จับตา ค่าไฟฟ้าสีเขียว “UGT 2 อัตรา” ลงทุนพลังงานสะอาด

พลังงานสะอาด

ย้อนไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff) ในโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก

โดยมอบให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนดองค์ประกอบและโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว รวมถึงการจัดสรรต้นทุนการให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไปที่ครอบคลุมต้นทุนสาธารณะ และวิธีการและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ พิจารณากำกับดูแลภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 เพื่อให้โปร่งใสและเป็นธรรม

นิยามบริการไฟฟ้าสีเขียว

“นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) อธิบายว่า Utility Green Tariff หรือ UGT คือแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว ในโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก เป็นการทำพลังงานไฟฟ้าสีเขียวขนาดใหญ่ เพื่อตอบสนองการลงทุนพลังงานสะอาด และบริษัทต่างประเทศซึ่งจะสามารถกำหนดได้ว่าเป็นการใช้ไฟฟ้าสีเขียว เเละช่วยเหลือประเทศในการลด green house gas ตามมาตรการที่ไม่ใช่การกีดกันทางการค้า มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ปี 2030 เพื่อรักษาพลังงานอย่างมั่นคง สะดวก ไม่สะดุด

“หลาย ๆ โรงงานที่มีการใช้ไฟฟ้าเยอะ อาจจะไม่สะดวก หากติดตั้งโซลาร์เยอะ การใช้ 24 ชม.ไม่สามารถคอมไบน์ได้ตลอด โดย Utility Green Tariff จะมีภาครัฐจัดการให้ ซึ่งปัญหาที่ผ่านมาพบว่าหากเราจะใช้ไฟสีเขียวต้องสร้างเองนั้นใช้เวลา 2-3 ปีกว่าจะเสร็จ แต่โครงการนี้จะเลือกแล้วจะซื้อได้เลย โดยโครงการนี้จะอยู่ภายใต้การกำกับของ กกพ. แน่นอนว่าจะสะท้อนต้นทุน เเข่งขันได้ ทั้งที่ใช้ไฟสีเขียวและไม่ได้ใช้ไฟสีเขียวอย่างเป็นธรรม”

อัตราค่าบริการ 2 แบบ

สำหรับ UGT ที่ได้นำเสนอไปยัง กพช. นั้น มีมติเห็นชอบแนวทางในหลักการ 2 ส่วน คือ 1.อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่เดิมในระบบไฟฟ้า ซึ่งเป็นการนำใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) ของโรงไฟฟ้าเดิมที่รัฐมีกรรมสิทธิ์มาให้บริการร่วมกับการให้บริการพลังงานไฟฟ้า และเป็นการให้บริการในลักษณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ต้องเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้า และ REC ในการขอรับบริการ โดยมีอัตราค่าบริการส่วนเพิ่ม (premium) เพิ่มเติมจากอัตราค่าไฟฟ้าตามปกติที่ครอบคลุมต้นทุนค่า REC รวมถึงองค์ประกอบอื่น ๆ ตามที่ กกพ. จะกำหนดต่อไป

กราฟฟิก ค่าไฟสีเขียว

แต่ข้อเสียส่วนนี้ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการที่มีการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว ซึ่งหลายองค์กรอาจจะเห็นว่าไม่ช่วยลดเท่าไหร่ จึงได้มีข้อที่ 2 ให้สามารถแบ่งได้ตามความต้องการ คือ 2.อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ ที่เรารับซื้อประมาณ 5,000 เมกะวัตต์ที่ยังไม่ COD เป็นการให้บริการพลังงานไฟฟ้าและ REC ซึ่งมาจากแหล่งเดียวกัน

โดยผู้ใช้ไฟฟ้าต้องเจาะจงกลุ่มโรงไฟฟ้า (portfolio) ในการรับบริการ และอัตราค่าบริการกำหนดจากต้นทุนการให้บริการพลังงานไฟฟ้าและ REC ของแต่ละ portfolio รวมถึงองค์ประกอบอื่น ๆ ตามที่ กกพ. จะกำหนดต่อไป ส่วนนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติโดยรวม และได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากกว่า

ประโยชน์ UGT

กกพ.คาดการณ์ว่า ประโยชน์ที่จะได้รับนอกจากจะสามารถกำหนดอัตราเเล้วดำเนินการได้เลย ยังช่วยลดขั้นตอน ตัดปัญหาราคาค่าไฟฟ้า ผู้ใช้ไฟฟ้ามีทางเลือกในการปฏิบัติตามกติกาสากล

ส่วนไทม์ไลน์ของโครงการ UGT นี้ คาดว่าจะเเล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2566 จากนั้น กกพ.จะออกหลักเกณฑ์การกำหนดราคา ทั้ง 2 แบบ และให้การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง เสนออัตราที่เหมาะสม และให้สอดคล้องกับแผนพลังงานสะอาด ที่จะประกาศในเดือนมีนาคม 2566 แล้วเปิดรับฟังความคิดเห็น ไปจนถึงเดือนเมษายน 2566 โดยการไฟฟ้าจะประกาศแผนอัตราทั้ง 2 แบบ

อย่างไรก็ดี มั่นใจว่าโครงการนี้จะสามารถดึงดูดนักลงทุนใหม่ ๆ ที่ต้องการลงทุนพลังงานสีเขียวและเม็ดเงินเข้าประเทศได้อีกมาก