เอกชนรวมตัวค้านขึ้นค่าไฟ บิ๊กค้าปลีก-สมาคมโรงแรม-SCG ออกโรง

นักธุรกิจถกค่าไฟ

เอกชน 3 สถาบันผนึกบิ๊กธุรกิจรวมพลังค้านปรับขึ้นค่าไฟ 1 มกราคม 2566 ซีอีโอ SCG ออกโรงชี้ต้นทุนค่าไฟฉุดความสามารถแข่งขันหวั่นผลกระทบประเทศระยะยาวนักลงทุน “ย้ายฐาน” กระทุ้งรัฐตั้งทีมเจรจาหาทางออก ประธาน ส.อ.ท.หวั่นนักลงทุนหนีไปเวียดนาม “ค้าปลีก-โรงแรม” เจ็บหนัก แจงต้นทุนค่าไฟเพิ่มขึ้นเท่าตัว ราคาห้องพักปรับเพิ่มไม่ได้ เสนอตรึงค่าไฟเป็นของขวัญปีใหม่ พร้อมแนวทางแก้ปัญหาสารพัด ธุรกิจดิ้นปรับเวลาทำงานลดใช้ไฟช่วงพีก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2565 คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ร่วมกับ สมาคมค้าปลีกไทย, สมาคมโรงแรมไทย รวมทั้งผู้ประกอบการใหญ่อย่าง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อกดดันรัฐบาลให้พิจารณาตรึงค่าไฟ

พร้อมทั้งชี้แจงถึงผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ จากการที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ปรับขึ้นค่าเอฟทีในส่วนของผู้ใช้ไฟฟ้าภาคธุรกิจ จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการวันที่ 1 ม.ค. 2566 ทำให้อัตราค่าไฟมาอยู่ที่ 5.69 บาท/หน่วย

โดยก่อนหน้านี้ ทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้เคลื่อนไหวโดยยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ทบทวนค่าไฟฟ้า และหาทางออกร่วมกัน แต่ยังไร้ข้อสรุป

เงินเฟ้อพุ่ง-จีดีพีร่วง

ล่าสุด นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) อยู่ระหว่างการรอนัดหมายเข้าพบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาทางออกในเรื่องค่าไฟ หลังจากยื่นหนังสือข้อเรียกร้องและขอเข้าพบไปเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา

โดยประเมินว่ากรณีที่รัฐบาลเตรียมปรับขึ้นค่าไฟฟ้า 20% มาอยู่ที่อัตรา 5.69 บาท/หน่วย ในรอบบิล ม.ค.-เม.ย. 2566 จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีสัดส่วนใช้ไฟฟ้ารวมกันมากถึง 70% ขณะที่ภาคครัวเรือนใช้ไฟ 30% จะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น กระทบเงินเฟ้อให้ปรับเพิ่มขึ้น 0.5%

ทำให้คาดการณ์เงินเฟ้อปีหน้า ปรับเพิ่มจาก 3% เป็น 3.5% ฉุดจีดีพีภาพรวมลดลง 0.3% การฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยจะหยุดชะงักเพราะภาคการผลิตมีสัดส่วนในจีดีพีมากถึง 27% ทั้งยังมีเรื่องอัตราดอกเบี้ยก็มีแนวโน้มเป็นทิศทางขาขึ้น ยิ่งจะซ้ำเติมผู้ประกอบการมากขึ้นไปอีก

ค่าไฟแพงกว่าเวียดนาม

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากผลกระทบที่รัฐบาลประกาศปรับอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการใช้ไฟสูงถึง 70% นั้น จำเป็นที่ต้องปรับราคาสินค้าขึ้น 5-12% และเพื่อไม่ให้กระทบกับทุกคน จึงขอให้รัฐทบทวนการขึ้นค่าไฟฟ้า

