ปตท.ถกจ่าย 6,000 ล้านบาท อุ้มค่าไฟแพง ประยุทธ์ สั่งลดราคาให้เอกชน

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

นายกฯ สั่ง “สุพัฒนพงษ์” ลดค่าไฟเอกชนงวด ม.ค.-เม.ย. 66 คาดชัดเจนพุธนี้ 28 ธ.ค.นี้ พร้อมขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์หั่นดอกเบี้ยลดต้นทุนธุรกิจ ขอเอกชนร่วมบริหารจัดการเชื้อเพลิงและประหยัดพลังงานช่วยชาติกดต้นทุนค่าไฟ ด้าน กฟผ.โอดแบกรับภาระไม่ไหว วอนรัฐงดนำส่งเงินเข้า-หาเงินมาอุดหนุน ส่วนบอร์ด ปตท. ถก 6 พันล้าน พรุ่งนี้

วันที่ 26 ธันวาคม 2565 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า แนวทางการช่วยเหลือค่าไฟฟ้างวดแรกปี 2566 (ม.ค.-เม.ย.) สำหรับกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ (ที่ไม่ใช่บ้านอยู่อาศัย) ลงจาก 5.69 บาทต่อหน่วย ตามเสียงเรียกร้องของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมนั้น

เบื้องต้นได้หารือกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้รับทราบนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการช่วยลดภาระให้กับกลุ่มดังกล่าวแล้ว และขณะนี้ กกพ.อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางและอัตราที่เหมาะสม โดยเบื้องต้นคาดว่าค่า Ft ของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น จะลดลงจากอัตรา 190.44 สตางค์ต่อหน่วยได้ แต่จะลดลงได้มากน้อยหรืออยู่ในระดับใด ยังต้องรอความชัดเจนที่จะมีการหารือในวันพุธนี้ (29 ธ.ค. 2565)

“นายกฯสั่งให้ผมลดราคาค่าไฟให้เอกชน เพื่อบรรเทาผลกระทบ และผมก็พร้อมคุยกับเอกชน อยากให้มาคุยแบบมีคำตอบร่วมกัน ซึ่งถ้าธนาคารพาณิชย์ช่วยลดดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมถึง ส.อ.ท. ร่วมมือลดใช้พลังงาน และบริหารจัดการใช้พลังงานเพื่อลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติลง ซึ่งทั้งหมดนี้ก็จะทำให้ค่าไฟลดลงไปได้ ขณะเดียวกันในส่วนของ กฟผ.เอง เขาก็พร้อมช่วยเหลือในการแบกรับภาระการเงินและหนี้สินสะสม ที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 150,000 ล้านบาทไปก่อนได้ ทาง ปตท.เองก็เชื่อว่าจะพิจารณาช่วยเหลือตามกรอบที่ทำได้

ผมต้องเรียนว่า ทุกข์นี้ไม่ใช่ทุกข์ของประชาชนที่เราไม่สนใจ รัฐบาลไม่เคยนิ่งนอนใจกับปัญหานี้ สิ่งแรกที่ต้องบอก กำลังการผลิตที่เป็นประเด็นที่อนุมัติโดยยุคไหนก็แล้วแต่ มีเพียง 500 เมกะวัตต์ เท่านั้น ที่เหลือไม่ได้มีการอนุมัติ คนสร้างใครก็ไม่รู้ ย้อนหลังไปดูกันเอง ถ้าเอากำลังการผลิตแสงอาทิตย์ พลังงานลมมาบวกกัน แล้วอย่างนี้ เกิดความเข้าใจผิด อย่างน้อยคนที่กล่าวหาบวกผิดแน่นอน ซึ่งช่วงที่ผ่านมา้จอทั้งโควิด-19 ทำให้ดีมานด์ลดลง วิกฤตสงคราม เป็นปัญหาซ้อนปัญหา ขอให้เข้าใจ”

ทั้งนี้ ในปี 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญภาวะความผันผวนด้านพลังงานทั้งปัจจัยจากสถานการณ์สู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน การลดการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกพลัส ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน และค่าครองชีพประชาชนปรับตัวสูงขึ้น กระทรวงพลังงานได้ดำเนินมาตรการสำคัญ ๆ หลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนด้านราคาพลังงานที่เกิดจากปัจจัยดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ในปี 2566 คาดว่าสถานการณ์ความผันผวนด้านพลังงานจะยังคงอยู่ และเพื่อให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศซึ่งมีสัญญาณที่ดีของการฟื้นตัวเดินหน้าไปได้ต่อเนื่อง กระทรวงพลังงานจึงดำเนินโครงการสำหรับช่วยเหลือประชาชนสำหรับก๊าซหุงต้ม (LPG) เพื่อลดต้นทุนค่าครองชีพต่อเนื่องจากปี 2565

โดยตรึงราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2566 และช่วยส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม (LPG) แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 นอกจากนี้ ปตท.ยังคงให้ส่วนลดแก่ร้านค้าหาบเร่ แผงลอยอาหารที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 100 บาทต่อคนต่อเดือน เพื่อเป็นการลดต้นทุนค่าครองชีพ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566

สำหรับในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ประชาชนต้องมีการเดินทางจำนวนมาก เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย กระทรวงพลังงานโดยความร่วมมือกลุ่ม ปตท. จะตรึงราคาน้ำมันทุกชนิดระหว่างวันที่ 24 ธันวาคม 2565-3 มกราคม 2566 และประชาชนสามารถนำรถยนต์เข้าตรวจสภาพก่อนการเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือการท่องเที่ยว โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่ศูนย์บริการ FIT Auto นอกจากนั้น ยังมีการแจกคูปองส่วนลดครึ่งราคาที่พักที่เขื่อน กฟผ. การส่งเสริมสินค้าชุมชนผ่านโครงการเอนจี้ มีดี และแจกผลิตภัณฑ์ชุมชนเป็น Box Set ให้ผู้เดินทางที่กลับจากต่างจังหวัดโดยรถไฟอีกด้วย

ส่วนทิศทางของนโยบายพลังงานในปี 2566 ว่า ยังต้องติดตามสถานการณ์พลังงานอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการพลังงานให้มีความต่อเนื่อง เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอกับที่คาดการณ์ว่าแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานจะเพิ่มขึ้น กระทรวงพลังงานต้องปรับบทบาทองค์กรก้าวสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) นอกจากจะต้องสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแล้ว ยังต้องเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและการดำเนินการหลายด้านเพื่อขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)

ทั้งการส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาดให้เป็นไปตามเป้าหมาย การปรับตัวเพื่อรองรับและส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) พร้อม ๆ ไปกับติดตามและบริหารจัดการสถานการณ์ราคาพลังงาน เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการ รวมทั้งสร้างพันธมิตรและร่วมมือกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการพัฒนา เพื่อให้เกิดการลงทุนธุรกิจพลังงานใหม่ ๆ ตามเป้าหมาย

สำหรับแผนงานสำคัญของกระทรวงพลังงานในปี 2566 จึงมุ่งสู่พลังงานสะอาดเพื่อตอบโจทย์สังคมยุคไร้คาร์บอน โดยได้วางแผนงานและโครงการแบ่งเป็น 4 มิติ ประกอบด้วย

  • มิติที่ 1 พลังงานสร้างความมั่นคงสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
  • มิติที่ 2 พลังงานเสริมสร้างเศรษฐกิจ
  • มิติที่ 3 พลังงานลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
  • มิติที่ 4 การพัฒนาองค์กรเพื่อให้บริการ

“ในปี 2566 สภาพัฒน์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3-4% จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว การบริโภค การลงทุน และการผลิตภาคเกษตร สถานการณ์กำลังปรับตัวไปในทิศทางที่เป็นบวก แต่เรายังเผชิญปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนด้านพลังงาน และกระแสการลดโลกร้อนกำลังทวีความสำคัญ เพราะฉะนั้น การพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดจะเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินนโยบายด้านพลังงาน เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการดูแลผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่ผันผวนต่อเนื่องให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

ด้านนายนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงประเด็นเรื่องข้อเสนอของภาคเอกชนที่ต้องการให้ปรับลดค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 ว่า หากต้องการให้ดำเนินการตามข้อเรียกร้องของเอกชน ภาครัฐจะต้องหาเงินมาสนับสนุน หรือขอให้ กฟผ.งดนำส่งเงินเข้ารัฐ

ทั้งนี้ เนื่องจากรายได้ของ กฟผ.ที่นำส่งเข้ารัฐยังคงค้างจ่ายปี 2565 ประมาณ 17,000 ล้านบาท หากให้แบกรับไปมากกว่านี้ก็คงไม่ไหว

สำหรับการปรับอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือค่าเอฟที (Ft) ในรอบนี้ มาจากต้นทุนราคาเชื้อเพลิงที่ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจี ที่มีราคาแพงมาทดแทนเพิ่มขึ้น รวมทั้งปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและก๊าซธรรมชาติ จากเมียนมาที่ลดลง

อีกทั้งต้องทยอยจ่ายคืนหนี้ค่าเอฟทีคืนให้กับ กฟผ.บางส่วนราว 33 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นเงิน 2 หมื่นล้านบาทต่องวด เพื่อให้ได้รับเงินคืนครบภายในเวลา 2 ปี ขณะที่ กฟผ.ยังต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 101,881 ล้านบาท

“หากจะจ่ายคืนค่าเอฟทีให้กับ กฟผ. ต่ำกว่า 33 สตางค์ต่อหน่วยก็คงไม่ไหวแล้ว กฟผ.ไม่สามารถแบกรับต้นทุนไปได้มากกว่านี้อีกแล้ว หากต้องการลดค่าไฟรัฐคงต้องหาเงินส่วนอื่นมาชข่วยอุดหนุน”

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บอร์ด ปตท.เตรียมพิจารณามาตรการช่วยเหลือด้านพลังงาน 6,000 ล้านบาท (พรุ่งนี้ 27 ธ.ค.) ซึ่งตามมติคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) นั้นได้มีการหารือต่อเนื่องจากรอบที่แล้วหารือกันเบื้องต้นไปแล้ว


“วิธีการช่วยทำได้หลายวิธิอาจจะไม่ได้เป็นในรูปตัวเงินก็ได้เพียงแต่บริหารจัดการอย่างไรให้ต้นทุนลดลงไปให้ได้ เพื่อทดแทน เพื่อนำเอาส่วนที่ลดลงมาช่วยภาคประชาชนกลุ่มเปราะบาง ซึ่งการดำเนินงานเราก็จะดูแลไม่ให้มากระทบผลการดำเนินงาน ปตท.”