับค่าไฟเป็น 5-6 บาทปีหน้า หรือ “แพงกว่า” เวียดนามที่เก็บค่าไฟ 2.88 บาท

ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยและเวียดนามต่างก็เป็นประเทศที่ต้องนำเข้า LNG มาผลิตไฟฟ้าเหมือนกัน “แต่ค่าไฟฟ้าของไทยแพงกว่า ทำให้ไทยเสียเปรียบ” หากผลิตและส่งออกสินค้าชนิดเดียวกันเพื่อไปแข่งขันในตลาดเดียวกันกับสินค้าเวียดนาม

ดังนั้นภาครัฐจะต้อง “ทบทวนปรับโครงสร้างการบริหารจัดการต้นทุนพลังงาน” ว่า ทำไมเราจึงมีค่าไฟแพงกว่า และนี่ยังไม่นับรวมที่ไทยไม่มีแต้มต่อจากการทำ FTA ลดภาษีต่าง ๆ อีก ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขเชื่อว่าจะมีผลต่อการพิจารณาตัดสินใจ “ลงทุน” หรือย้ายฐานการลงทุนของเอกชนในอนาคต

สหรัฐลดนำเข้าวัตถุดิบ

สอดคล้องกับที่นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ผนวกกับตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI : Purchasing Managers Index) ของสหรัฐได้ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 50.4 ในเดือนตุลาคม จากระดับ 52.0 ในเดือนกันยายน 2565 สะท้อนให้เห็นว่า “กำลังซื้อของสหรัฐลดลง” ส่งผลให้แนวโน้มผู้นำเข้าสหรัฐยิ่งลดการนำเข้าวัตถุดิบลงมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต ปัจจุบันพบว่า ผู้นำเข้าสหรัฐมีการนำเข้าชะลอลงบ้างแล้ว

“กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตที่สหรัฐลดการนำเข้าลง ได้แก่ ชิ้นส่วนยานยนต์, ยางรถยนต์, เคมีภัณฑ์ เป็นต้น โดยมีแนวโน้มว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลมาจากกำลังซื้อไม่มี อีกทั้งมีโอกาสที่จะลดการนำเข้าไปถึงต้นปี 2566 จึงต้องติดตามปัจจัยการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีการประชุมอีกครั้งในเดือนธันวาคม 2565 นี้ หากมีการพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง แนวโน้มที่ผู้นำเข้าจะนำเข้าสินค้าวัตถุดิบลดลงก็มีสูง รวมไปถึงค่า PMI ลดลงด้วย”

ทั้งนี้ หากเฟดไม่ขึ้นดอกเบี้ยและดัชนี PMI เพิ่มขึ้น ก็มีโอกาสที่การนำเข้าจะยังคงมีอยู่ แต่ก็ไม่มากนัก เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ส่วนสินค้าอื่น อย่างเช่น เกษตร-อาหาร ที่ส่งออกไปสหรัฐยังไม่มีปัญหา สหรัฐยังคงนำเข้าและมีอัตราขยายตัวอยู่

ขณะที่ตลาดอื่น เช่น ยุโรป ภาพรวมการนำเข้ายังคงโตต่อเนื่อง แต่เมื่อดูเป็นรายอุตสาหกรรม กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ การนำเข้าลดลง แต่การส่งออกเกษตรและอาหารโตต่อเนื่อง จึงทำให้ภาพรวมการส่งออกยังดี ส่วนจีนการนำเข้าในภาพรวมลดลงจากปัจจัยล็อกดาวน์

อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยปี 2565 ภาพรวมยังขยายตัว 8-8.5% แต่การส่งออกในปี 2566 มองว่า อาจจะลดลงเหลือ 2-4% เนื่องจากยังมีปัจจัยราคาน้ำมันที่ยังสูงต่อเนื่อง เงินเฟ้อสูงในหลายประเทศ ตลาดหลักของไทยเศรษฐกิจยังไม่ดี ค่าเงินบาทยังผันผวน ส่วนปัจจัยบวกของไทยมีแค่การส่งออกอาหาร-เกษตร ยังเป็นตัวขับเคลื่อนการส่งออกสำคัญ เนื่องจากหลายประเทศยังคงต้องการสินค้าในกลุ่มนี้มาก

อาหารขายได้แต่ราคาถูกลง

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ผู้นำเข้าสหรัฐมีภาระต้นทุน สถานการณ์การนำเข้าขณะนี้พบว่า ผู้นำเข้ายังมีสต๊อกสินค้าอาหารไว้บางส่วน จึงมีการนำเข้าไปเพิ่มเติม “แต่ไม่มากนัก” และจะเลือกนำเข้าสินค้าที่มีราคาเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ

ซึ่งสินค้าเกษตรและอาหารเป็นสินค้าที่มีราคาไม่สูง ยังถือว่าประหยัดที่สุดหากจะนำไปประกอบอาหารรับประทานเอง จึงจะไปลดการสต๊อกสินค้าคงทนก่อน เพราะหากยังไม่จำเป็นก็จะยืดอายุการใช้งานไปก่อนจะสั่งซื้อใหม่

ขณะที่แหล่งข่าวจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายการส่งออกข้าวโดยเฉพาะ “ข้าวหอมมะลิ” ไปยังตลาดสหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักนั้น เริ่มมีสัญญาณแล้วว่า ผู้นำเข้าจะลดการนำเข้าข้าวไปสต๊อก เพราะต้นทุนดอกเบี้ยสูงขึ้น

สมมุติว่า จากเดิมเคยนำเข้าไปสต๊อก 100% ก็จะเหลือประมาณ 50-60% เพื่อจะระบายสต๊อกเก่าที่ยังมีเหลือจำนวนมากออกไปก่อน ประเด็นนี้จึงทำให้ราคาส่งออกข้าวไม่ขยับขึ้นมากนัก โดยราคาข้าวหอมมะลิส่งออกเฉลี่ยที่ 700 เหรียญ/ตัน ซึ่งเมื่อคิดทอนกลับมาเป็นข้าวเปลือกจะอยู่ที่ประมาณ 12,000-13,000 บาท