“ต่อให้รัฐขึ้นงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 ไปก่อน แล้วค่อยมาลดค่าไฟให้ในงวดถัดไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะจะไม่ได้แก้ปัญหาตามที่ ส.อ.ท.เสนอ เพราะแนวทางที่เสนอไปคือทางออกทั้งระยะสั้นและระยะยาว ที่เราห่วงที่สุดคือการตัดสินใจของนักลงทุน ที่จะเลือกไปลงทุนในประเทศคู่แข่ง ที่มีต้นทุนถูกกว่าไทยอย่างเวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งค่าไฟแค่ 2-4 บาทเท่านั้น”

ส.อ.ท.ยืนยัน 5 ข้อเรียกร้อง

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า กกร.ยังคงเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวน 5 เรื่องสำคัญ ตามที่เคยได้พยายามร้องขอมาโดยตลอด คือ ตรึงค่าไฟฟ้าทั้งปี 2566, ขยายเพดานหนี้ 2 ปี ให้ กฟผ., ปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า, ส่งเสริมและออกมาตรการการใช้พลังงานทางเลือกอื่นมากขึ้น เช่น โซลาร์เซลล์ และอีกส่วนหนึ่งก็ต้องให้โรงไฟฟ้าเอกชนมาร่วมจ่ายค่า AP ในช่วงนี้ด้วย

“1 ม.ค. 2566 นี้ถ้าค่าไฟขึ้น สิ่งที่จะเกิดทันทีคือ สต๊อกสินค้าที่มีอยู่ 1 เดือน จะปรับขึ้นราคาช่วงปลายเดือน ม.ค. สินค้าควบคุมราคาจากกระทรวงพาณิชย์ จะขยับไปอยู่ในระดับเพดานสูงสุด ไม่สามารถคุมราคาผู้ขายเหนือตลาดได้ และกำไรหายไปทันทีสำหรับธุรกิจ B2B เพราะมีการซื้อขายล่วงหน้าไปแล้ว 1 ปี”

เอสซีจีจ่อขึ้นราคา 20%

ขณะที่นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี (SCG) กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ปรับขึ้นราคาสินค้ามาแล้ว 20% และครั้งนี้อาจต้องขึ้นอีก 20% เนื่องจากได้รับผลกระทบมาตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งโควิด เงินเฟ้อ พลังงาน ต้นทุนทางการเงิน ค่าไฟ เมื่อประเทศมีความสามารถการแข่งขันลดลง ก็หมายถึงแข่งขันไม่ได้เลยในระยะสั้น ส่วนระยะยาวคือการย้ายฐานการผลิต

“เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว ถ้าเราไม่มีนโยบายที่ชัดเจน ความน่าสนใจก็จะน้อยลง จะเกิด 4 สิ่งตามมาคือ เงินเฟ้อสูง ความสามารถการแข่งขันลดลง การลงทุนจะเห็นการย้ายฐานไม่มาไทย และผลเสียมากกว่าผลดี ทั้งนี้ เราพยายามแบกรับต้นทุนให้ได้นานที่สุด เราไม่ได้ตำหนิใคร แต่เราผ่านโควิดมาด้วยกันเพราะคุยกัน โจทย์ข้างหน้ามีมากกว่านี้ อย่างสินค้าที่เป็นกรีน เราก็ต้องคุยกัน ถ้าไม่คุยกัน ก็ไม่มีประโยชน์ และแนวโน้มการย้ายฐานจะเกิดขึ้น”

ธุรกิจดิ้นปรับเวลาทำงาน

ด้านนายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า หากประเทศไทยไม่สามารถดึงความสามารถการแข่งขันกลับมาได้ ความน่าสนใจจะลดลง เมื่อเทียบกับเวียดนามและอินโดนีเซีย ที่ใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าซึ่งต้นทุนถูก ขณะที่ไทยใช้ก๊าซถึง 60% เมื่อต้นทุนแตกต่าง เกิดข้อได้เปรียบ เสียเปรียบ ดังนั้นผลกระทบจากการขึ้นค่าไฟจึงสูง

