ปิดฉาก ประชุมหอการค้าทั่วประเทศ สนั่น ส่งมอบสมุดปกขาวให้รัฐบาล

สนั่น อังอุบลกุล
สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ส่งมอบสมุดปกขาว แก่สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในงาน

ปิดฉาก ประชุมหอการค้าทั่วประเทศครั้งที่ 40 สนั่น ส่งมอบสมุดปกขาว ให้รัฐบาลเดินหน้าแผนผลักดันเศรษฐกิจ พร้อมหอการค้าทั่วประเทศ เสนอแนวทางยกระดับความสามารถแข่งขันไทย มุ่งพัฒนา SMEs ขยายโอกาสจากเอเปค พร้อมดึงดูดลงทุนจากต่างชาติ

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2565 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวสรุปผลการสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 40 ภายใต้หัวข้อ “Connect the dots : Enhancing Thailand Competitiveness” และมอบสรุปผลการจัดสัมมนาฯ หรือ สมุดปกขาว นายกรัฐมนตรี โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมารับมอบ เพื่อเป็นการผลักดันต่อไป ว่า

การสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศในครั้งนี้ หอการค้าจังหวัดได้นำเสนอโครงการที่สำคัญเร่งด่วน (Flagship Projects) ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในส่วนภูมิภาคหลายโครงการ ทั้งในด้านการเกษตร การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว

โดยได้รวบรวมแนวทางการขับเคลื่อนดังกล่าวอยู่ในสมุดปกขาว เพื่อมอบให้กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้นำไปพิจารณาต่อไป พร้อมกันนี้ หอการค้าไทยยังได้สรุปแนวทางการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ประกอบด้วย

ประชุมหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 40
ประชุมหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 40 ที่ จ.อุบลราชธานี

1. Connect เชื่อมโยงความร่วมมือเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยหอการค้าไทยตั้งเป้าหมายระดมสมาชิกเพิ่มจาก 1 แสนราย เป็น 2 แสนราย ภายใน 3 ปีข้างหน้า เพื่อสร้างความเข้มแข็งของ SME ไทยตลอดจนขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค 5 ภาค จากการระดมความเห็นของสมาชิกหอการค้าทั่วประเทศตลอดทั้งปี

2. Competitive ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในทุกมิติ โดยสนับสนุนภาครัฐ ขับเคลื่อน FTAAP และเร่งขยาย FTA กับนานาชาติ ต่อยอดความเชื่อมั่นจากการเป็นเจ้าภาพ APEC ในช่วงที่ผ่านมา พร้อมดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ EEC ที่มีความพร้อมในการรองรับการลงทุนตรงจากทั่วโลกได้อย่างทันที

Advertisment

พร้อมกันนี้ หอการค้าไทยมีแผนดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากประเทศยุทธศาสตร์เป้าหมาย ที่ประกอบด้วย จีน ซาอุดีอาระเบีย เวียดนาม และอินเดีย รวมถึงรักษากลุ่มนักลงทุนเดิม เช่น ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา

โดยหอการค้าไทยจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับ BOI ยกระดับ Ease of Investment พร้อมร่วมมือกับ กพร. ปรับปรุง Ease of Doing Business ปรับปรุงขั้นตอนการติดต่อราชการให้รวดเร็ว ลดการเซ็นเอกสาร สนับสนุนให้เกิด e-Government อย่างเต็มรูปแบบ

Advertisment

สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ จำเป็นต้องเร่งแก้ไข และปรับปรุงกฎระเบียบ ให้เอื้ออำนวยต่อการลงทุน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทุกภาคส่วน นอกจากนี้ หอการค้าไทยได้ผนึกกำลังกับ กกร. และ TMA สร้าง Pilot Project โดยใช้สถาบันเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมขับเคลื่อนและติดตามอย่างใกล้ชิด

ส่วนภาคการท่องเที่ยว หอการค้าฯ ร่วมกับ ททท. ดำเนินแนวทาง Trade & Travel ยกระดับการสร้าง Soft Power ในแต่ละจังหวัด พร้อมยกระดับการท่องเที่ยวเมืองรอง ด้วย Happy Model

สนั่น อังอุบลกุล
สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

3. Sustainable สร้างอนาคตที่ยั่งยืน เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ ทั้งนี้ หอการค้าไทยและเครือข่ายทั่วประเทศ พร้อมผลักดัน Bangkok Goals (เป้าหมายกรุงเทพฯ) ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG โดยจะนำเอาแผนพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคภาคเอกชน ระยะ 5 ปี เป็นแนวทางขยายผล BCG Model เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำของประเทศ

นอกจากนั้น จะใช้กลไกสถาบันวิทยาการเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อผู้ประกอบการและผู้บริโภค ที่จัดตั้งขึ้นร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นสถาบันทางวิชาการ สร้างความรู้ ความเข้าใจ และร่วมกับหอการค้าทุกจังหวัด ขับเคลื่อน BCG ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

“สำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2566 ซึ่งถือเป็นปีที่สำคัญของหอการค้าไทย ก่อตั้งครบ 90 ปีนั้น จะนำแนวทาง Connect Competitive และ Sustainable เพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะเปราะบาง แต่เราเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะมีโอกาสเติบโตได้ โดยหอการค้าไทยคาดว่า GDP ไทยจะเติบโตได้ 3.5-4 % และภาคการส่งออกจะเติบโตได้ 3-5 % ภายใต้ความร่วมมือและการทำงานเชิงรุกของพวกเราทุกคน” นายสนั่น กล่าว

การจัดงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศครั้งนี้ หอการค้าไทยให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม โดยวางแผนการจัดงานอย่างยั่งยืนตามแนวทางของ สสปน. โดยมีการคำนวณ Footprint ที่เลี่ยงได้จากการจัดงานใน 5 ด้าน ได้แก่ อาหาร การเดินทาง ส่วนตกแต่ง การใช้พลังงานไฟฟ้า และเอกสารแจกในงาน โดยสามารถ “เลี่ยง” การปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 10,599.54 กิโลกรัมคาร์บอน เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ใหญ่ 643 ต้น

อย่างไรก็ดี  วาระเร่งด่วนที่ตั้งเป้าหมายร่วมกับภาครัฐและเอกชน คือ การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ที่จะต้องได้รับการสนับสนุนให้เกิดการปรับตัว ด้วยการนำเอา Digital Transformation มาใช้ดำเนินธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพ และไม่ใช่แค่ทางเลือก หรือทางรอด แต่คือทางหลักสู่ความสำเร็จของ SME ไทย ท่ามกลางปัญหาวิกฤติซ้อนวิกฤติ โดยในปีนี้ มีภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศเข้าร่วม กว่า 1,200 คน

ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับหลายปัจจัยที่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่รวดเร็วเท่าที่ควร โดยนอกจากผลกระทบของโควิด-19 แล้ว ยังมีสถานการณ์ที่ส่งผลซ้ำซ้อนอีก 4 ด้าน ได้แก่ 1) วิกฤตด้านพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ 2) การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต และการขาดแคลนวัตถุดิบด้านการเกษตร 3) วิกฤตการเงินภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs และ 4) วิกฤตโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และการลดลงของอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทย ที่ลดลงถึง 5 อันดับจากปี 2564

ดังนั้น ทางออกที่จะช่วยให้ประเทศไทยกลับมาเข้มแข็งได้ คือ การหาแนวทางเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศในแต่ละมิติ โดยเฉพาะมิติเศรษฐกิจ ผ่านกลไกการเชื่อมโยงและบูรณาการระหว่างเครือข่ายทุกภาคส่วนต่อไป