บาทแข็งรับเงินเฟ้อสหรัฐลด คาดการณ์ 37 บาทยังไม่กระทบส่งออก

ส่งออก
File Photo by Saeed KHAN / AFP

เงินบาทแข็งค่า เหตุดอลลาร์อ่อน หลังเงินเฟ้อสหรัฐเริ่มชะลอ ตลาดคาดเฟดเบาเครื่องขึ้นดอกเบี้ย “กสิกรไทย-กรุงไทย” มองยังไม่กระทบส่งออก ชี้ค่าเงินระดับ 36-37 บาท ผู้ส่งออกยังพอใจ

ดร.เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวถึเงินเฟ้อสหรัฐเดือนตุลาคมที่ออกมา 7.7% และเงินเฟ้อพื้นฐาน 6.3% ว่า แม้อัตราเงินเฟ้อจะปรับลดลง “แต่ยังเป็นระดับที่สูง” และห่างจากกรอบเป้าหมายที่สหรัฐวางไว้ที่ระดับ 2%

ดังนั้น คาดว่า เงินเฟ้อสหรัฐจะใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งจึงจะเข้ากรอบเป้าหมาย และตัวเลขที่ออกมาเป็นตัวเลขเดือนเดียว ซึ่งยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีผลต่อทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐ และผลต่อเศรษฐกิจที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือไม่ แต่ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี

“นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐก็ยังคงต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อ อาจจะต้องรอดูทิศทางอีก 2 เดือนข้างหน้า ภาพถึงจะชัดเจนมากขึ้น แต่ดูวันนี้เหตุการณ์และสถานการณ์ รวมถึงนโยบายการเงินของสหรัฐยังคงไม่ได้เปลี่ยนแปลง โดยเฟดก็ยังจะขึ้นดอกเบี้ยไปแตะที่ระดับ 5%”

ส่วนแนวโน้ม “ค่าเงินบาท” ที่มีทิศทางแข็งค่าขึ้นมากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ดร.เชาว์มองว่า การเคลื่อนไหวเป็นไปตามตลาดคาดการณ์ผลการเลือกตั้งของสหรัฐที่ว่า เศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้น และปัญหาทุกอย่างจะคลี่คลาย รวมถึงตัวเลขเงินเฟ้อที่ปรับลดลง ทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ส่งผลให้เงินบาทและสกุลอื่นในภูมิภาคปรับแข็งค่าขึ้นเช่นกัน

“เงินบาทยังคงมีทิศทางผันผวนอยู่ และเคลื่อนไหวตามกระแสข่าวที่เข้ามากระทบ ซึ่งผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกยังคงประมาทไม่ได้ เพราะหลังจากนี้ยังคงเห็นเงินบาทแกว่งตัวใน 2 ทิศทาง โดยเชื่อว่ายังไม่ได้เป็นประเด็นที่จะเข้ามากระทบต่อภาคการส่งออก และเศรษฐกิจภาพรวม” ดร.เชาว์กล่าว

ด้าน ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า เงินเฟ้อสหรัฐที่ออกมา “ต่ำกว่า” ที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ถือเป็นสัญญาณที่ดี สะท้อนว่าการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐครั้งต่อไปที่เดิมคาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นครั้งละ 0.75-1.00% อาจจะลดลงเหลือ 0.25-0.50% สะท้อนว่า นโยบายการเงินเข้มงวดเพื่อควบคุมเงินเฟ้อเริ่มเห็นผล และความเสียหายที่เริ่มเกิดจากนโยบายการเงินสหรัฐใกล้จะจบแล้ว

โดยค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ยังเป็นระดับที่ยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและเศรษฐกิจภาพรวม เพราะหากเปรียบเทียบกับการแข็งค่าเมื่อปี 2556 จะพบว่า ตอนนั้นเงินบาทแข็งค่ามากกว่าปัจจุบัน โดยแข็งค่าที่ 32 บาทต่อดอลลาร์ ดังนั้น เงินบาทในระดับ 36-37 บาท ถือเป็นระดับที่มีเสถียรภาพ และค่อนข้าง healthy ประกอบกับมีการคาดการณ์ว่า ภาคการส่งออกจะชะลอตัวลง จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว

“ก่อนหน้านี้เรากังวลเรื่องเงินบาทอ่อนค่า เพราะเรามีการนำเข้าพลังงานค่อนข้างมาก ช่วงที่เงินบาทไปอยู่ที่ 38 บาทต่อดอลลาร์ แต่หลังจากเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้น ทุกคนก็เบาใจ หลังจากนี้เราประเมินว่า เงินบาทจะทยอยแข็งค่าขึ้น เพราะรายได้จากภาคการท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น และดุลบัญชีจะกลับมาเป็นบวก

โดยคาดการณ์ว่าเงินบาทสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์ และมองไปข้างหน้าภายในกลางปี 2566 จะแข็งค่าต่อเนื่องไปอยู่ที่ระดับ 35-36 บาท ซึ่งเงินบาทแข็งค่าช่วงนี้ไม่กระทบการส่งออก โดยผู้ส่งออกบางส่วนยังคงพอใจกับเงินบาทในระดับ 36-37 บาทต่อดอลลาร์อยู่” ดร.พชรพจน์กล่าว