“ค่าไฟถูกควรไปอยู่ที่ภาคอุตสาหกรรม เพราะเมื่อมีการผลิต มีการจ้างงาน คนก็จะมีรายได้ มีเงินจับจ่ายใช้สอย ทฤษฎีเศรษฐกิจควรคู่ไปกับรัฐศาสตร์ ต้องดูตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ แต่ตอนนี้รัฐกลับไม่ขึ้นค่าไฟครัวเรือนซึ่งเป็นปลายน้ำ แต่ไปขึ้นต้นน้ำคืออุตสาหกรรม สุดท้ายอุตสาหกรรมก็ต้องขึ้นราคาสินค้าก็กระทบผู้บริโภคอยู่ดี อย่างไรก็ตาม อยากให้อดทนช่วง 4 เดือนนี้ (ม.ค.-เม.ย. 2566) ช่วยแบกรับแทนประชาชนไปก่อน จากนั้นค่อยมาปรับกันระยะยาว”

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ภาคครัวเรือนให้ปรับขึ้นเป็นขั้นบันได ตามการใช้งานตามต้นทุนพื้นฐานพลังงาน ส่วนภาคอุตสาหกรรมให้ช่วยกันปรับเวลาการทำงานสำหรับบางธุรกิจ เป็นวันอาทิตย์-ศุกร์ เพื่อสร้างการบาลานซ์การใช้ไฟช่วยพีก

ค้าปลีกอ่วมยื่น 2 ข้อเรียกร้อง

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ธุรกิจค้าปลีกมีอัตราการจ้างงานมากที่สุดในประเทศ 3 ปีที่ผ่านมาปิดกิจการไปมาก ปี 2565 เศรษฐกิจฟื้นตัว แต่เมื่อเจอ perfect strom ด้านต้นทุน โดยเฉพาะต้นทุนค่าไฟที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นถึง 8,000 ล้านบาท/ปี จากเดิมอยู่ที่ 3,000-4,000 ล้านบาท/ปีเท่านั้น

ดังนั้น ทางสมาคมจึงขอเรียกร้อง 3 เรื่อง คือ 1.ตรึงค่าไฟทั้งปี 2566 เพื่อให้เวลาธุรกิจได้ฟื้นตัว 2.ออกมาตรการสนับสนุนการลงทุน สำหรับอุปกรณ์อย่างแบตเตอรี่ โซลาร์เซลล์ เช่น ลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% หรือหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า และ 3.ขอเป็นของขวัญปีใหม่จากภาครัฐจากเรื่องที่ขอทั้งหมด ให้มีความยุติธรรมทั้งกับผู้ผลิต ผู้ใช้ ผู้บริโภค โดยไม่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

รร.ต้นทุนค่าไฟพุ่งเท่าตัว

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) กล่าวว่า ธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจที่ถือครองอสังหาริมทรัพย์มากกว่าธุรกิจท่องเที่ยวประเภทอื่น ค่าไฟฟ้าและค่าก๊าซธรรมชาติ ถือเป็นหนึ่งในต้นทุนสำคัญของภาคธุรกิจโรงแรม โดยก่อนการระบาดของโควิด-19 มีต้นทุนอยู่ที่ราว 5-6% แต่ปัจจุบันต้นทุนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 10-12% แล้ว ทำให้ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจโรงแรมลดลง

ประกอบกับธุรกิจโรงแรมในประเทศภูมิภาคอาเซียนกำลังแข่งขันอย่างรุนแรง เช่น เวียดนาม มีโรงแรมเกิดขึ้นใหม่นับร้อยแห่ง ซึ่งในอนาคตอาจตั้งราคาห้องพักถูกกว่าประเทศไทย ขณะที่โรงแรมหลายแห่งในไทยยังมีหนี้สินจำนวนมาก เมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้น ต้นทุนที่ผู้ประกอบการต้องรับภาระย่อมสูงขึ้นตามไปด้วย สวนทางกับช่วงเวลาที่เข้าสู่ภาวะฟื้นตัว

