พพ.ห่วงฟุตบอลโลกดันใช้ไฟฟ้าพุ่ง วอนประชาชนประหยัดพลังงาน ราคาก๊าซโลกยังสูง

ทีวี

พพ.เผยฟุตบอลโลก ครั้งที่ 22 อาจทำให้การใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น แม้มีไฟฟ้าสำรองเพียงพอ วอนประชาชนร่วมกันประหยัดพลังงานชี้ก๊าซ LNG ราคาพลังงานมีแนวโน้มสูง เล็งจับมือเอกชนร่วมเเคมเปญ Energy Beyond Standards เซฟพลังงาน 6 ธ.ค.นี้ พร้อมปรับเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2580 จากเดิม 30% เป็น 36% คาดสรุปความเห็นทุกภาคส่วนได้ช่วงต้นปีหน้า 2566

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้เริ่มมีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกครั้งที่ 22 จึงอาจทำให้การใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น แม้ยืนยันว่ามีการสำรองไฟเพียงพอ ไม่น่ากังวล แต่ขอให้ประชาชนชาวยกันประหยัดพลังงานให้มากที่สุด

ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ
ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ

ขณะที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้หารือแผนการใช้มาตรการบังคับประหยัดไฟ หากกรณีราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) พุ่งเกิน 50 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียูติดต่อกัน 2 สัปดาห์ โดยจะออกมาตรการประหยัดพลังงานเป็นภาคบังคับนั้น กรมเองก็เป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอมาตรการไว้เพื่อรับมือสถานการณ์ ซึ่งขณะนี้น่าจะยังไม่ถึงขั้นมาตรการบังคับ น่าจะยังคงไม่เกิดขึ้น แต่ต้องยอมรับค่าไฟที่สูงตามมา

ดังนั้น การประหยัดพลังงานก็จะช่วยประชาชนลดค่าใช้จ่ายได้ ขณะที่ความสมัครใจในภาคธุรกิจนั้นจะเริ่มขึ้น ในวันที่ 6 ธ.ค.นี้ โดย พพ.จะเปิดโครงการ Energy Beyond Standards โดยร่วมมือกับเอกชน ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกันรณรงค์แผนประหยัดพลังงานซึ่ง ขณะนี้มีเอกชนเข้าร่วมเบื้องต้น 50-60 ราย อาทิ กลุ่มบริษัท ปตท. เอสซีจี เครือซีพี เป็นต้น

“สถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติ LNG ปัจจุบันยังอยู่ที่ราว 20 กว่าเหรียญต่อล้านบีทียู ขณะนี้จึงมั่นใจว่ามาตรการบังคับให้ประหยัดโดยเฉพาะการเปิด-ปิด ไฟเป็นเวลายังไม่มีความจำเป็นต้องประกาศเป็นมาตรการบังคับ ซึ่งหลายห้างสรรพสินค้า เอกชน หน่วยงานเองก็ร่วมกันประหยัดเท่าที่ทำได้ซึ่งยังเป็นไปตามความสมัครใจ และขึ้นอยู่กับความแตกต่างของประเภทกิจการ

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ พพ.ขอความร่วมมือประชาชน เอกชน ยังจำเป็นต้องประหยัดพลังงานต่อเนื่อง โดยเฉพาะถ่ายทอดสดช่วงฟุตบอลโลก เพื่อลดค่าใช้จ่ายและต้นทุน เนื่องจากราคาก๊าซ LNG และราคาพลังงานโลกยังคงอยู่ในระดับสูง”

ล่าสุด กรมได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2565-2580 (Energy Efficiency Plan : EEP2022)” โดยเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจการค้า บ้านอยู่อาศัย เกษตรกรรม ขนส่ง ตลอดจนผู้ที่สนใจได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นต่อร่างแผน EEP2022 ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนด้านพลังงานที่สำคัญภายใต้แผนพลังงานชาติ (National Energy Plan 2022)

ADVERTISMENT

“กรมยังคงเดินหน้าแผนอนุรักษ์พลังงานต่อเนื่อง ซึ่งจากสถานการณ์วิกฤติด้านพลังงานในปัจจุบัน ทำให้ราคาพลังงานปรับสูงขึ้นมากและส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและประชาชนในวงกว้าง ประกอบกับกระทรวงพลังงานได้จัดทำแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan 2022) ซึ่งถือเป็นแผนพลังงานฉบับใหม่ที่จะพัฒนายกระดับด้านพลังงานของประเทศรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานในอนาคต

โดยที่แผนอนุรักษ์พลังงานถือเป็น 1 ใน 5 แผนสำคัญของแผนพลังงานชาติ ที่มีบทบาทในการทำให้ประเทศมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้เราสามารถลดการนำเข้าหรือพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ อีกทั้งจะช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้วย”

โดยภายในร่างแผน EEP2022 ได้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมจากแผน EEP2018 โดยปรับเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงาน Energy Intensity ในปี พ.ศ. 2580 จากเดิม 30% เป็น 36% หรือคิดเป็นพลังงานที่คาดว่าจะลดได้ 35,497 ktoe และตลอดถึงปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) มีเป้าหมายที่จะลดได้ถึง 40% หรือ 64,340 ktoe โดยได้กำหนดมาตรการที่สำคัญไว้อย่างรอบด้านและครอบคลุมทุกภาคส่วน

ได้แก่ การกำกับดูแลตามกฎหมายโรงงาน/อาคารควบคุม เกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน (Building Energy Code) การส่งเสริมมาตรฐานอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงและฉลากเบอร์ 5 การส่งเสริมบ้านประหยัดพลังงาน การอนุรักษ์พลังงานในภาคเกษตรกรรม Smart Farming และเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในภาคขนส่ง เป็นต้น

โดยหลังจากนี้ พพ. จะได้รวบรวมข้อเสนอแนะและข้อมูลอันเป็นประโยชน์ เพื่อจัดทำร่างแผนอนุรักษ์พลังงานที่สมบูรณ์และทุกภาคส่วนให้การยอมรับ จะรวบรวมข้อคิดเห็นจัดทำร่างที่สมบูรณ์เพื่อนำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และนำไปเปิดรับฟังความเห็นเพิ่มเติมอีกครั้งผ่านเว็บไซต์ พพ. ก่อนนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบได้ในช่วงต้นปี 2566

ทั้งนี้ ร่าง EEP 2022 ได้คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี โดยเฉพาะนโยบายส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) 30@30 และการสอดรับกับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของไทยในปี ค.ศ. 2050 โดยจะมีมาตรการภาคบังคับ ส่งสริมและสนับสนุน โดยภาคบังคับที่สำคัญ เช่น บังคับใช้มาตรฐานจัดการพลังงานในโรงงานและอาคารควบคุม บังคับเกณฑ์มาตรฐานด้านพลังงาน (Energy Code) มาตรการอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งทางถนน

ส่วนภาคส่งเสริม เช่น เกณฑ์มาตรฐานและการติดฉลากแสดงประสิทธิภาพอุปกรณ์ การส่งเสริมนวัตกรรม การอนุรักษ์ภาคขนส่ง ฯลฯ ส่วนภาคสนับสนุน เช่น วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอนุรักษ์พลังงาน การพัฒนาบุคลากรด้านอนุรักษ์ ฯลฯ