ก่อนที่จะมีซีอีโอคนใหม่มารับไม้ต่อ “บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)” หรือโออาร์ (OR) จะต้องเดินหน้าแผนงานเพื่อปรับทิศทางการขับเคลื่อนธุรกิจพลังงานและธุรกิจค้าปลีกแบบผสมผสาน ควบคู่ไปกับวิสัยทัศน์ “Empowering All toward Inclusive Growth” หรือ “เติมเต็มโอกาส เพื่อทุกการเติบโตร่วมกัน” เพื่อมุ่งสู่ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต
รายได้โตอานิสงส์ท่องเที่ยวฟื้น
นายสุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ OR ได้ฉายภาพการดำเนินธุรกิจโออาร์ปัจจุบัน ยังคงมุ่งเน้นการลงทุน เพื่อต่อยอดและสร้างความแข็งแกร่งในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ mobility & lifestyle มุ่งตอบสนองผู้บริโภค เพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และช่องทางการจำหน่าย ตอบโจทย์การใช้ชีวิตทุกรูปแบบของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
สถานีน้ำมันต้องเป็นมากกว่าการเติมน้ำมัน รวมทั้งสร้างโอกาสในการเติบโตร่วมกันกับพันธมิตรในแบบ inclusive growth ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการดำเนินธุรกิจของ OR ที่มุ่งเน้นเติบโตในแบบ outside-in โดยแสวงหาโอกาสการลงทุนในตลาดใหม่
ซึ่งจากสถานการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว หลังการระบาดโควิด-19 และการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ทำให้การท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคักอย่างรวดเร็ว แน่นอนว่าเป็นปัจจัยบวกต่อโออาร์ ได้รับอานิสงส์ส่งผลให้ทิศทางยอดขายน้ำมันในปี 2565
คาดว่าจะเติบโตมากกว่าปี 2564 ที่มียอดขายช่วง 9 เดือนของปี 2564 อยู่ที่ 16,000 ล้านลิตร อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 18% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
“จากข้อมูลที่มีขณะนี้ เห็นได้ว่าจำนวนผู้มาใช้บริการสถานีบริการน้ำมันสูงกว่าช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 โดยมีจำนวนผู้มาใช้บริการเฉลี่ยมากกว่า 4 ล้านคนต่อวัน จากเดิม 3 ล้านคนต่อวัน ดังนั้นคาดว่าปีนี้ ยอดขาย รายได้ และส่วนแบ่งการตลาดของ OR จะขยายและเติบโตขึ้นจากปี 2564 ซึ่งสะท้อนจากช่วง 9 เดือนของปี 2565 อยู่ที่ 43.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 41.8%”
โมบิลิตี้ “อีวี”
ด้วยแนวโน้มยอดขายน้ำมันในปี 2566 คาดว่าจะเติบโตขึ้นจากปีนี้แน่นอน บริษัทตั้งเป้าจะเพิ่มสถานีบริการน้ำมันจำนวนใกล้เคียงปีนี้ราว 100 แห่ง จากปัจจุบันที่มี 1,957 แห่ง และยังมีแผนการขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยคาดว่าภายในช่วงสิ้นปีนี้จะมีประมาณ 300 จุด ครอบคลุมในเส้นทางสายหลัก แม้อาจลดลงกว่าเป้าเดิมที่วางไว้ 500 จุด
โดยมองว่า ความต้องการอุปกรณ์ชาร์จไฟฟ้าตลาดและการเเข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นบริษัทตั้งเป้าในปี 2566 จะขยายสถานีชาร์จ EV เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 500 จุด รวมทั้งหมดเป็น 800 จุด
Community Space
ด้าน นายสมยศ คงประเวช รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจไลฟ์สไตล์ กล่าวว่า รูปแบบสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ต่อไปจะไม่ใช่แค่สถานีบริการน้ำมันแล้ว แต่จะเรียกว่า community space โดยเร็ว ๆ นี้จะเห็นโมเดลใหม่ที่วิภาวดี 62 พื้นที่ประมาณ 10 กว่าไร่ ซึ่งภายในนั้นปรับสัดส่วนสถานีบริการน้ำมัน 30% ส่วนอีก 70% เป็นพื้นที่ธุรกิจไลฟ์สไตล์ทั้งหมด เพื่อตอบโจทย์วิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนอย่างครบวงจร (one-stop solution for all lifestyle)
“คาเฟ่ อเมซอน ถือเป็นหัวใจของธุรกิจไลฟ์สไตล์ของเรา เกิดมาจากการที่เราเห็นโอกาสว่าลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ PTT Station สามารถทำอะไรได้มากกว่าแค่เติมน้ำมัน หรืออย่างธุรกิจที่น่าสนใจมาก Ottori ร้านสะดวกซัก นี่คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าปั๊มน้ำมัน จะเป็นทั้งความสะดวก ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไป เราจะ transform สถานีบริการน้ำมันมาเป็น community space”
