เพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวนักท่องเที่ยว โจทย์ใหญ่ “เที่ยวไทย”

นักท่องเที่ยว
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า
[email protected]

ข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า ในช่วง 10 เดือนแรกที่ผ่านมา (มกราคม-ตุลาคม 2565) ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมรวม 7.56 ล้านคน

ในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวตลาดระยะใกล้ถึง 4.93 ล้านคน หรือประมาณ 65% โดย 5 อันดับแรกที่มีจำนวนมากที่สุดคือมาเลเซีย 1.28 ล้านคน รองลงมาคืออินเดีย 6.79 แสนคน สปป.ลาว 5.56 แสนคน กัมพูชา 3.85 แสนคน และสิงคโปร์ 3.74 แสนคน

เป้าหมาย 10 ล้านคนสำหรับปี 2565 นี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้

ประเด็นที่น่าสนใจคือ จำนวนนักท่องเที่ยวบรรลุเป้าหมาย 10 ล้านคนแน่ ๆ แต่รายได้จะบรรลุเป้าหมายด้วยหรือไม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนในอุตฯ ท่องเที่ยวหลายคนตั้งคำถาม

เพราะหากประเมินแบบผิวเผินจะเห็นว่า 1.นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาส่วนใหญ่เป็นตลาดระยะใกล้ โดยเฉพาะมาเลเซียที่ส่วนใหญ่มาอยู่แค่ 2-3 วันเท่านั้น แถมยังมาทางด่านทางบก หรืออินเดียที่แม้ว่าจะมา 4-5 วัน แต่ส่วนใหญ่ยังใช้จ่ายต่ำ

ทำให้สรุปกันว่า การใช้จ่ายต่อคนต่อทริปต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของปี 2562 แน่ ๆ แม้ว่าในช่วงเปิดประเทศแรก ๆ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นตลาดระยะไกล และมีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปสูงถึงราว 7 หมื่นบาท

เพราะมีค่าบริการด้านทำ RT-PCR รวมถึงค่าโรงแรมกักตัว และอื่น ๆ ทำให้นักท่องเที่ยวที่มามีการใช้จ่ายต่อหัวสูงกว่าปกติ

แต่ทันทีที่ยกเลิกมาตรการทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติไหลเข้ามาจำนวนมาก แต่สิ่งที่พบคือ เป็นกลุ่มตลาดระยะใกล้ และเดินทางผ่านด่านทางบก

ตรงกันข้ามในฟากของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ต่างพยายามสื่อสารว่าได้พยายามหากลยุทธ์เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อยู่นานขึ้น ไม่ว่าจะเป็นส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวแบบเที่ยวไปด้วยทำงานไปด้วย

วันก่อน “ศุภจี สุธรรมพันธุ์” CEO กลุ่มดุสิตธานี ก็พูดถึงในประเด็นนี้ว่า รัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งต้องแก้โจทย์เรื่อง “รายได้” โดยเพิ่มการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

โดย “ศุภจี” มองว่า ทุกวันนี้โรงแรม 5 ดาว 6 ดาวที่เคยขายคืนละหมื่นกว่าบาท ยังลดราคาเหลือแค่ 2-3 พันบาทอยู่เลย สะท้อนว่ามูลค่าการใช้จ่ายต่อคนต่อทริปของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ

พร้อมเสนอว่า การส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยนั้น ควรสร้างสตอรี่และใส่วัตถุประสงค์ในการเดินทางให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติอยากเดินทางและอยู่นานขึ้น

เช่น โปรโมตการเดินทางเพื่อศัลยกรรมความงาม หากกลุ่มนี้เกิดการเดินทางเชื่อว่าจะใช้เวลาพักไม่ต่ำกว่า 7-10 วัน เป็นต้น

นั่นหมายความว่าเราต้องสร้างจุดขายใหม่ เพราะโจทย์ใหญ่คือต้องทำให้นักท่องเที่ยวมีอัตราการใช้จ่ายต่อหัวต่อทริปเพิ่มมากกว่า 4-5 หมื่นบาทอย่างที่เราเคยทำได้ก่อนหน้านี้ให้ได้…