สวีท มีท เปิดแผนการตลาดปี’66 น้ำมันพืช “เพลิน” ตั้งเป้ารายได้กวาด 3,000 ล้าน

สวีท มีท รุกตลาดน้ำมันพืช

สวีท มีท รุกตลาดน้ำมันพืช “เพลิน” ปี 66 เจาะกลุ่ม บีทูบี สานสัมพันธ์ดิสทริบิวเตอร์เดิม เร่งเปิดเพิ่มดิสทริบิวเตอร์ใหม่ รวมถึงกลุ่มตัวแทน ร้านขายส่ง ยี่ปั๊ว ห้างสรรพสินค้าที่มีศักยภาพ ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมตั้งทีมขายพิเศษบุกกลุ่มโฮเรก้า โรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจจัดเลี้ยง หลังภาคธุรกิจท่องเที่ยวโรงแรมฟื้นดันธุรกิจต่อเนื่องฟื้นตาม คาดเป้ารายได้ ปี 66 กวาดรายได้ 3,000 ล้านบาท

วันที่ 4 มกราคม 2566 นายเอกภัท เตมียเวส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจ เตมียเวส กรุ๊ป และประธานกรรมการ บริษัท สวีท มีท (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตน้ำมันพืช “เพลิน” กล่าวถึงแผนการตลาดปี’66 ว่าปีนี้มีความพร้อมในการรุกตลาดอย่างเต็มตัวมากขึ้น หลังจาก 5 ปีที่ผ่านมามุ่งให้ความสำคัญต่อการพัฒนาโรงงาน กระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ โดยลงทุนในส่วนนี้ไปกว่า 100 ล้านบาท

“ในปีนี้มุ่งจะสร้างแบรนด์และการตลาดอย่างเต็มที่ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักจะเป็นกลุ่มบีทูบีก่อน โดยรักษาและสานสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มดิสทริบิวเตอร์ (Distributor) เดิม พร้อมจับมือกับดิสทริบิวเตอร์รายใหม่ ๆ รวมถึงตัวแทน ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าส่งหรือยี่ปั๊วที่มีศักยภาพ เพื่อช่วยในการกระจายสินค้าให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศมากขึ้น”

โดยจะมีการสนับสนุนทั้งด้านการขาย กิจกรรมการตลาดและโปรโมชั่น น้ำมันพืช เพลินให้เป็นที่รู้จักกับกลุ่มผู้บริโภคและสร้างให้เกิดการทดลองใช้มากขึ้น

นอกจากนั้นยังมีการจัดตั้งทีมขายเพื่อรุกตลาดกลุ่มโฮเรก้า (Horeca) ทั้งโรงแรม ร้านอาหารและธุรกิจจัดเลี้ยงขึ้นโดยเฉพาะ เนื่องจากตลาดกลุ่มนี้มีความต้องการน้ำมันคุณภาพและมีปริมาณการใช้น้ำมันเพื่อประกอบอาหารจำนวนมาก

“ปีนี้คาดว่าจะได้รับอานิสงค์จากการท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว จากแผนการตลาดและการขายที่วางไว้ทำให้คาดว่าสัดส่วนลูกค้าของน้ำมันพืช เพลินจะอยู่ที่ประมาณ 60% แบ่งเป็นกลุ่มบีทูบี (B2B) 40% และโฮเรก้า 20% และตลาดส่งออกต่างประเทศประมาณ 40% เมื่อรวมกันแล้วคาดว่าจะสร้างยอดขายได้สูงถึง 3,000 ล้านบาท ตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างแน่นอน”

นายเอกภัทกล่าวว่าทำให้วันนี้น้ำมันพืช เพลิน มีกำลังการผลิตสูงถึง 7,200,000 ขวดต่อเดือน สำหรับขวดไซส์ 1 ลิตร นับว่าเพียงพอต่อทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ส่วนความกังวลเรื่องความต้องการน้ำมันในการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น จนซัพพลายน้ำมันที่ใช้ในการผลิตจะไม่เพียงพอนั้น ขอให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหาการขาดช่วงการผลิตอย่างแน่นอน

เพราะเรามีการประเมินตลาดและจัดเตรียมน้ำมันสำรองไว้สำหรับการผลิตอย่างเพียงพอ โดยน้ำมันปาล์มและน้ำมันรำข้าวจะมาจากแหล่งผลิตภายในประเทศ ส่วนน้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันดอกทานตะวันจะนำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งทั้งหมดมีการทำสัญญาไว้ล่วงหน้าตลอดทั้งปีไว้หมดแล้ว

ด้านเชฟอำนาจ เชาวน์วันกลาง หัวหน้าแผนกครัวจีน โรงแรมสวิสโฮเต็ล กรุงเทพฯ รัชดาภิเษก หนึ่งในลูกค้ากลุ่มโฮเรก้าของน้ำมันพืชเพลินกล่าวถึงการเลือกน้ำมันพืชที่ดีสำหรับนำมาใช้ประกอบอาหารว่า ต้องมีลักษณะของน้ำมันที่มีความเหลืองใส ไม่มีฝุ่นผง ไม่มีไขมันจับตัวเป็นก้อน มีความสดใหม่ ซึ่งจะช่วยทำให้อาหารมีคุณภาพดีและรสชาติดี น้ำมันทุกตัวที่ทางโรงแรมเลือกใช้เป็นน้ำมันพืช เพลินโดยน้ำมันถั่วเหลืองมีไว้สำหรับทำอาหารประเภทผัด ส่วนน้ำมันปาล์มจะใช้ทำอาหารชนิดทอด และน้ำมันสกัดเย็นอย่างน้ำมันดอกทานตะวันจะใช้สำหรับทำสลัด

ทั้งนี้ งานด้านอาหารสำหรับธุรกิจโรงแรมนับว่ามีความสำคัญอย่างมากและในส่วนนี้ถือเป็นจุดแข็งสำคัญของโรงแรมสวิสโฮเต็ลเลยก็ว่าได้ แต่ละวันเราต้องเตรียมอาหารสำหรับรองรับแขกที่เข้ามาใช้บริการกว่า 1,000 คน เป็นอาหารหลักที่ให้บริการครบทั้งอาหารฝรั่ง ไทย จีน ญี่ปุ่น อินเดีย โดยให้บริการทั้งในส่วนของการจัดเลี้ยง อาหารสำหรับงานประชุมสัมมนาและแขกที่มาพักในโรงแรม ที่ตอนนี้เริ่มมีนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาพักมากขึ้นถึง 60-70% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ตลอดปี 2566