ปูพรมสาขาอเมซอน
ขณะเดียวกันจะเพิ่มร้านคาเฟ่ อเมซอนอีก 400 สาขา จากปัจจุบัน 3,927 สาขา รวมไทยและต่างประเทศ โดยธุรกิจกาแฟน่าสนใจมาก จากปัจจุบันที่มีอัตราการบริโภคกาแฟสูงถึง 1 ล้านแก้วต่อวัน ดังนั้น อนาคตในช่วง 5 ปี จะขยายกำลังผลิตเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรเท่าตัว จากปัจจุบัน 4,500 ตัน/ปี เป็น 11,700 ตัน/ปี โดยจะเพิ่มการลงทุน 700 ล้านบาท
ผลพวงจากการเติบโตของธุรกิจกาแฟ ทำให้ในแต่ละวัน โออาร์ต้องซื้อกาแฟสารจากเกษตรกร (green bean) ภายใต้มูลนิธิโครงการหลวง บริษัท สานพลังวิสาหกิจเพื่อสังคม และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตกาแฟในประเทศ ตั้งแต่ปี 2558-2565 รวมแล้วกว่า 4,846 ตัน มูลค่ามากกว่า 500 ล้านบาท
พาโอ้กะจู๋เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
นอกจากนี้ โออาร์ยังสร้างความเติบโตให้ “พันธมิตร” ไปพร้อมกัน โดยจะผลักดันให้บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด ธุรกิจร้านอาหาร แบรนด์โอ้กะจู๋ ที่โออาร์ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วนประมาณ 20% เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ภายในปี 2567
เพื่อนำเงินทุนไปขยายการเติบโตธุรกิจ และบริหารจัดการครัวกลางให้มีประสิทธิภาพ ด้วยวิสัยทัศน์ของธุรกิจโอ้กะจู๋สอดคล้องกับวิสัยทัศน์โออาร์ ที่ให้ความสำคัญกับ 3P หรือสังคมชุมชน (people) สิ่งแวดล้อม (planet) และผลประกอบการ (performance) อย่างต่อเนื่อง
All in One App ต้นปี’66
นางสาวราชสุดา รังสิยากูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโครงการ ORion กล่าวว่า วิสัยทัศน์ธุรกิจปี 2573 ได้ปรับสัดส่วนการลงทุน โดยปัจจุบันกลุ่มน้ำมัน (oil) อยู่ที่ 70% กลุ่มธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น ๆ (nonoil) 25% และอีก 5% เป็นการลงทุนในต่างประเทศและกลุ่มอินโนเวชั่น อนาคตกลุ่มออยล์อยู่ที่ 30% กลุ่มน็อนออยล์ 35% ลงทุนต่างประเทศ 20% และกลุ่มอินโนเวชั่นอยู่ที่ 20%
โดย ORion รับหน้าที่เป็นหัวหอก ดำเนินกลยุทธ์และแนวทางในการแสวงหาธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างความยั่งยืนตามพันธกิจ OR Innovation 2 ข้อ ได้แก่ การแสวงหาธุรกิจใหม่และการสร้างนวัตกรรม (new business & innovation) ที่เน้นการเติบโตแบบ outside-in growth
เพื่อก้าวให้ทันต่อยุคการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน (energy transition) และยุคที่ผู้บริโภคมีความต้องการที่หลากหลายและเปลี่ยนแปลงเร็ว เช่น ปัจจุบัน OR มีเครือข่าย PTT Station และเครือข่ายร้านค้าต่าง ๆ ซึ่งมีลูกค้าใช้บริการประมาณ 3.3 ล้านคนต่อวัน และการสร้างและลงทุนในธุรกิจที่ต่อยอด OR’s Platform
นอกจากนี้ยังมีการแสวงหา สร้าง บ่มเพาะสตาร์ตอัพ และลงทุนแบบ venture capital โดย ORion มีทีมงานดูแลธุรกิจเงินร่วมลงทุน (venture capital : VC) โดยเฉพาะ เนื่องจากการลงทุนในแบบ VC ทำให้ได้จำนวนดีลเข้ามามาก ซึ่งช่วยให้ค้นพบ solution ที่เราต้องการใน ecosystem ของอุตสาหกรรม
“โออาร์อยู่ระหว่างทบทวนแผนการลงทุนธุรกิจใหม่ในปี 2566 ว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ พร้อมเตรียมจัดทำแผนการลงทุนในปี 2567 โดยเบื้องต้นจะพิจารณาใน 2 เรื่องหลัก คือ ทบทวนการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเดิม และธุรกิจใดที่น่าสนใจ บริษัทอยู่ระหว่างมองหาพาร์ตเนอร์ใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น health & wellness, F&B, tourism, empowering SMES เพื่อเข้าลงทุนทั้งในรูปแบบซื้อกิจการ M&A
และการร่วมลงทุน JV จะเห็นภาพชัดเจนได้ในปีหน้า เพื่อเข้ามาต่อยอดแพลตฟอร์ม All in One ที่จะเปิดตัวต้นปีหน้า เพื่อให้เป็น digital platform หลักที่จะเชื่อมโยงสินค้าและบริการของ OR บน physical platform ในอนาคต คาดว่า 5 ปี จะมีสมาชิกบลูการ์ด 14 ล้านคน จากปัจจุบัน 7.5 ล้านคน และมีร้านค้า 200,000 ร้าน ซึ่งตามเป้าหมายการร่วมทุนธุรกิจใหม่ใน5 ปี จะมีเม็ดเงินรวม 30,000 ล้านบาท เราจะใช้เเพลตฟอร์มนี้เป็นหัวใจหลักของโออาร์”