“อยากขอรัฐบาลว่า อย่าขึ้นค่าไฟเลย ถือว่าขอของขวัญปีใหม่ ตอนนี้ยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่จะขึ้นค่าไฟ คู่แข่งทั้งในและต่างประเทศมีจำนวนเยอะมาก จะขึ้นราคาห้องพักมากก็ไม่ได้ ธุรกิจโรงแรมไม่เหมือนสายการบินที่มีค่าธรรมเนียมน้ำมัน หรือ fuel surcharge แต่ราคาห้องพักโรงแรมรวมค่าบริการไปหมดทุกอย่างแล้ว” นางมาริสากล่าว

อย่างไรก็ตาม ภาคโรงแรมเองอาจต้องเริ่มพิจารณาการหาแหล่งพลังงานทดแทน เช่น พลังงานสะอาด ซึ่งภาครัฐควรเข้ามาสนับสนุนด้านเงินลงทุน รวมถึงสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านด้วย ทั้งนี้ ธุรกิจโรงแรมถือเป็นตัวเร่งสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เนื่องจากผูกโยงกับห่วงโซ่อุปทานจำนวนมาก ซึ่งมีการจ้างงานในโรงแรมที่ถูกกฎหมายราว 4-5 แสนคน

นักท่องเที่ยวกลับมาแค่ 25%

นางมาริสากล่าวด้วยว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรง แม้ว่าปัจจุบันจะเริ่มเห็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามามากขึ้น แต่หากเทียบจำนวนกับปี 2562 ก่อนโควิด-19 คิดเป็นสัดส่วนที่มีนักท่องเที่ยวกลับมาเพียง 25% เท่านั้น

ปัจจุบันธุรกิจโรงแรมไทยเริ่มฟื้นตัวจากนักท่องเที่ยวที่ออกเดินทางมากขึ้น แต่การฟื้นตัวยังกระจุกอยู่ในบางพื้นที่ และยังไม่เสถียรเท่าไรนัก ผู้ประกอบการโรงแรมหลายแห่งซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ยังคงปิดกิจการหรือประกาศขาย

นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่ธุรกิจท่องเที่ยวจะต้องเผชิญคือ ความไม่แน่นอนของสภาพเศรษฐกิจ เช่น ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งหากนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางได้รับผลกระทบ ก็จะส่งผลให้โรงแรมที่รับนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าว เช่น โรงแรมระดับ 3 ดาว ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

ดร.สาโรจน์ วสุวานิช ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปรับขึ้นค่าไฟเป็นเรื่องใหญ่ของภาคอุตสาหกรรมจะเดือดร้อนกันหมด ดังนั้น ทางสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกได้ผลักดันผ่านไปทาง ส.อ.ท. ให้ไปเจรจากับภาครัฐต้องคงราคาค่าไฟไว้ ไม่ใช่เพียงการชะลอ โดยทุกคนเห็นว่าการปรับขึ้นค่าไฟ เป็นการไม่ยุติธรรม

เพราะที่ผ่านมาการไฟฟ้านำเงินไปสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนที่ขายพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม มีระบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (adder) ให้ เสร็จแล้วนำเงินลงทุนตรงนี้มาบวกเป็นต้นทุน แล้วมาปรับค่าไฟกับภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด จะทำให้ทุกคนเดือดร้อนกันมาก ดังนั้น ภาครัฐต้องคงราคาค่าไฟไว้ ไม่ใช่เพียงการชะลอ

“ถ้าต้นทุนพลังงานสูงแบบนี้ บริษัทญี่ปุ่นที่จะมาลงทุนก็คิดหนัก ค่าไฟไทยเท่านี้ ค่าไฟเวียดนามถูกกว่าไทยมากกว่า 50% หากอนาคตมีการปรับค่าแรงเป็น 600 บาท ขณะที่เวียดนามค่าแรงแค่ 200 กว่าบาท นักลงทุนต่างชาติที่อยู่ในภาคตะวันออกเดิมจะย้ายฐานการผลิตไป ส่วนนักลงทุนต่างชาติที่จะมาลงทุนใหม่ คงคิดว่าไปลงทุนที่เวียดนามจะดีกว่าหรือไม่”