ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานบอร์ด ททท. หนุนตั้งวอร์รูม “ยกเครื่องท่องเที่ยวไทย”

คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยถึง 18-19% ของจีดีพีในช่วงก่อนระบาดโควิด-19 และยังคงเป็นอุตสาหกรรม “ความหวัง” ของประเทศที่จะช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

แต่การที่ภาคท่องเที่ยวจะเป็นเครื่องยนต์สำคัญช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไปได้นั้น ประเทศไทยต้องยกเครื่องอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งซัพพลายเชน เพื่อที่จะตอบโจทย์ในเรื่องของการโฟกัสกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ไม่ใช่การมุ่งเน้นที่จำนวนนักท่องเที่ยวเช่นที่ผ่านมา

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์” รักษาการประธานกรรมการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และในฐานะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ผู้อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนแผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ถึงจุดอ่อน-จุดแข็ง อุปสรรคและปัญหาในการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย รวมถึงศักยภาพและโอกาสของการท่องเที่ยวไทย

กลับมาครั้งนี้ต้องไม่เหมือนเดิม

“ดร.ทศพร” กล่าวว่า ธุรกิจท่องเที่ยวเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยในปี 2562 หรือช่วงก่อนวิกฤตโควิด ภาคการท่องเที่ยวมีรายได้ประมาณ 18-20% ของ GDP ด้วยตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างประเทศราว 40 ล้านคน เรียกว่าประเทศไทยอาศัยภาคต่างประเทศเป็นหลักทั้งส่งออกและการท่องเที่ยว

พอปี 2563 เนื่องจากการปิดประเทศ จำนวนนักท่องเที่ยวเหลืออยู่ประมาณ 6.7 ล้านคน สร้างรายได้รวมราว 8.8 แสนล้านบาท ทำให้สัดส่วนรายได้ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 6% ของ GDP และยิ่งหนักมากขึ้นอีกในปี 2564 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยว 4.2 แสนคน สร้างรายได้รวมที่ประมาณ 4.5 แสนล้านบาทเท่านั้น สำหรับปีนี้ตั้งแต่ 1 ม.ค.-16 พ.ย. 65 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสม 8.6 ล้านคน

ดังนั้นประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฟื้นการท่องเที่ยว เพราะเป็นเครื่องยนต์สำคัญกับประเทศ โดยประเด็นสำคัญคือ การกลับมาครั้งนี้ “ต้องไม่เหมือนเดิม” เพราะแบบเดิมการท่องเที่ยวของเราเน้นเรื่องของปริมาณ แบบ “ทำมาก-ได้น้อย” ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 40 ล้านคน แต่หลังจากนี้เราทำแบบเดิมไม่ได้

เป้าหมายสำคัญของภาคท่องเที่ยวไทยหลังวิกฤตโควิดคือ ต้องโฟกัสนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ และนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ ๆ ที่ยินดีจะใช้จ่ายมากขึ้น เพื่อแลกกับประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ดี ๆ ซึ่งในอนาคตก็ไม่มีความจำเป็นว่าต้องมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปริมาณเท่าก่อนโควิด

แผนสู่ท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ

ประธานบอร์ด ททท.ระบุว่า จากเป้าหมายดังกล่าวนี้ ทำให้ต้องทรานส์ฟอร์มภาคท่องเที่ยวด้วยการปรับทิศทาง และพอร์ตโฟลิโอตามยุทธศาสตร์ แผนแม่บทเฉพาะกิจ 2563-2565 และทิศทางตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯฉบับ 13 ที่เปลี่ยนจากการท่องเที่ยวที่เน้นปริมาณ ที่เป็น cheap destination หรือจุดหมายปลายทางราคาถูก ไปสู่การเน้นคุณภาพ (high value) responsible tourism, sustainable tourism (based on BCG concept)

โดยเป้าหมายคือ การปรับพอร์ตเจาะ niche market แสวงหาลูกค้ากลุ่มใหม่ อาทิ กลุ่มลักเซอรี่, กลุ่ม workation, gastronomy, medical & wellness ฯลฯ สร้างประสบการณ์ใหม่ให้นักท่องเที่ยว พัฒนาสินค้าและบริการใหม่ ๆ กำหนดจำนวนคนเข้าสถานที่ท่องเที่ยว เชื่อมโยงท่องเที่ยวกับชุมชน และสิ่งสำคัญคือ เป็นการใช้ภาคการท่องเที่ยว เป็นช่องทางแก้ปัญหาการกระจายตัวของรายได้ของประชาชน เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

