ไทยปั๊มจีดีพีปี’66 โต 4% ดัน BCG โมเดลตั้งรับวิกฤตเศรษฐกิจโลก

BCG

ปิดฉากการประชุมหอการค้าทั่วประเทศครั้งที่ 40 ที่จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Connect the dots : Enhancing Thailand Competitiveness” ระหว่างวันที่ 25-27 พฤศจิกายน 2565 ที่จังหวัดอุบลราชธานีไปแล้ว นับว่าเป็นปีที่สำคัญที่มีผู้เข้าร่วมประชุมมากถึง 1,200 คน จากปกติที่มีไม่ถึงพันคน

ครั้งนี้นับเป็นการประชุมครั้งแรกที่มีรัฐมนตรีเข้าร่วมมากถึง 5 คน นำโดยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง , นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

และ นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเข้าร่วมด้วยทำให้มีการแลกเปลี่ยนประเด็น ทั้งด้านเศรษฐกิจ-สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน

ซึ่งสอดรับกับนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบ BCG model (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว) และการสร้างการเติบโตอย่างสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม (ESG) เป็นหัวใจสำคัญ

เศรษฐกิจโลกโต 2.7%

โจทย์สำคัญของการประชุมครั้งนี้ ที่ไทยต้องเตรียมแผนรับมือกับความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง ผลพวงจากวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน กระทบราคาพลังงาน เศรษฐกิจโลกที่อาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย เติบโตเพียง 2.7%

จากที่เคยคาดไว้ 3.2% ทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศประเมินว่าปี 2566 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตเพียง 3-4% โดยรายได้หลักจากภาคการส่งออกจะโตลดลงเหลือเพียง 3-5% ชะลอตัวลงจากปีนี้ที่เติบโตในระดับ 5-8% ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวที่ไม่รวมจีนจะมีถึง 20 ล้านคน

3 คีย์เวิร์ดสมุดปกขาว

ในวันสุดท้าย นายสนั่นเป็นผู้ส่งมอบ “สมุดปกขาว” ต่อนายสุพัฒนพงษ์ ซึ่งมารับมอบแทนนายกรัฐมนตรี

จากนั้นจะนำไปขับเคลื่อนโครงการที่สำคัญเร่งด่วน (flagship projects) ซึ่งมี 3 คีย์เวิร์ด สำคัญ คือ “connect-competitive-sustainable”

คำแรก “connect” หมายถึงความเชื่อมโยงความร่วมมือเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยหอการค้าไทยตั้งเป้าหมายระดมสมาชิกเพิ่มจาก 1 แสนราย เป็น 2 แสนราย ภายใน 3 ปี สร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมให้มากขึ้น

“competitive” หมายถึงการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในทุกมิติ สนับสนุนภาครัฐ ขับเคลื่อนการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ซึ่งเป็นความตกลงการค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกครอบคลุมประชากร 2,900 ล้านคน และจีดีพีคิดเป็น 62% ของเศรษฐกิจโลก พร้อมทั้งขยายการเจรจาความตกลง FTA กับนานาชาติ ต่อยอดความเชื่อมั่นจากการเป็นเจ้าภาพ APEC ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

โดยเฉพาะพื้นที่ EEC ซึ่งทางหอการค้าไทยจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับทุกหน่วยงาน เพื่อยกระดับ ease of investment และปรับปรุงความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (ease of doing business) ด้านการท่องเที่ยวจะยกระดับการสร้าง soft power ในแต่ละจังหวัด และการท่องเที่ยวเมืองรอง ด้วย happy model และสุดท้าย “sustainable” สร้างอนาคตที่ยั่งยืน

เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ ซึ่งจะทำสำเร็จหรือไม่ต้องรอดูความคืบหน้าในการประชุมหอการค้าทั่วประเทศครั้งที่ 41 ปี 2566 ซึ่งจะครบรอบ “90 ปีสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย” ที่ “กรุงเทพมหานคร” เป็นเจ้าภาพ

โชว์นโยบายเศรษฐกิจ

นอกจากการหารือภาคเอกชนในเวทีประชุมหอการค้าฯ แล้ว “รัฐมนตรีเศรษฐกิจ” ยังได้ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษสร้างความมั่นใจให้เอกชนด้วย

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังศึกษาและจัดทำการผลักดันระเบียงเศรษฐกิจพิเศษใหม่ 5-6 แห่งกระจายในทุกภูมิภาค คาดว่าภายใน 90 วันจากนี้จะมีความชัดเจนมากขึ้น

ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนทั้งในอุตสาหกรรมใหม่และดั้งเดิม โดยรัฐเตรียมโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เพื่อไม่ให้เป็นภาระต้นทุนเอกชน

“ไทยในสายตาต่างชาติหลังการประชุมเอเปคถือว่ามีศักยภาพดึงดูดการลงทุน ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน นโยบาย BCG สร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าที่มาจาก BCG พร้อมวางเป้าหมายกระจายไปทั่วประเทศให้ได้ใน 3-5 ปี ที่จะเป็นโอกาสในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน สมุดปกขาวภาคเอกชนจะเป็นความหวังในการฟื้นเศรษฐกิจโดยรัฐบาลและเอกชนจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดต่อไป”

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 คลังมองทิศทางเดียวกับเอกชนว่าจะขยายตัว 3-4% ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากการระบาดของโควิด-19 อาจใช้เวลามากกว่า 2 ปี เพราะปัญหาแพร่ระบาดเกิดขึ้นทั่วโลก ทุกฝ่ายจำเป็นต้องร่วมมือกันและใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีในการแก้ไขปัญหา

แต่สิ่งที่ต้องการคือ “การเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ” ดังนั้น ต้องผลักดันการลงทุนภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีสัดส่วน 24% ต่อจีดีพี ลดลงจากอดีตที่มีสัดส่วน 40% ของจีดีพี โดยเฉพาะการเร่งขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเม็ดเงินลงทุนถึง 5 ล้านล้านบาทให้เกิดขึ้น ใน 8-10 ปี

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปัญหาด้านภูมิศาสตร์กับการค้านั้น ไทยต้องแสดงจุดยืนให้มีความชัดเจนว่าจะใช้ภูมิรัฐศาสตร์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเราอย่างไร ภาครัฐและเอกชนต้องผนึกกำลัง เพื่อฝ่าความท้าทายนี้ไปให้ได้ โดยประเทศต้องใช้ประโยชน์ทั้งความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในภูมิคภาค (RCEP) และความตกลง FTAAP ที่ประกาศเข้าร่วม

“การขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบยั่งยืน เป็นเหรียญสองด้าน ด้านบวกให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของโลก แต่อีกด้านเป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวในอนาคต ต้องเตรียมรับมือมาตรการกีดกันทางการค้ารูปแบบใหม่”

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า รัฐบาลมีแนวคิดนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาพัฒนาประเทศสู่เป้าหมายลดปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้ 40% ใน 8 ปี ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนวางแนวทางรองรับกำแพงภาษีด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้า ทั้งสหภาพยุโรป สหรัฐ แคนาดาต่างเริ่มวางกฎระเบียบเรื่องนี้


“ไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดแนวทางการทำธุรกิจ เรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เป็นภาระแต่เป็นเรื่องความยั่งยืนเป็นโอกาสและแต้มต่อ เกี่ยวข้องกับครึ่งหนึ่งของการจ้างงานในสาขาอาชีพ เกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงานชีวภาพ และการท่องเที่ยว คาดว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจ BCG จะเพิ่มเป็น 4.4 ล้านล้านบาท หรือ 25% ของจีดีพีไทยในอนาคต”