“สกนช.” เดินหน้ารักษาสภาพคล่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปี 2565 ติดลบ 1.2 แสนล้าน เตรียมกู้เงินเพิ่มหลังกู้ลอตแรก 3 หมื่นล้านบาทแล้ว กางแผนระยะสั้นเน้นตรึงดีเซลไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร ประเมินราคาน้ำมันโลกไม่ร้อนแรงเท่าปี 2565 รอลุ้นคลังเคาะขยายเวลาลดภาษีฯ
วันที่ 4 มกราคม 2566 นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่ายอมรับราคาน้ำมันยังคงผันผวนพอสมควร ซึ่งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบน.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เป็นประธาน มีการติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกอย่างใกล้ชิด
โดยเบื้องต้นกองทุนประเมินราคาน้ำมันดีเซลปี 2566 ไม่น่าจะไม่ร้อนแรงเท่ากับปี 2565 โดยคาดว่าเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 105 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่กรณีเลวร้ายคาดว่าจะอยู่ที่ 150 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากราคาเฉลี่ยปี 2565 อยู่ที่ 135.54 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
“ในระยะสั้นกองทุนจะยังคงบริหารดูแลราคาขายปลีกดีเซลไม่ให้เกิน 35 บาทต่อลิตร ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือไม่ ขึ้นอยู่กับนโยบายภาครัฐและราคาน้ำมันตลาดโลก ซึ่งที่ผ่านมาแม้ราคาดีเซลตลาดโลกจะลดลง แต่กองทุนยังไม่ลดราคาขายปลีกดีเซลในประเทศลง เพราะกองทุนยังติดลบและยังมีภาระหนี้สูงจากการตรึงราคาที่ผ่านมา ประกอบกับยังมีลดหย่อนภาษีสรรพสามิตดีเซล 5 บาทต่อลิตร ที่จะสิ้นสุดวันที่ 20 ม.ค. 2566 ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณากระทรวงการคลังว่าจะขยายเวลาลดหย่อนออกไปอีกหรือไม่”
ในส่วนของราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ที่ทยอยขึ้นแบบขั้นบันไดจาก 318 บาทต่อถัง 15 กก. มาตรึงอยู่ที่ 408 บาทต่อถัง 15 กก.ในปัจจุบันจะสิ้นสุดวันที่ 31 ม.ค. 2566 ต้องรอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณา
ทั้งนี้ จากการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงดังกล่าว ส่งผลให้ฐานะกองทุน ณ วันที่ 1 ม.ค. 2566 ติดลบสุทธิ 121,491 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีแอลพีจีติดลบ 44,300 ล้านบาท จากการอุดหนุนแอลพีจีปัจจุบันอยู่ที่ 6.12 บาทต่อกก. ส่วนน้ำมันติดลบ 77,191 ล้านบาท ขณะที่มีการจัดเก็บอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนในส่วนของดีเซลลิตรละ 3.72 บาท แก๊สโซฮอล์ 95,91 ลิตรละ 1.70 บาท E85 และ E20 ลิตรละ 0.010 บาท ทำให้ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาเริ่มมีเงินไหลเข้ากองทุนสะสมประมาณ 8,000 ล้านบาท
นายวิศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับความคืบหน้าการบริหารเงินกู้หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 มีผลใช้บังคับแล้วภายใต้กรอบวงเงินทั้งสิ้น 1.5 แสนล้านบาท กองทุนได้ลงนามสัญญากู้เงินรอบแรกกับธนาคารกรุงไทยและธนาคารออมสินแล้ว 30,000 ล้านบาท เพื่อทยอยนำไปชำระหนี้คู่ค้าน้ำมัน
ขณะที่กรอบวงเงินที่เหลืออีก 1.2 แสนล้านบาทนั้น วันที่ 9 ม.ค.นี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จะหารือนำกรอบวงเงินกู้ไปพิจารณาบริหารกรอบหนี้สาธารณะรวมของประเทศ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป พร้อมเร่งประสานให้พิจารณาทั้งหมดภายในปีนี้ตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ เพื่อที่จะทยอยกู้มาคืนเงินค้างชำระผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 โดยคาดว่าจะได้รับการอนุมัติกรอบเงินกู้ครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท