การค้าชายแดน-ผ่านแดน ต.ค. ลดลง 2.92% เร่งเปิดด่านกระตุ้นการค้า

ค้าชายแดน
แฟ้มภาพ

พาณิชย์เผยการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน ตุลาคม 2565 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 144,477 ล้านบาท ลดลง 2.92% ขณะที่ 10 เดือน เพิ่ม 1.64% เป้าหมายทั้งปีมั่นใจโต 5% เร่งเปิดด่านกระตุ้นการค้า

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนเดือนตุลาคม 2565 พบว่ามีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 144,477 ล้านบาท ลดลง 2.92% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 81,937 ล้านบาท ลดลง 0.17% และการนำเข้ามูลค่า 62,540 ล้านบาท ลดลง 6.31% โดยไทยได้ดุลการค้าในเดือนตุลาคม 2565 ทั้งสิ้น 19,397 ล้านบาท

การค้าชายแดนและผ่านแดน 10 เดือนแรกของปี 2565 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1,450,310 ล้านบาท เพิ่มขึ้น +1.74% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 855,839 ล้านบาท ลดลง 0.66% และการนำเข้ามูลค่า 594,471 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.41% โดยไทยได้ดุลการค้าในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 ทั้งสิ้น 261,368 ล้านบาท

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

ทั้งนี้ การส่งออกชายแดนก็ยังขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 เพิ่มขึ้น 4.50% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การส่งออกผ่านแดนปรับตัวลดลงเนื่องจากผู้ส่งออกหันกลับไปขนส่งสินค้าทางเรือและทางอากาศเพิ่มขึ้นจากค่าระวางเรือที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

“การค้าผ่านแดน ซึ่งติดลบเพราะเราหันไปส่งออกทางเรือและทางอากาศมากขึ้น สำหรับจีน เวียดนาม และสิงคโปร์ เดือน ต.ค. -8.4% 10 เดือนแรก -21.9% โดยจีน เดือน ต.ค. -8.9% เนื่องจากมาตรการซีโร่โควิด 10 เดือนแรก -27.4% เวียดนาม เดือน ต.ค. +17.5% สร้างเงินให้ประเทศ 4,370 ล้านบาท 10 เดือนแรก +6.9% สร้างเงินให้ประเทศ 40,499 ล้านบาท สิงคโปร์ เดือน ต.ค. -2.9% 10 เดือนแรก -7.7%”

อย่างไรก็ตามการส่งออก ผ่านการค้าชายแดนและผ่านแดน เราตั้งเป้าจะ +5% แต่ 10 เดือนแรกทำได้ +17.6% การเร่งรัดการเปิดด่านประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง เรามีด่านกับประเทศเพื่อนบ้าน 97 ด่าน เปิดได้แล้ว 63 ด่าน ประเทศไทยเปิดรออยู่อีก 8 ด่านรอให้เพื่อนบ้านตอบรับ ถ้าสำเร็จก็จะคล่องตัวเพิ่มขึ้น

การค้าชายแดนกับ 4 ประเทศ (มาเลเซีย กัมพูชา เมียนมา และสปป.ลาว) เดือนตุลาคม 2565 มีมูลค่าการค้ารวม 87,297 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.59% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 54,643 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.50% และการนำเข้ามูลค่า 32,653 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.10% โดยการส่งออกไปกัมพูชาและ สปป.ลาว ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา และการส่งอกไปเมียนมากลับมาขยายตัวอีกครั้ง ดังนี้

1) สปป.ลาว มูลค่าส่งออก 15,168 ล้านบาท (+43.67%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป น้ำมันดีเซล และน้ำตาลทราย

2) มาเลเซีย มูลค่าส่งออก 14,713 ล้านบาท (-21.72%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รถยนต์และส่วนประกอบ และยางพารา

3) เมียนมา มูลค่าส่งออก 11,200 ล้านบาท (+6.16%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันสำเร็จรูปอื่น ๆ และเครื่องสำอาง เครื่องหอมและสบู่

4) กัมพูชา มูลค่าส่งออก 13,563 ล้านบาท (+9.49%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ

การค้าผ่านแดนไปประเทศที่สาม (จีน เวียดนาม สิงคโปร์และประเทศอื่นๆ) เดือนตุลาคม 2565 มีมูลค่ารวม 57,180 ล้านบาท ลดลง 11.42% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 27,293 ล้านบาท ลดลง 8.36% และการนำเข้ามูลค่า 29,887 ล้านบาท ลดลง 14.04% โดยการส่งออกผ่านแดนไปเวียดนามยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา ดังนี้

1) จีน มูลค่าส่งออก 9,580 ล้านบาท (-8.92%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่
ยางพารา เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ

2) เวียดนาม มูลค่าส่งออก 4,370 ล้านบาท (+17.51%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และสินค้าปศุสัตว์อื่น ๆ

3) สิงคโปร์ มูลค่าส่งออก 3,522 ล้านบาท (-2.91%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และแผงสวิตซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า

4) ประเทศอื่น ๆ (เช่น ฮ่องกง สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ) มูลค่าส่งออก 9,821 ล้านบาท
(-17.60%)

ปัจจัยสนับสนุนการส่งออก เงินบาทยังคงอ่อนค่า ช่วยให้สินค้าไทยยังสามารถแข่งขันด้านราคาได้ โดยล่าสุดณ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ค่าเงินบาทอ่อนค่าที่ระดับ 36.178 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศเพื่อนบ้านยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงของไปยังสปป.ลาว และเมียนมา ขยายตัว 177.02% และ 5.71% ตามลำดับ

การดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์เพื่อสนับสนุนการค้าชายแดน โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค อาทิ การผลักดันเปิดจุดผ่านแดนเพื่อขนส่งสินค้าภายใต้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดย ณ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 มีจุดผ่านแดนฝั่งไทยเปิด 71 แห่ง จากทั้งหมด 97 แห่ง ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเปิด 63 แห่ง โดยในช่วงเดือนตุลาคม 2565

ปัจจุบัน มีจุดผ่านแดนฝั่งไทยเปิดเพิ่มจำนวน 1 แห่ง คือ จุดผ่อนปรนการค้าช่องสายตะกู จังหวัดบุรีรัมย์ (14 ต.ค. 65) และจุดผ่านแดนฝั่งประเทศเพื่อนบ้านเปิดเพิ่มจำนวน 3 แห่ง คือ (1) ด่านประเพณีปากน้ำเซบั้งไฟ เมืองหนองบก แขวงคำม่วน สปป.ลาว (3 พ.ย. 65) (2) ด่านประเพณีบ้านเซบั้งไฟ เมืองไซบูลี แขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว (3 พ.ย. 65) และ (3) ด่านท้องถิ่นเมืองหินบูน แขวงคำม่วน สปป.ลาว
(7 พ.ย. 65)

การดำเนินโครงการ “จับคู่กู้เงิน” สถาบันการเงินกับ SMEs ส่งออก โดยร่วมมือกับ EXIM Bank และ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ในการปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่การส่งออก รวมถึงผู้ประกอบการค้าชายแดน ซึ่ง ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 มีผู้ประกอบการยื่นขอสินเชื่อ 1,218 ราย วงเงินรวม 5,933.1 ล้านบาท อนุมัติวงเงินแล้ว 1,202 ราย วงเงินรวม 5,902.4 ล้านบาท

การจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าชายแดน โดยในปี 2565 กรมการค้าต่างประเทศได้ดำเนินการจัดงานมหกรรมการค้าชายแดนใน 5 จังหวัดเป้าหมาย คือ จังหวัดนครพนม แม่ฮ่องสอน สงขลา ยะลา และอุบลราชธานี ซึ่งกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การแสดงและจำหน่ายสินค้าส่งออกชั้นนำ การเจรจาจับคู่ธุรกิจ การอบรม/สัมมนา และ การประชุมร่วมภาครัฐและเอกชน