เร่ง Drive Demand กลุ่มใหม่

ดร.ทศพรกล่าวว่า บทบาทหลักของ ททท.คือ ทำการตลาดเพื่อกระตุ้นความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยว (drive demand) โดยมุ่งกลุ่มประชากรที่มีความมั่งคั่ง, กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย, กลุ่มอาชีพทักษะสูง รวมถึงกลุ่มที่ต้องการมารักษาพยาบาล และดูแลสุขภาพมาทรีตเมนต์ (medical & wellness) กลุ่มคู่รักฮันนีมูน กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบ (responsible tourist) และกลุ่มคนรุ่นใหม่

นอกจากนี้ ยังต้องทำให้ประเทศไทยเป็นเดสติเนชั่นที่ท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี มีลูกค้าในทุกซีซั่นนอล เช่น ในช่วงไตรมาส 4 ต่อเนื่องไตรมาส 1 เป็นตลาดยุโรปหนีหนาว ช่วงไตรมาส 3 ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน จะเป็นตลาดตะวันออกกลาง ที่หนีร้อนมาหาฝน เป็นต้น

“นักท่องเที่ยวที่มาเมืองไทยเขาก็คาดหวังว่ามาเมืองไทยแล้วต้องเจอธรรมชาติที่ฟื้นกลับมา ไม่เจอการเอารัดเอาเปรียบ มาเจอสินค้าและบริการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ๆ ที่เขาต้องการ และเชื่อมั่นว่ากลุ่มเหล่านี้จะไม่ใช้จ่ายแค่ 40,000-50,000 ต่อคนต่อทริป แต่อาจเพิ่มเป็น 80,000 บาทต่อคนต่อทริป หรือมากกว่าก็เป็นไปได้”

โจทย์ใหญ่ Change ซัพพลายเชน

อย่างไรก็ตาม โจทย์สำคัญคือ ภาคการท่องเที่ยวของไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องยกระดับสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว หรือ shape supply พร้อมทั้งสร้างเอกลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยว สินค้าและบริการเชิงประสบการณ์ อำนวยความสะดวกสูง และสร้างนวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวเพื่อมุ่งสู่สมาร์ททัวริซึ่ม และส่งเสริมธุรกิจรูปแบบใหม่

ประธานบอร์ด ททท.ระบุว่า ประเด็นสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่ของภาคการท่องเที่ยวหลังจากนี้คือ เมื่อ ททท.กระตุ้นดีมานด์การเดินทางเข้ามาแล้ว จะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาแล้ว “ไม่ผิดหวัง” พบแหล่งท่องเที่ยว สินค้า และบริการของประเทศที่มีคุณภาพตามที่โปรโมตออกไป

ประเทศไทยต้องยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการทุกซัพพลายเชนด้านการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพ สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ และเป้าหมายที่เรามุ่งเน้นนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพให้ได้

“ในแง่ของ ททท.ไม่น่าห่วง เพราะมีบทบาทหน้าที่ drive demand แต่สิ่งที่ห่วงคือ ถ้านักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วผิดหวัง ในที่สุดเราก็จะไปไม่รอด ต้องกลับมาเป็นการท่องเที่ยวเชิงปริมาณแบบเดิม”

จุดอ่อนนำแผนไปสู่ปฏิบัติจริง

ดร.ทศพรสะท้อนถึงความท้าทายในเวลานี้ว่า ตอนนี้ในแผนของ ททท. รวมทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวฯ มีการกำหนดยุทธศาสตร์ไว้ชัดเจนในการที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยต้องทรานส์ฟอร์มสูง การท่องเที่ยวเน้นคุณภาพจับกลุ่มลูกค้า high value แต่ปัญหาคือ ยังขาดการนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อทำให้แผนเกิดขึ้นจริง เนื่องจาก ททท.มีบทบาทด้านการกระตุ้นดีมานด์เป็นหลัก ไม่ได้ดูแลในส่วนซัพพลายเชนทั้งหมด

“เรื่องท่องเที่ยวเป็นเรื่องคลาสสิกของการบริหาร เพราะเป็นภาคธุรกิจที่มีหน่วยงาน และคนที่เกี่ยวข้องเยอะมาก ซัพพลายเชนทั้งโรงแรม ร้านอาหาร รถ เรือ ฯลฯ ซึ่งต้องอาศัยทุกภาคส่วน ลำพังแค่กระทรวงการท่องเที่ยวฯและ ททท. ไม่มีอำนาจในการที่จะจัดการ เพราะเกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม สาธารณสุข มหาดไทย และอื่น ๆ อีกมาก”

นอกจากนี้ยังมีภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ชุมชน และท้องถิ่น รวมถึงแหล่งเงินทุน ก็ต้องมีหน่วยที่เป็นเจ้าภาพในการสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอี สามารถยกระดับตัวเองได้ตามเป้าหมายใหญ่ของรัฐบาล

วาระแห่งชาติ “ท่องเที่ยวไทย”

ดร.ทศพรย้ำว่า ถ้าประเทศไทยจะมุ่งสู่การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ และทำให้กลับมาเป็นเรื่องหลักสร้างรายได้ในสัดส่วน 18-20% ต่อจีดีพีอีกครั้ง และสามารถเติบโตอย่างแข็งแรง ทุกฝ่ายต้องทำงานแบบบูรณาการ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานภายใต้คอนเซ็ปต์เดียวกัน เดินไปในทิศทางเดียวกันอย่างแท้จริง ดังนั้นการยกเครื่องซัพพลายเชนภาคการท่องเที่ยวไทยเป็นสิ่งจำเป็นต้องทำอย่างจริงจัง

“เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน เรื่องนี้ต้องทำให้เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งเป็นวอร์รูม ให้คนที่มีบารมีอย่างมากมาสั่งการ หรือต้องเป็นนายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะ เหมือนเมื่อครั้งทำแผนเปิดประเทศในโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ปี 2564 เพื่อที่จะให้แผนการยกระดับมาตรฐานภาคการท่องเที่ยวทั้งซัพพลายเชน และไปในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ในการเริ่มต้น ต้องคัดเลือกว่าพื้นที่ไหนจำเป็นต้องทำก่อนพื้นที่ไหนทำทีหลังให้ชัดเจน ไม่สามารถทำพร้อมกันทั้งประเทศ” ประธานบอร์ด ททท.กล่าว

โดยที่ผ่านมา ททท.ได้ทดลองทำโมเดลต้นแบบ จัดทำแผนพัฒนาท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเป็นคลัสเตอร์ เริ่มต้นจากคลัสเตอร์ท่องเที่ยวอันดามัน “ภูเก็ต กระบี่ พังงา” เนื่องจาก 3 จังหวัดนี้ที่สนับสนุนซึ่งกันและกันหลายอย่าง เช่น มีธุรกิจในภาพบริการจำนวนมาก และเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวสำหรับต่างชาติ มีวัฒนธรมพื้นถิ่นใกล้เคียงกัน มีกิจกรรมท่องเที่ยวเชื่อมโยง เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวและบริการให้มีมาตรฐานและมูลค่าสูง เป็นเวลเนสทัวริซึ่ม

“ตอนนี้เราให้ ททท.ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานประสาน และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาเท่านั้น แต่ถ้าจะยกเครื่องอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ต้องบูรณาการเพื่อให้ทุกหน่วยงานทำงานร่วมกัน สร้างกลไกขับเคลื่อน ผมอยู่ในระบบราชการมานาน ทราบดีว่าเรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่”

ฝากความหวังรัฐบาลใหม่

ประธานบอร์ด ททท.ทิ้งท้ายว่า ประเด็นเหล่านี้ต้องส่งต่อให้รัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารนำไปพิจารณา เพราะรัฐบาลชุดปัจจุบัน ก็เหลือเวลาทำงานอีกไม่นานประมาณ 3 เดือนเท่านั้น หากยังต้องการให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาเป็นเครื่องยนต์สำคัญช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทุ่มงบประมาณลงมาจริงจัง และนายกรัฐมนตรีต้องลงมาขับเคลื่อนด้วยตัวเอง เพื่อให้การทำงานเกิดบูรณาการและปฏิบัติการเชิงรุกเต็มที่

พร้อมย้ำว่า ด้วยงบประมาณประจำปีที่มีจำกัด ในส่วนของงบประมาณดำเนินการ แนวทางที่ดีที่สุดคือ การเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยว หรือที่เรียกว่า “ค่าเหยียบแผ่นดิน” ซึ่งมีแผนจัดเก็บจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทย